ดอลลาร์อ่อนค่า จับตาตัวเลข “เงินเฟ้อสหรัฐ” คืนนี้

ค่าเงินบาท-ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า จับตาประธานธนาคารกลางสหรัฐ แถลงข้อมูลเศรษฐกิจ-ตัวเลขเงินเฟ้อคืนนี้ ส่วนเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 29.90-93 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 29.91/92 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/2) ที่ระดับ 29.92/93 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (9/2) ที่ระดับ 29.93/94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลเงินหลัก โดยเป็นผลมาจากนักลงทุนลดการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งสอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐที่ยังปรับตัวขึ้นในช่วงนี้

ขณะที่ตลาดยังคงจับตาความคืบหน้าการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่สภาคองเกรสเห็นชอบการพิจารณาแบบ Fast Track แล้ว โดยมีการคาดว่าสภาคองเกรสจะสามารถลงมติอนุมัติได้ภายในวันที่ 15 มีนาคมนี้

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่ได้มีการเปิดเผยเมื่อคืนวานนี้ (9/2) สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่าตัวเลขการเปิดรับสมัครงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 6.65 ล้านตำแหน่งในเดือนธันวาคม จากระดับ 6.572 ล้านตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน

ในคืนนี้ (10/2) ตลาดรอฟังถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ แถลงต่อสมาคมเศรษฐกิจแห่งนิวยอร์ก และการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อของสหรัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดเศรษฐกิจที่สำคัญ

โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 29.90-93 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 29.91/92 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/2) ที่ระดับ 1.2109/13 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตาดเมื่อวันอังคาร (9/2) ที่ระดับ 1.210/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร สกุลเงินยูโรได้รับแรงหนุนจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่กลับมาอ่อนค่าลง

อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลต่อการแจกจ่ายวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ล่าช้าในสหภาพยุโรป โดยเมื่อเทียบกับสหรัฐและสหราชอาณาจักรแล้ว อัตราการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในสหภาพยุโรปยังต่ำกว่าอยู่ถึง 4 เท่า

นอกจากนี้สหภาพยุโรปยังไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติมในด้านการเจรจาจัดสรรงบกองทุนช่วยเหลือ (EU Recovery Fund) มูลค่า 750 ล้านยูโร ว่าจะให้กับโครงการใด ประเทศใดบ้าง

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจของยูโรโซน ที่ได้มีการเปิดเผยในวันนี้ (10/2) ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเยอรมนีประจำเดือนมกราคมเพิ่มขึ้น 0.8% สอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคมที่เพิ่ม 0.5%

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2107-1.2143 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2112/13 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/2) ที่ระดับ 04.65/70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (9/2) ที่ระดับ 104.64/65 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ในระหว่างวันค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นและตลาดหุ้นนิกเคอิ 225 ปิดพุ่งที่ระดับ 29,562.93 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 30 ปี

โดยตลาดได้รับข่าวดีจากที่วันนี้ (10/2) นายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ประกาศว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะเริ่มทำการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 104.40-71 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 104.65/66 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐ เดือนมกราคม (10/2), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐ (11/2), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของสหราชอาณาจักร ประจำไตรมาสที่ 4/2563 (12/2),

ผลิตผลภาคอุตสาหกรรมของสหราชอาณาจักร เดือนธันวาคม (12/2), ผลิตผลภาคอุตสาหกรรมของสหภาพยุโรป เดือนธันวาคม (12/2), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครัฐมิชิแกนสหรัฐเดือนกุมภาพันธ์ (12/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.25/0.35 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 2.25/3.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ