น็อนแบงก์ชิงตลาด “ลีสซิ่ง-จำนำทะเบียนรถ” ติดสปีดระดมทุนเสริมเขี้ยวเล็บ

Leasing-จยย.

น็อนแบงก์แห่ขยับขยายธุรกิจ “ลีสซิ่ง-จำนำทะเบียนรถ” คึกคัก ! “เงินติดล้อ” ยื่นไฟลิ่งเตรียมขาย IPO ราว 1 พันล้านหุ้น เดินหน้าเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นรองรับการขยายธุรกิจ ขณะที่ “เคทีซี” รับนโยบายแบงก์กรุงไทยจ่อเข้าถือหุ้นใหญ่ “เคทีบี ลีสซิ่ง” ลุยตลาดเช่าซื้อเต็มสูบ ด้าน “ศรีสวัสดิ์ฯ” ร่วมทุน “ออมสิน” เดินหน้าสินเชื่อ “จำนำทะเบียน” เจาะตลาดฐานราก เริ่ม 1 เม.ย.นี้

นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

เพื่อขออนุมัติการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ไม่เกิน 1,043,542,800 หุ้น โดยบริษัทมีแผนนำเงินที่จะได้จากการระดมทุนไปใช้สำหรับการขยายธุรกิจเพื่อสร้างโอกาสการเติบโตอย่างต่อเนื่องรวมทั้งเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานและปรับโครงสร้างเงินทุนในอนาคต เพื่อให้สามารถเดินหน้าสร้างโอกาสทางการเงินให้กับสังคมได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ทั้งนี้ ธุรกิจของเงินติดล้อ แบ่งเป็น 2 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันครบวงจร และธุรกิจนายหน้าประกันภัย โดยดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดเพื่อสร้างโอกาสทางการเงินที่เป็นธรรมและโปร่งใส

โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลักของธนาคารได้อย่างเพียงพอหรือทันที (underbanked) ด้วยทีมงานพนักงานที่มีประสบการณ์ด้านธุรกิจสินเชื่อมากกว่า 30 ปี

“เงินติดล้อเป็นผู้นำในตลาดธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันในประเทศไทย พร้อมทั้งเป็นผู้ริเริ่มสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการ อาทิ สินเชื่อมอเตอร์ไซค์ 10 นาที สินเชื่อรถเก๋งกระบะ อนุมัติไวภายใน 1 ชม. รับเงินสดทันทีที่สาขา โดยปี 2562 เงินติดล้อสามารถสร้างการเติบโตอย่างรวดเร็วในธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ด้วยการมีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ในประเทศไทย เมื่อคำนวณจากยอดสินเชื่อคงค้างในปี 2562”

ขณะที่นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เปิดเผยว่า ตามนโยบายของธนาคารกรุงไทยที่จะให้บริษัทเข้าถือหุ้นสัดส่วน 75.05% ในบริษัทกรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง (KTB LEASING) นั้น คาดว่าจะใช้เวลาอีกราว 3 เดือน หรือประมาณเดือน เม.ย.นี้

โดยจะมีการเสนอแผนธุรกิจเข้าที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติเข้าทำรายการซื้อหุ้นเคทีบี ลีสซิ่งดังกล่าว ซึ่งการเข้าไปถือหุ้นครั้งนี้เป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจที่จะสามารถต่อยอดธุรกิจจำนำทะเบียนรถของบริษัทได้ ขณะเดียวกัน ถือเป็นการเข้าไปในกลุ่มสินเชื่อที่มีหลักประกันได้มากขึ้น

“ปัจจุบันเคทีบี ลีสซิ่งยังเป็นผู้เล่นที่เล็กมาก ๆ ในตลาด ดังนั้น ถ้าจะแข่งขันได้คงต้องกำหนดจุดขายให้ชัดเจนก่อน ซึ่งเราเห็นดีมานด์และความเดือดร้อนของคนค่อนข้างมาก และจากการประเมินยอดขายรถเกือบ 1 ล้านคันต่อปี เริ่มเห็นคุณภาพเครดิตในช่วงที่ผ่านมาลดลงไปมาก จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่เราเริ่มคิดจะวิ่งหาสินเชื่อที่มีหลักประกันมากขึ้น เพราะผลตอบแทนยังดี”

นายระเฑียรกล่าวว่า การทำตลาดพิโกไฟแนนซ์พบว่ามีจุดอ่อน คือ ต้องขอใบอนุญาตทุกจังหวัด ซึ่งมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง และ economy of scale ไม่ได้เพราะโตเป็นระดับจังหวัด

ส่วนการทำตลาดนาโนไฟแนนซ์ก็แทบไม่ได้ขยับเพราะเดิมคิดอัตราดอกเบี้ย 36% ต่อปีก็ลำบากแล้ว แต่ปัจจุบันถูกคุมดอกเบี้ยเหลือ 33% ต่อปี ส่วนสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ “พี่เบิ้ม” แม้ว่าจะไปได้ค่อนข้างดี แต่เป้าหมาย 1,000 ล้านบาทยังท้าทายมาก

“ดังนั้น ธุรกิจลีสซิ่งและเช่าซื้อของเคทีบี ลีสซิ่ง จะเข้ามาช่วยเคทีซีได้มาก โดยปีนี้เรายังมั่นใจว่ากำไรของเคทีซีจะสูงกว่าปีที่แล้ว โดยตั้งเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเติบโต 8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งอาจไม่ได้สูงมาก” นายระเฑียรกล่าว

นายชุติเดช ชยุติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการเงิน KTC กล่าวว่าเคทีบี ลีสซิ่งดำเนินธุรกิจลีสซิ่งและเช่าซื้อมาตั้งแต่ปี 2548 ทำตลาดรถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ รถบัส รถใหญ่และเครื่องจักรขนาดใหญ่ แต่ในช่วงปี 2559 ได้หยุดขยายธุรกิจเพื่อเคลียร์ลูกหนี้จากพอร์ตสินเชื่อคงค้างที่มีอยู่ประมาณ 4,918 ล้านบาท แบ่งเป็นลูกหนี้ดี 627 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นลูกหนี้ innactive loans ราว 2,204 ล้านบาท และอยู่ในสถานะปรับโครงสร้างหนี้ (TDR loans)อีกกว่า 2,087 ล้านบาท

“เราอาจต้องเข้าไปตามทวงหนี้เก่าของเคทีบี ลีสซิ่งให้เรียบร้อย ขณะเดียวกัน ต้องเข้าไปคอนเน็กชั่นกับดีลเลอร์ และอาจต้องเซตอัพกระบวนการทำงานใหม่ ปรับคนทำงาน เพื่อเตรียมเข้ามาทำธุรกิจนี้ใหม่

โดยปัจจุบันสาขาเคทีบี ลีสซิ่งมีอยู่ 11 แห่งทั่วประเทศ มีพนักงานทั้งสิ้น 167 คน คาดว่าจะเริ่มต้นทำตลาดรถยนต์ก่อน ส่วนอื่น ๆ ค่อยขยับไปตามความพร้อมของบริษัทต่อไป”

ด้านแหล่งข่าวจากธนาคารออมสิน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การร่วมทุนระหว่างธนาคารออมสินกับบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือSAWAD ในบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด (FM) เพื่อทำธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถนั้นขณะนี้ทั้ง 2 ฝ่ายได้รับการอนุมัติจากผู้มีอำนาจเรียบร้อยหมดแล้ว อยู่ระหว่างเตรียมพร้อมให้บริการ คาดว่าจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้เป็นต้นไป