มองตลาดหุ้นโลกผ่านเลนส์นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (1)

ตลาดหุ้น-เงินบาท
คอลัมน์ ลงทุนทั่วโลก
ศุภกร พัฒนวศิน
บลจ.วรรณ

ในปี 2020 ที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้คร่าชีวิตผู้คนนับล้านทั่วโลก และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ตลาดหุ้นทั่วโลกที่ตกหนักในมีนาคม 2020 กลับฟื้นตัวอย่างรวดเร็วดังปาฏิหาริย์ และเริ่มทำจุดสูงสุดใหม่ในหลายตลาดทั่วโลก การฟื้นตัวเร็วกว่าวิกฤตครั้งไหน ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2008 ดัชนี S&P 500 ของตลาดหุ้นสหรัฐตกหนักจากวิกฤตเศรษฐกิจซับไพรม และใช้เวลาฟื้นตัวสู่จุดเดิมถึง 6 ปี แต่วิกฤตรอบนี้ดัชนี S&P 500 กลับใช้เวลาในการฟื้นตัวสู่จุดเดิมเพียง 126 วันเท่านั้น

โดยนอกจากผลของสภาพคล่องมหาศาลที่ผู้ดำเนินนโยบายทั่วโลกต่างอัดฉีดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดหุ้นฟื้นตัวอย่างรวดเร็วแล้ว การศึกษากระบวนการคิดของนักลงทุนก็ต่างน่าสนใจไม่แพ้กัน

ปัจจัยหลักที่ตลาดมีพฤติกรรมเคลื่อนไหวและฟื้นตัวรวดเร็วมาจากโครงสร้างผู้เล่นในตลาดหุ้นที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต เราสามารถจำแนกผู้เล่นในตลาดเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรก คือ มนุษย์ (human) หรือนักลงทุนที่ใช้กระบวนการคิดของสมองในการตัดสินใจซื้อขาย (discretionary trading)

และกลุ่มที่ 2 คือ เครื่องจักร (machine) เรียกได้ว่าเป็นการลงทุนที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎเกณฑ์ (rule-based) ซึ่งการซื้อขายถูกกำหนดโดยระบบอัตโนมัติ (systematic trading) โดยปราศจากการแทรกแซงของมนุษย์ หรือมีการแทรกแซงเพียงเล็กน้อย เช่น algorithmic trading ที่มีการใช้คอมพิวเตอร์ในการช่วยวิเคราะห์และประมวลผลกลยุทธ์การลงทุนอย่างเป็นระบบ

1) ผู้เล่นในตลาดที่เป็นมนุษย์และใช้กระบวนการคิดของสมองในการตัดสินใจซื้อขาย (discretionary trading)

พฤติกรรมการตัดสินใจของมนุษย์ส่งผลต่อราคาหุ้นและนำมาซึ่งการเคลื่อนไหวของตลาด จากการศึกษาของนักจิตวิทยาเกี่ยวกับระบบการทำงานของสมองเป็นเวลาหลายทศวรรษ และจากหนังสือจิตวิทยาระดับโลก thinking, fast and slow ของ Daniel Kahneman นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมรางวัลโนเบล พบว่า

กระบวนการคิดของสมองซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมการตัดสินใจของมนุษย์นั้น แบ่งออกเป็น 2 ระบบ ได้แก่ ระบบ 1 คือ ระบบความคิดอัตโนมัติ สมองจะทำงานทันทีอย่างรวดเร็วและเป็นไปตามสัญชาตญาณโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยความพยายามในการคิด

ในขณะที่ระบบ 2 คือ ระบบความคิดแบบไตร่ตรองที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ เป็นกระบวนการคิดที่ต้องมีการควบคุม ต้องใช้ความพยายาม และเกิดขึ้นเมื่อเรามีสติ เพื่อจัดการกับสถานการณ์ที่ซับซ้อน เช่น การใช้สมองในการแก้โจทย์คณิตศาสตร์ เป็นต้น

ทั้ง 2 ระบบต่างมีผลต่อพฤติกรรมของเราในการดำเนินชีวิต แต่ระบบ 1 กลับชี้นำพฤติกรรมและการตัดสินใจของเรามากกว่า เนื่องจากเกิดขึ้นโดยสัญชาตญาณ และเมื่อระบบ 1 โดดเด่นในเรื่องของการ “คิดเร็ว” ระบบ 1 จึงเป็นต้นตอของความผิดพลาดเชิงระบบ (systematic error) และอคติทางการรับรู้ (bias) มากกว่าระบบ 2 (ในขณะเดียวกัน ระบบ 1 ก็เป็นต้นเหตุของการตัดสินใจที่ถูกต้องมากกว่าเช่นกัน)

และในบางครั้งระบบ 1 มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของระบบ 2 นำมาสู่การตัดสินใจที่เต็มไปด้วยอคติและความผิดพลาด เนื่องจากระบบ 2 “คิดช้า” เกินไปจึงยอมรับความคิดที่ได้รับการแนะนำจากระบบ 1 โดยปราศจากการตรวจสอบ

เราได้แบ่งนักลงทุนเป็น 2 กลุ่ม คือ นักลงทุนรายย่อย (individual investors) และนักลงทุนมืออาชีพ (professional investors) ซึ่งการตัดสินใจในการลงทุนของทั้ง 2 กลุ่มก็ยังคงอยู่บนพื้นฐานของกระบวนการคิดทั้ง 2 ระบบ แต่ในส่วนกระบวนการคิดของนักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่จะเน้นระบบ 1 หรือการ “คิดเร็ว” มากกว่าระบบ 2 หรือมีการใช้ความคิดจากระบบ 2 ที่ถูกครอบงำโดยระบบ 1 ซึ่งเต็มไปด้วยอคติ โดยหากนักลงทุนมีการใช้สัญชาตญาณ (intuition) หรือระบบ 1 เพื่อสร้างสมมุติฐานการลงทุนที่เหมาะสม

รวมถึงควบคุมวิจารณญาณในการลงทุนได้ จะส่งผลดีต่อการลงทุน ในทางกลับกันการตัดสินใจลงทุนของมนุษย์ยังเต็มไปด้วยความมั่นใจเกินตัวและอคติทางความคิด (cognitive bias) ซึ่งเกิดจากการควบคุมระบบ 1 ไม่ถูกต้อง อันเป็นปัญหาของนักลงทุนที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน เนื่องจากโลกการลงทุนได้ถูกขับเคลื่อนโดยข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย นักลงทุนสามารถรับรู้ข้อมูลจำนวนมากเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็วและด้วยข้อมูลที่เข้ามาอย่างรวดเร็วและปริมาณมหาศาลอาจส่งผลให้นักลงทุนไม่สามารถต้านทานการใช้ฮิวริสติก (heuristics)

หรือการใช้ทางลัดทางความคิด (ความคิดแรกที่โผล่ขึ้นมาในสมอง โดยอาศัยประสบการณ์และกระบวนการ “คิดเร็ว” ของระบบ 1 เพื่อลดความซับซ้อนของข้อมูลในการตัดสินใจ และนำมาซึ่งการตัดสินใจในทางเลือกที่เต็มไปด้วยอคติ เช่น อคติจากการรับรู้ (confirmation bias) โดยมีความมั่นใจในความคิดของตน และเลือกรับสารที่ตรงกับความคิดของตัวเองเท่านั้น ทำให้เกิดความมั่นใจมากเกินไปในการลงทุนและส่งผลให้เกิดการขาดทุนกรณีเป็นทางเลือกที่ผิด

อีกกรณีหนึ่ง คือ มีการใช้อคติในการลงทุน เราต่างพบว่านักลงทุนส่วนใหญ่มักจะขายหุ้นที่ได้กำไรดี และถือหุ้นที่ขาดทุนไว้ ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วหุ้นที่นักลงทุนขายแล้วยังคงขึ้นต่อไป ในขณะที่หุ้นที่ทนถือไว้กลับมีผลตอบแทนที่แย่กว่า

สถานการณ์ดังกล่าวสามารถอธิบายได้ด้วยปรากฏการณ์ disposition effect หมายความว่านักลงทุนจะเลือกขายหุ้นที่ได้กำไรเนื่องจากรู้สึกดีจากที่ตนคิดว่าประสบความสำเร็จในการลงทุน และไม่กล้าขายหุ้นที่ขาดทุนเนื่องจากรู้สึกแย่ และรู้สึกว่าเป็นการสูญเสีย จึงเลือกที่จะอดทนถือหุ้นต่อ ซึ่งตรงกับทฤษฎีความคาดหวัง (prospect theory) ที่ว่ามนุษย์จะมีพฤติกรรมกลัวความสูญเสีย (loss aversion) เนื่องจากนักลงทุนมีการตอบสนองของอารมณ์ต่อการได้กำไรและขาดทุนหุ้นที่ไม่เท่ากัน โดยระบบ 1 จะตอบสนองต่อผลของการขาดทุนรุนแรงกว่าการได้กำไร