เปิดตัว CEO คนแรก นำทัพ “BAM” เล็งตั้ง “โฮลดิ้ง” ปลดล็อกข้อจำกัดขยายธุรกิจ

บัณฑิต : ซีอีโอ BAM

ช่วงที่ผ่านมาบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM ที่มีอดีตเป็นรัฐวิสาหกิจ ภายใต้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เข้าสู่โหมด “ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่”

 

เพื่อรับมือกับการแข่งขันในอนาคต หลังจากที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาได้กว่า 1 ปี โดยส่วนหนึ่งได้ปรับโครงสร้างองค์กรมาใช้การบริหารแบบมี “ซีอีโอ” หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

จากเดิมที่มีเพียงกรรมการผู้จัดการ ซึ่งซีอีโอคนแรก ได้แก่ “บัณฑิต อนันตมงคล” ที่เดิมนั่งเป็นกรรมการบริษัทอยู่นั่นเอง และล่าสุดได้มีการแถลงกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจปี 2564 และเป้าหมายในระยะข้างหน้า

“ซีอีโอคนแรก” กางแผนปี’64

โดย “บัณฑิต” บอกว่า การเข้ารับตำแหน่งซีอีโอครั้งนี้ถือเป็นความท้าทายในการบริหารงานภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 โดยมีเป้าหมายให้ BAM คงความเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ

ซึ่งเป้าหมายในปี2564 นี้บริษัทตั้งงบฯสำหรับรับซื้อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และสินทรัพย์รอการขาย (NPA) เข้ามาบริหารไม่ต่ำกว่า 9,000 ล้านบาทไม่สูงมากเนื่องจากประเมินว่าสถาบันการเงินยังชะลอการขายทรัพย์ออกมาในตลาด เพื่อรอความชัดเจนของโครงการโกดังเก็บหนี้ (Asset Warehousing) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

“แม้ว่าจะมีสถานการณ์โควิด-19 แต่ผลงานในปี 2563 เราทำได้ค่อนข้างดี โดยมีผลเรียกเก็บเงินสดจำนวน 13,134 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการบริหาร NPL จำนวน 8,396 ล้านบาท และรายได้จากการบริหาร NPA จำนวน 4,738 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,840 ล้านบาท” บัณฑิตกล่าว

ควัก 1.6 พันล้านจ่ายปันผล

จากผลดำเนินงานบริษัทเตรียมจ่ายปันผลปี 2563 สูงถึง 90% ของกำไรสุทธิในอัตราหน่วยละ 0.5125 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1.6 พันล้านบาท โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 25 พ.ค. 2564 พร้อมขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 7 พ.ค. 2564 นี้

“บัณฑิต” กล่าวอีกว่า ปัจจุบันพอร์ต NPL ในความดูแลของ BAM มีลูกค้าทั้งสิ้น85,102 ราย คิดเป็นภาระหนี้รวม 484,881 ล้านบาท ขณะที่ NPA มีด้วยกันจำนวน 21,574 รายการ คิดเป็นราคาประเมินมูลค่า 62,571 ล้านบาท

“ในแต่ละปีเราจะซื้อหนี้มาบริหารประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยมูลหนี้ของหลักทรัพย์จะอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งในช่วงโควิด-19 ยอมรับว่าทรัพย์บางประเภทโดนกระทบ เช่น ที่ดิน โรงแรม เป็นต้น เวลาขายจะไม่ได้ราคา ซึ่งเราเองก็มีทรัพย์ประเภทนี้ค่อนข้างมาก ดังนั้นหลังจากนี้เราจะเน้นซื้อ NPL และ NPA ในเซ็กเตอร์ที่พาให้ BAM เติบโตยั่งยืน” นายบัณฑิตกล่าว

ตั้งโฮลดิ้งปลดล็อกข้อจำกัด

สำหรับการปรับธุรกิจของ BAM นั้นปัจจุบันยังไม่จบ โดย “บัณฑิต” กล่าวว่าตอนนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาการจัดตั้งกลุ่มบริษัท โฮลดิ้ง คอมพานี (Holding Company) เพื่อต่อยอดธุรกิจและสร้างผลตอบแทนให้บริษัทสามารถเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทติดข้อจำกัดในเรื่องกฎหมายการทำธุรกิจภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 หรือ พ.ร.ก.เอเอ็มซี

โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา (FA) ศึกษาเรื่องการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการศึกษา 8 เดือน และหลังจากนั้นจะเสนอแผนการศึกษาต่อคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) และเสนอผู้ถือหุ้นในลำดับถัดไป ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าธุรกิจที่จะอยู่ภายใต้โฮลดิ้งใหม่นี้จะประกอบด้วย

ธุรกิจประเมินหนี้ ธุรกิจการขายสินทรัพย์รอการขาย (NPA) และธุรกิจบริหารสินทรัพย์ที่ไม่มีหลักประกัน (คลีนโลน) เป็นหลัก หลังจากนั้น จึงศึกษาว่าจะแยกธุรกิจส่วนใดออกไป (spin off) ได้อีก เช่น ในแต่ละปี BAM มีการขายหนี้ที่ไม่มีหลักประกันไปให้คู่แข่งซึ่งหากในอนาคตบริษัทสามารถทำได้เองก็จะทำให้ BAM วิ่งเร็วกว่าคู่แข่งได้ เนื่องจากระบบที่บริษัทมีความพร้อมมากและมีกำลังคนที่มาก

“ตอนนี้เราจ้างที่ปรึกษาศึกษาจัดตั้งโฮลดิ้ง อยู่ระหว่างศึกษาโครงสร้างบุคลากรด้วย เพราะเราจะทำต้องให้บุคลากรมีความสุข จึงต้องศึกษาโครงสร้างการจ่ายผลตอบแทน โดยคาดว่าภายในเดือน ต.ค.นี้จะศึกษาเรื่องของ human resource แล้วเสร็จ รวมถึงศึกษาผลดีผลเสีย รวมถึงธุรกิจจะโตอย่างไร คนพอหรือไม่ เราก็พยายามทำให้เสร็จ เพราะถ้าเราอยู่ใต้ พ.ร.ก.เอเอ็มซี เราจะทำอะไรไม่ได้เลย” บัณฑิตกล่าว

กางเป้า 5 ปี รายได้โตต่อเนื่อง

“บัณฑิต” กล่าวอีกว่า ปัจจุบันกำลังซื้อทรัพย์ NPA ไม่ได้ปรับลดลง ดังนั้น หากทรัพย์ที่ถือครองอยู่ได้ราคาเหมาะสมบริษัทก็พร้อมจะขายออกทันที อย่างล่าสุดเพิ่งมีการขายสนามกอล์ฟแปลงใหญ่ ย่านหนองจอก กรุงเทพฯ ไปมูลค่า 900 ล้านบาท สะท้อนว่ากำลังซื้อยังคงมีอยู่ เช่นเดียวกับแนวโน้มหนี้ NPL บริษัทยังคงรับซื้อต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างทำดีลโครงการใหญ่มูลค่า 4,000-5,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจากับสถาบันเจ้าหนี้

ทั้งนี้ จากแนวโน้มเหล่านี้ บริษัทตั้งเป้าหมายระยะยาวใน 5 ปี บริษัทต้องการมีอัตราการเติบโตทางด้านรายได้อย่างต่อเนื่อง โดยภายในปี 2568 ตั้งเป้าผลเรียกเก็บจากการดำเนินงานอยู่ที่ 24,036 ล้านบาท และในแต่ละปีตั้งเป้าเรียกเก็บเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เริ่มจากในปี 2564 ตั้งเป้าอยู่ที่ 17,453 ล้านบาท ปี 2565 ตั้งเป้า 18,953 ล้านบาท ปี 2566 ตั้งเป้า 20,510 ล้านบาท ปี 2567 ตั้งเป้า22,199 ล้านบาท

“การบริหาร NPL เราจะใช้กลยุทธ์ลดระยะเวลาในการบริหารจัดการ โดยมุ่งเน้นการสร้างผลเรียกเก็บระยะสั้น เพราะหัวใจสำคัญคือ turn around time เพราะก่อนหน้านี้เราใช้เวลา กว่าจะถึงจุดคุ้มทุนใช้เวลา 7 ปีก่อนจะกำไร

แต่เราต้องการให้เหลือเพียง 4-5 ปี เช่นเดียวกับ NPA เน้นจำหน่ายทรัพย์ให้ได้โดยเร็วเพื่อลดระยะเวลาการถือครอง เพราะทรัพย์บางอย่างมีภาระและเป็นพาหะที่เราต้องจัดการ หากเป็นทรัพย์ไม่มีศักยภาพ เรายอมขายขาดทุนก็ยอม” ซีอีโอคนแรกของ BAM กล่าว

หลังจากนี้ คงได้เห็น BAM คงขยับปรับสิ่งต่าง ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อรับมือโลกเบื้องหน้าที่เต็มไปด้วยความท้าทาย