ธุรกิจประกันชีวิตต้องเร่งปรับตัว สถานการณ์บีบเลิกขายสินค้าออมทรัพย์

การลงทุน ก.ล.ต.
แฟ้มภาพ

ธุรกิจประกันชีวิตไทยถึงเวลาต้องปรับตัว “เอไอเอ” ชี้ไร้เบี้ยก้อนใหญ่ จาก “ประกันออมทรัพย์” หลังต้องเผชิญภาวะดอกเบี้ยต่ำยาวนาน คาดยื้อเวลาขายสินค้า “ออมทรัพย์-การันตีผลตอบแทน” ได้อีกไม่เกิน 2 ปี ฟากนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยชี้มาตรฐานบัญชีใหม่ยิ่งเพิ่มแรงกดดัน ด้านข้อมูล “คปภ.” สิ้นปี’63 ภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตกำไรหดตัว 28.2%

นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอ ประเทศไทย (AIA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันเรียกได้ว่าหมดยุคทองธุรกิจประกันชีวิตแล้ว เพราะขายเบี้ยก้อนใหญ่ผ่านสินค้าประกันออมทรัพย์ (endowment) ไม่ได้เหมือนเดิมแล้ว เนื่องจากภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน แม้ว่าบางบริษัทยังขายอยู่ แต่คาดว่าคงขายได้ไม่เกินอีก 1-2 ปี โดยช่วงนี้อาจจะขายแบบจำใจ เพราะไม่รู้ว่าจะเดินหน้าธุรกิจไปต่ออย่างไร เพราะการขอใบอนุญาตแนะนำการลงทุน (IC license) มีเงื่อนไข ขณะที่การจะให้ตัวแทนขายปรับตัวไปขายสินค้าที่มีความซับซ้อน ก็ยากที่จะปรับในทันที

“วันนี้ ซีอีโอบริษัทประกันชีวิตคงไม่มีใครอยากขายสินค้าออมทรัพย์แล้ว เพราะยิ่งขายยิ่งขาดทุน โอกาสที่จะการันตีดอกเบี้ย 3% ไม่มีใครกล้าพูด กล้าทำ เพราะโลกปัจจุบันถูกดิสรัปต์รวดเร็วมาก และบางครั้งเหตุและผลของตลาดทุนก็ไม่ค่อยมี เช่น เมื่อ 2-3 เดือนก่อน ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นแรง ราคาบิตคอยน์ทะลุทำนิวไฮ ทุกคนงงว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เมื่อดูปัจจัยพื้นฐานไม่มีอะไรเปลี่ยน ราคาหุ้นแพงเกินไป ดังนั้น การยืนยันว่า อะไรจะใช่ ในอีก 10 ปีข้างหน้า มันใช้ไม่ได้อีกแล้ว”

ทั้งนี้ ปัจจุบันต้องขึ้นกับว่าบริษัทประกันชีวิตจะปรับตัวทำตลาดอย่างไร ซึ่งอาจจะปรับสู่รูปแบบชนิดมีเงินปันผล (participating) แต่ปัญหาคือลูกค้าอาจจะไม่สามารถเข้าใจที่มาที่ไปของการได้รับส่วนเกินได้ง่ายนัก

ขณะที่บริษัทประกันส่วนใหญ่ต้องมองหาช่องทางการลงทุนที่รับความเสี่ยง (take risk) เพิ่มขึ้น เพราะถ้าไม่ทำก็จะไม่สามารถที่จะแมตชิ่งผลตอบแทนได้ 100% ดังนั้น บริษัทประกันสัญชาติไทยที่ไม่เคยลงทุนในตลาดหุ้นหรือลงน้อย ก็ต้องเพิ่มในส่วนนี้

“ส่วนบริษัทประกันที่ลงทุนในตลาดทุนมานานอย่างเอไอเอ ถามว่าต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ลงทุนหรือไม่ คำตอบคือเปลี่ยนเหมือนกัน จากเดิมที่ถือพันธบัตรรัฐบาล หรือลงทุนในตลาดตราสารหนี้อยู่มาก ต้องมาคิดว่า ถ้าต้องเพิ่มประสิทธิภาพ (optimize) ผลตอบแทน (ยีลด์) จะต้องไปในทิศทางไหน ซึ่งปัจจุบันก็มองอยู่หลายโจทย์ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่สอดคล้องเกี่ยวกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (property) หรือธุรกิจใหม่ ๆ ที่อาจจะเป็นธุรกิจที่เชื่อว่าในระยะยาวน่าจะให้ผลตอบแทนดี ดังนั้น แนวทางการลงทุนของบริษัทหลังจากนี้จะเปลี่ยนไปแน่นอน” นายกฤษณ์กล่าว

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทประกันชีวิตในไทย แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.บริษัทข้ามชาติ ซึ่งจะมีทั้งที่เข้มแข็งมากและน้อย 2.เป็นบริษัทลูกของแบงก์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งพึ่งพาช่องทางขายประกันผ่านธนาคาร (แบงก์แอสชัวรันซ์) เป็นหลัก และ 3.บริษัทท้องถิ่น

นายกฤษณ์กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทประกันลูกแบงก์เติบโตเร็วและขึ้นมายืนอยู่ในแถวหน้าของธุรกิจประกันชีวิต ผ่านการเติบโตของช่องทางแบงก์แอสชัวรันซ์ แต่ยุคนี้ยิ่งประกันออมทรัพย์เริ่มเป็นพิษกับบริษัทเหล่านั้น โอกาสจะยืนต่อไปค่อนข้างยาก ด้วยสาขาแบงก์ที่ลดลง คนไม่ไปสาขาแบงก์

ดังนั้นการทำงานต้องเปลี่ยนรูปแบบ ซึ่งเชื่อว่าบริษัทเหล่านั้นจะต้องเปลี่ยนโจทย์ในการทำการตลาด ถ้าไม่เจอหน้า (face to face) สัดส่วนของขนาดเบี้ยก็จะเล็กลงอย่างมาก

ขณะที่บริษัทท้องถิ่นอาจจะเหนื่อยมากกว่า เพราะไม่มีแบงก์ช่วยขาย แต่ส่วนใหญ่บริษัทในกลุ่มนี้เป็นบริษัทที่ได้รับอานิสงส์จากการขยายขอบเขตของใบอนุญาต เมื่อช่วงก่อนปี 2500 ซึ่งมักเป็นของกลุ่มเจ้าสัวในไทย เป็นธุรกิจครอบครัว ใช้เงินของตระกูลและกงสี จึงอาจยังไม่มั่นใจว่าถ้าลงทุนมหาศาลผลตอบแทนจะได้มาอย่างที่คิดไว้หรือไม่

ส่วนบริษัทประกันข้ามชาติ คู่แข่ง ที่มีความเข้มแข็งเทียบเท่าเอไอเอ แต่ขายผ่านช่องทางแบงก์เป็นหลัก เนื่องจากคงจะปรับมาบุกตลาดตัวแทนไม่ได้ง่าย เพราะตัวแทนขายไม่ได้สร้างกันแค่ภายใน 10 ปี แต่ยาวนานกว่านั้น อย่างไรก็ดี โจทย์ของทุกบริษัท คือ จะต้องไปทางดิจิทัลเหมือนกัน

นายพิเชฐ เจียรมณีทวีสิน นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทยกล่าวว่า สินค้าประกันสะสมทรัพย์น่าจะค่อย ๆ หายไปในอีก 1-2 ปีข้างหน้า เพราะมาตรฐานทางบัญชีใหม่ (IFRS17) ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2567 หรืออีกประมาณ 2-3 ปีข้างหน้า จะกดดันเบี้ยประกันสะสมทรัพย์ หรือสินค้าการันตีผลตอบแทนให้ไม่สามารถรับรู้เบี้ยประกันเป็นรายได้เต็มก้อน โดยจะรับรู้ได้แค่ค่าธรรมเนียมเหมือนธุรกิจแบงก์เท่านั้น ซึ่งจะไม่ต่างไปจากสินค้าประกันชีวิตควบการลงทุน (ยูนิตลิงก์) ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่แกว่งขึ้นลงตลอดเวลาและอยู่ในระดับต่ำ จะไม่ดึงดูดผู้ถือกรมธรรม์อีกต่อไป โดยเฉพาะประกันสะสมทรัพย์ในระยะยาว

“กำไรของธุรกิจประกันชีวิตจะต่ำเพราะไม่มีการวัดผลกำไรจากเบี้ยประกันอีกต่อไปว่าเติบโตเท่าไร แต่จะวัดกันที่ความยั่งยืนของธุรกิจแต่ละบริษัท โดยเน้นการขายสินค้าตามความจำเป็นของลูกค้า โดยเฉพาะการขายความคุ้มครองชีวิตเป็นพื้นฐานหลัก” นายพิเชฐกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) รายงานผลดำเนินงานธุรกิจประกันชีวิต ปี 2563 พบว่า ประกันออมทรัพย์มีเบี้ยรับรวมอยู่ที่ 287,870 ล้านบาท ลดลง 4.6% เมื่อเทียบปีก่อน

โดยบริษัทประกันชีวิตทั้งระบบมีกำไรสุทธิรวม 35,633 ล้านบาท หดตัว 28.2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งกำไรจากการรับประกันภัย 46,641 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.4% แต่รายได้รวมจากการลงทุนสุทธิลดลง 3.15% มาอยู่ที่ 122,890 ล้านบาท ขณะที่สินทรัพย์ลงทุนรวมเพิ่มขึ้นเป็น 4.33 ล้านล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 4.16 ล้านล้านบาท