ออมสินแตะเบรกปล่อยกู้ใหม่ ภารกิจด่วนอุ้มลูกหนี้ 2 แสนรายสกัด NPL

แบงก์ออมสินชูนโยบายปี’64 ชะลอปล่อยกู้ใหม่ โฟกัสปรับโครงสร้างหนี้-เร่งสกัดเอ็นพีแอลพุ่ง ประคองลูกค้า 2.5 แสนราย มูลหนี้กว่า 8 หมื่นล้านบาท พร้อมเตรียมเจียดกำไรตั้งสำรองเพิ่มอีก 1-2 หมื่นล้านบาทสร้างความแข็งแรงให้แบงก์

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานของออมสินในปี 2564 จะเน้นช่วยดูแลลูกค้าและทำให้แบงก์แข็งแรง โดยในช่วงครึ่งปีแรกธนาคารจะเน้น 3 เรื่อง ได้แก่ 1) เรื่องที่เคยทำได้แล้ว คือ การใส่สินเชื่อเข้าไปเหมือนเดิม โดยในช่วงเดือน ม.ค. 64 ออมสินได้ใส่สินเชื่อเสริมพลังฐานรากกู้สูงสุด 50,000 บาท เข้าไปดูแลลูกค้าได้ 140,000 ราย

2) ในเดือน ก.พ. 64 ได้ใส่สินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวผ่านสินเชื่อที่มีเงินอีก 10,000 ล้านบาท

และ 3) จากนี้ไปจนจบครึ่งปีแรก จะเข้าไปดูแลลูกค้ายังไม่ให้เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) และจะมีการสำรองหนี้เพิ่มในปีนี้ประมาณ 10,000-20,000 ล้านบาท เพื่อความแข็งแรงของธนาคาร และสร้างความสมดุลในผลกำไรระยะสั้นและระยะยาว

ปีนี้ไม่เน้นปล่อยสินเชื่อ เน้นช่วยลูกค้าเพื่อไม่ให้เป็น NPL

“ปีที่ผ่านมาสินเชื่อปล่อยใหม่เป็นโครงการพิเศษ ซึ่งเราปล่อยไปได้กว่า 1.5 แสนล้านบาท ส่วนปีนี้เราจะไม่เน้นปล่อยสินเชื่อ แต่จะเป็นการเน้นช่วยลูกค้าเพื่อไม่ให้ไหลเป็น NPL และในช่วงเดือน เม.ย.จะลุยธุรกิจจำนำทะเบียนรถ เพื่อให้เกิดผลเรื่องการลดดอกเบี้ยเชิงโครงสร้างในตลาด

และระยะต่อไปตั้งแต่ มิ.ย.เป็นต้นไปจะทำเรื่องสร้างอาชีพ ซึ่งจะมีโครงการเข้ามาดูแลประมาณ 4 โครงการ เพื่อสร้างอาชีพให้กับแรงงานที่ออกจากระบบกลับไปต่างจังหวัดแล้วไม่มีอาชีพ”

ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมาออมสินมีมาตรการพักหนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากโควิด-19 ให้ลูกค้าราว 2.5 ล้านบัญชี คิดเป็นสินเชื่อกว่า 1.065 ล้านล้านบาท ซึ่งเมื่อสิ้นสุดมาตรการพักหนี้แล้ว ลูกหนี้ส่วนใหญ่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ

แต่ก็ยังมีลูกหนี้ราว 2.5 แสนรายที่ไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามงวดเดิม ราว 80,000 ล้านบาท เป็นกลุ่มลูกค้ารายย่อย ข้าราชการ และประชาชนทั่วไป แบงก์จึงได้มีมาตรการปรับแผนชำระหนี้ พักเงินต้น ลดดอกเบี้ย เพื่อช่วยเหลือลูกค้าไม่ให้กลายเป็น NPLs

ออกมาตรการ “พักชำระเงินต้น ส่งดอกเบี้ยตามกำลัง”

นายวิทัยกล่าวว่า ล่าสุดธนาคารเพิ่งออกมาตรการ “พักชำระเงินต้น ส่งดอกเบี้ยตามกำลัง” เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้เดือดร้อนผ่อนไม่ไหวก่อนกลายเป็น NPLs ให้สิทธิเฉพาะสินเชื่อเคหะ สินเชื่อไทรทอง สินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อครูและบุคลากรทางการศึกษา สินเชื่อสวัสดิการ และสินเชื่อธนาคารประชาชน โดยลูกหนี้ที่เริ่มประสบปัญหาค้างชำระและจำเป็นต้องแก้ไขหนี้ก่อนเสียประวัติกลายเป็น NPLs สามารถเลือกเข้ามาตรการช่วยเหลือได้ตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2564

โดยมาตรการดังกล่าวเป็นการปรับแผนการชำระหนี้ตามความสามารถในการจ่ายของลูกค้า มีทั้งการพักชำระเงินต้น จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยเต็มจำนวน ส่วนกรณีที่ธนาคารพิจารณาแล้วว่าลูกค้าจ่ายไม่ไหวก็จะให้พักชำระเงินต้น และเลือกจ่ายดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนด ทั้งนี้ ออมสินจะลดดอกเบี้ยให้ลูกค้าตั้งแต่ 25%, 50% และ 75% โดยไม่มีการบันทึกรายได้แล้วมาตามเก็บลูกค้าอีก

“เราออกมาตรการนี้มาเพื่อช่วยเหลือลูกค้าไม่ให้เป็น NPLs เพราะถ้าเขาเป็นหนี้เสียแล้วจะติดอยู่ในประวัติเครดิตนานถึง 3 ปี จะไม่สามารถกู้แบงก์ได้อีกหลายปี และจะขอสินเชื่อใหม่ลำบาก ดังนั้น จึงต้องช่วยลูกค้ากลุ่มนี้ซึ่งเราก็จะได้ประโยชน์ด้วย เพราะถ้าไม่ช่วยเขาคลื่นลูกนี้จะใหญ่

ซึ่งคาดว่าพอเข้าไปดูแลแล้วอาจจะเหลือลูกค้าที่เป็นหนี้เสียราว 20,000 ล้านบาท แบงก์ก็ตั้งสำรองทั่วไป (general provision) ก็เพียงพอ ทั้งนี้ ยอมรับว่าอาจจะทำให้แบงก์ออมสินมีกำไรน้อยลงแน่นอน แต่ก็เป็นไปตามเป้าหมายที่ธนาคารต้องการจะช่วยคนและทำให้แบงก์แข็งแกร่ง”

นายวิทัยกล่าวอีกว่า ปีนี้คาดว่า NPLs ของแบงก์จะเพิ่มขึ้นราว 1-2% แต่โดยรวมแล้วยังไม่เกิน 4% โดยคาดว่าต้องตั้งสำรองเพิ่มอีก 10,000-20,000 ล้านบาท หลังจากปี 2563 ธนาคารได้ตั้งสำรองเพิ่ม 12,400 ล้านบาท จากปี 2562 ที่ตั้งสำรองทั่วไป 4,000 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรสุทธิของธนาคารปีที่แล้วลดลงมาอยู่ที่ 18,000 ล้านบาท จากที่มีกำไร 24,000 ล้านบาทในปี 2562 ทั้งนี้ เพื่อความมั่นคงระยะยาวของแบงก์