“พาวเวล” ยันเงินเฟ้อไม่น่าห่วง หนุนดอลลาร์แข็งค่า กนง.คงดอกเบี้ยตามคาด

“เจอโรม พาวเวล” ประธานเฟด ยันเงินเฟ้อไม่น่าห่วง หนุนดอลลาร์แข็งค่า ขณะที่ กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปีตามคาด ชี้เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า จึงยังต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 24 มีนาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/3) ที่ระดับ 30.98/31.01 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (23/3) ที่ระดับ 30.94/97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (FED) และนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ได้แสดงมุมมองเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจต่อคณะกรรมาธิการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรเมื่อคืนนี้ (23/3)

โดยนายพาวเวลกล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวขึ้นอย่างมาก โดยได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจก็ยังคงอยู่ห่างไกลจากคำว่า “ฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์” และยังได้แสดงความเชื่อมั่นว่าอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐยังอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้

ส่วนทางด้านนางเยลเลนคาดเศรษฐกิจจะมีการขยายตัว และมีการจ้างงานเต็มศักยภาพในปีนี้ โดยได้ปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน

นักลงทุนจับตานายพาวเวลและนางเยลเลนซึ่งจะแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันนี้ (24/3) โดยทั้งสองจะแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ และความสำคัญของการใช้นโยบายทางการเงินและการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยล่าสุดเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่ดิ่งลง 18.2% สู่ระดับ 775,000 ยูนิตในเดือนกุมภาพันธ์ ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 875,000 ยูนิต

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐพุ่งขึ้น 34.8% สู่ระดับ 6.472 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2563 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551

สำหรับปัจจัยในประเทศ ในวันนี้ (24/3) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี และรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายที่มีจำกัดเพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด

พร้อมปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2564 และ 2565 เป็น 3.0% และ 4.7% ตามลำดับ โดยเป็นการขยายตัวที่คาดการณ์ต่ำกว่าประมาณการเดิม เนื่องจากการปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวและผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่

โดย กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยโดยรวมยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่ยังเผชิญกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า จึงยังต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง

ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.96-31.07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.00/31.01 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/3) ที่ระดับ 1.840/42 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (23/3) ที่ระดับ 1.1849/51 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าสอดคล้องกับการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจของยูโรโซนเผชิญกับความไม่แน่นอนเกี่ยวกับวิวัฒนาการของโรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาด และความเร็วของโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าว

นางคริสตินได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “เรายังคงเตรียมพร้อมที่จะปรับเครื่องมือทั้งหมดของเราตามสมควรเพื่อให้มั่นใจว่าภาวะเงินเฟ้อจะเป็นไปตามเป้าหมายของเราในลักษณะที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของเราที่มีต่อความสมมาตร”

ทั้งนี้ ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Q2) ในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ ECB ยังคงจับตาภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1812-1.1853 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1837/40 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/3) ที่ระดับ 108.52/54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (23/3) ที่ระดับ 108.54/56 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานการประชุมซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 20-21 ม.ค. ที่ประชุมได้หารือกันเกี่ยวกับการทบทวนนโยบายการเงิน โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้นโยบายดังกล่าวมีความแข็งแกร่งมากพอที่จะรับมือกับภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อมานาน

โดยที่ประชุม BOJ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2564 ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือน เม.ย.ปีนี้ จะขยายตัว 3.9% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่รวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเดือน ต.ค.ปีที่ผ่านมา ว่าจะขยายตัว 3.6% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.46/108.71 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.68/70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐเดือนกุมภาพันธ์ (24/3), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อสหรัฐเดือนมีนาคม (24/3), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหภาพยุโรป เดือนมีนาคม (24/3), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเยอรมันโดยสถาบันจีเอฟเค เดือนเมษายน (25/3), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภยในประเทศสหรัฐไตรมาส 4/2563 (25/3), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐ (25/3),

ดัชนีราคาผู้บริโภคญี่ปุ่น เดือนมีนาคม (26/3), ยอดค้าปลีกสหราชอาณาจักร เดือนกุมภาพันธ์ (26/3), ดัชนีบรรยากาศทางธุรกิจเยอรมันโดยสถาบันไอเอฟโอ เดือนมีนาคม (26/3), ดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลสหรัฐเดือนกุมภาพันธ์ (26/3), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครัฐมิชิแกนสหรัฐ (26/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.25/0.40 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศ อยู่ที่ +4.0/+5.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ