ธปท.กดปุ่มปล่อยกู้ P2P ปีนี้ Nestifly ลุ้นออกจากแซนด์บอกซ์ ก.ค.

แบงก์ชาติ

ธปท.เตรียมกดปุ่มธุรกิจ “P2P lending” เริ่มปล่อยกู้ปีนี้ เผยผลทดสอบในแซนด์บอกซ์ล่าสุด 3 รายแรกมีความคืบหน้า แม้บางรายต้องปรับวิธีการทำธุรกิจหลังเจอผลกระทบโควิด-19 ขณะที่อีก 4-5 รายสนใจต่อคิวเข้าทดสอบ ฟาก “Nestifly” ทดสอบปล่อยกู้ใช้หุ้นเป็นหลักประกัน คิดดอกเบี้ยต่ำ 4.75% ลุ้นผ่านประเมินได้ออกจากแซนด์บอกซ์เดือน ก.ค.นี้ ตั้งเป้าดึงลูกค้ากลุ่มเอสเอ็มอีใช้บริการ

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การพิจารณาอนุญาตให้ประกอบธุรกิจการกู้ยืมระหว่างบุคคลกับบุคคลผ่านช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ (peer to peer lending หรือ P2P) ที่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเข้าทดสอบในศูนย์ทดสอบนวัตกรรมทางการเงิน (regulatory sandbox) ของ ธปท.จำนวน 3 รายนั้น

จากการพิจารณาคาดว่าจะมีผู้ประกอบการสามารถออกจาก sandbox ได้ภายในปีนี้อย่างแน่นอน โดยยอมรับว่าที่ผ่านมามีบางรายต้องปรับรูปแบบวิธีการประกอบธุรกิจจากผลกระทบการระบาดโควิด-19

“การทำธุรกิจของผู้ประกอบการ 3 รายดังกล่าว อยู่ระหว่างทดลองปล่อยกู้ในวงจำกัดในองค์กรของตัวเอง จะมีทั้งให้สินเชื่อไม่มีหลักประกันกับประชาชนรายย่อย หรือพนักงานในองค์กร และแบบมีหลักประกัน อย่างเช่น ใช้หุ้นเป็นหลักประกัน หรือการปล่อยกู้ให้กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)

ทั้งนี้ เรามองว่า P2P ถือเป็นตัวเลือกหนึ่งในการเข้าถึงสินเชื่อ ซึ่งจะเป็นการจับคู่ระหว่างคนที่ต้องการสินเชื่อและคนที่ต้องการลงทุนให้มาเจอกัน โดยปีนี้ผู้ประกอบการน่าจะเริ่มออกจากแซนด์บอกซ์ได้”

นางสาวสิริธิดากล่าวด้วยว่า นอกจาก 3 รายดังกล่าวแล้ว มีผู้ที่สนใจทำธุรกิจที่อยู่ระหว่างพูดคุยกับ ธปท.อีก 4-5 ราย

นายปพนธ์ มังคละธนะกุล ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร (Co-Founder and CEO) บริษัท Nestifly Microcredit Platform กล่าวว่า ตอนนี้บริษัทเป็นรายหนึ่งที่กำลังทดสอบอยู่ในแซนด์บอกซ์ของ ธปท. โดยการปล่อยสินเชื่อของบริษัทจะเน้นที่มีหลักประกัน โดยใช้หลักทรัพย์ (หุ้น) ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในกลุ่ม SET50 และ SET100 มาอ้างอิงการปล่อยสินเชื่อ

ทั้งนี้ หากแผนงานเรียบร้อยดี ก็น่าจะได้รับการประเมินจาก ธปท. และออกจากแซนด์บอกซ์ได้ภายในเดือน ก.ค.นี้

“การทดลองปล่อยสินเชื่อจะอยู่ในกรอบของ ธปท. ซึ่งล่าสุดบริษัทมีการปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 10 ล้านบาท และคาดว่าจะทยอยเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากมีนักลงทุนที่มีวงเงินพร้อมปล่อยอีกราว 30-40 ล้านบาท จากกรอบเป้าหมายยอดสินเชื่อคงค้างที่บริษัทเสนอ ธปท.ไว้ที่ 200 ล้านบาท”

โดยลูกค้าที่มากู้เงินผ่าน P2P lending ของบริษัท ส่วนใหญ่ราว 80% เป็นกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ต้องการใช้วงเงินเพื่อเป็นสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งพบว่ามีสัญญาณเข้ามาใช้บริการมากขึ้น อาทิ ธุรกิจร้านกาแฟ-เบเกอรี่ ธุรกิจปั๊มน้ำมัน เป็นต้น

ส่วนหนึ่งมาจากอัตราดอกเบี้ยที่คิดอยู่ที่ 4.75% ต่อปี เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเอสเอ็มอีของระบบธนาคารพาณิชย์ ที่คิดเฉลี่ยอยู่ที่ 7-8% ต่อปี ถือว่าถูกกว่ามาก ประกอบกับแบงก์ค่อนข้างมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อด้วย

นายปพนธ์กล่าวอีกว่า จากการสำรวจข้อมูลในปี 2563 พบว่า บริษัทที่จดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีผู้ถือหุ้นรายย่อยรวมทั้งสิ้นราว 1.5 ล้านราย คิดเป็นมูลค่าหุ้นรวมกันกว่า 7 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ราว 30-40% เป็นเจ้าของกิจการที่มีหุ้นในมือ หรือราว 5-6 แสนราย ที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ที่บริษัทโฟกัสว่าน่าจะหันมาใช้บริการ P2P lending ของบริษัทได้

ซึ่งบริษัทตั้งเป้าภายใน 3 ปี คาดว่าจะมีลูกค้ากลุ่มนี้มาใช้บริการราว 5-10% หรือประมาณ 2.5-5 หมื่นราย

“ในช่วงแรก ๆ ตลาดอาจจะยังไม่รับรู้วงกว้างมากนัก แต่เชื่อว่าหากมีการสื่อสาร และตลาดรับรู้มากขึ้น P2P lending จะเป็นช่องทางใหม่อีกทางหนึ่งที่คนหันมาใช้บริการกันมากขึ้น”

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการเชื่อมต่อระบบกับพันธมิตรในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (NDID) เพื่อให้สามารถขยายจำนวนผู้ใช้บริการได้มากขึ้น โดยคาดว่าภายในเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ บริษัทจะสามารถเชื่อมต่อระบบดังกล่าวได้ ซึ่งจะช่วยลดข้อจำกัดเดิมที่บริษัทใช้ระบบเทคโนโลยีเชื่อมต่อไร้สาย NFC (near field communication)

“ด้วยความที่ระบบเชื่อมต่อจำกัดเฉพาะมือถือที่เป็น Android ทำให้คนที่สนใจสมัครสินเชื่อ P2P lending ของบริษัท ผ่านแอปพลิเคชั่น ‘Share Loan’ ราว 40% จากที่มีสมัครเข้ามากว่า 1,000 ราย ที่ใช้ระบบ iOS ไม่สามารถใช้งานได้ ดังนั้น หากเปลี่ยนไปใช้ NDID จะสามารถขยายฐานลูกค้าได้ทั้ง 2 ระบบ”

ทั้งนี้ หากสามารถเชื่อมต่อระบบ NDID ได้ตามแผนที่วางไว้ ไม่มีอะไรสะดุด ก็น่าจะออกจากแซนด์บอกซ์ได้ตามแผนที่วางไว้ โดยจากการทดสอบ วอลุ่มการปล่อยสินเชื่อก็เพิ่มขึ้น และสินเชื่อที่ปล่อยไปก็ยังไม่มีปัญหา

“โปรดักต์ของเราเหมาะกับช่วงโควิด เพราะคนเอาหุ้นมาขอกู้ ขณะที่หุ้นก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ธปท.จะพิจารณาวัดผลในเรื่องเทคโนโลยีที่นำมาใช้ ความแม่นยำ การป้องกันภัยไซเบอร์ ขั้นตอนการใช้งาน ตลอดจนโมเดลการวัดความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้า” นายปพนธ์กล่าว