ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค-ราคาบ้านพุ่งกว่าที่คาด

ค่าเงินบาท-ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าต่อเนื่อง หลังดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีราคาบ้านสหรัฐพุ่งกว่าที่คาดการณ์ ขณะที่เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 31.29/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 31 มีนาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (31/3) ที่ระดับ 31.30/32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (30/3) ที่ระดับ 31.25/27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ หลังผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 109.7 ในเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มเกิดการระบาดของโควิด-19 ในเดือน มี.ค. 2563 จากระดับ 90.4 ในเดือน ก.พ. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 96.9

ดัชนีความเชื่อมั่นดีดตัวขึ้น หลังมีการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในวงกว้าง ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเป็นการสำรวจมุมมองของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และในช่วง 6 เดือนข้างหน้า สถานะการเงินส่วนบุคคลและการจ้างงาน

นอกจากนี้ ยังมีผลสำรวจของเอสแอนด์พี คอร์โลจิก เคส ชิลเลอร์ ระบุว่า ดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐพุ่งขึ้น 11.2% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดในรอบ 7 ปี ส่วนดัชนีราคาบ้านใน 20 เมืองของสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.1% ในเดือน ม.ค.

ด้านปัจจัยภายในประเทศ นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.พ. 64 อยู่ที่ระดับ 99.68 หดตัว -1.08% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และปรับลดลง 2.0% จากเดือน ม.ค. 64

เนื่องจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ส่งผลให้ภาครัฐออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโดยกำหนดพื้นที่ควบคุมตามความรุนแรงของสถานการณ์ แม้จะมีการผ่อนคลายบางส่วนในเดือน ก.พ. 64 แต่ยังส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลงบ้างเล็กน้อย

โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.30-31.36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.29/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (31/3) ที่ระดับ 1.1723/25 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (30/3) ที่ระดับ 1.1740/42 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า ตามการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ จากการที่นักลงทุนยังคงกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อ ขณะที่โครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวล่าช้า ทำให้นักลงทุนคาดว่า รัฐบาลของหลายประเทศยังต้องคงมาตรการล็อกดาวน์ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาจใช้เวลานานกว่าที่คาดไว้

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยูในกรอบระหว่าง 1.1704-1.1749 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1742/44 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (31/3) ที่ระดับ 110.65/67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (30/3) ที่ระดับ 110.25/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ จากตัวเลขเศรษฐกิจทางฝั่งสหรัฐที่ออกมาดีอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนลดการถือครองสกุลเงินเยนลงในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.28-110.97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.57/59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไทย เดือนกุมภาพันธ์ (31/3), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในกลุ่มสหราชอาณาจักร ไตรมาส 4/2563 (31/3), อัตราว่างงานเยอรมัน เดือนมีนาคม (31/3), ดัชนีราคาผู้บริโภคสหภาพยุโรป เดือนมีนาคม (31/3), ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ โดยกรมสถิติแรงงานสหรัฐเดือนมีนาคม (31/3), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเขตชิคาโก เดือนมีนาคม (31/3),

รายงานยอดขายที่อยู่อาศัยที่อยู่การปิดการขายสหรัฐเดือนกุมภาพันธ์ (31/3), ดัชนีภาคการผลิตขนาดใหญ่ญี่ปุ่นโดยสถาบันตังกัง ไตรมาส 1/2564 (1/4), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจีน เดือนมีนาคม (1/4), ยอดค้าปลีกเยอรมัน เดือนกุมภาพันธ์ (1/4), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมเยอรมัน เดือนมีนาคม (1/4),

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมสหภาพยุโรป เดือนมีนาคม (1/4), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมสหราชอาณาจักร เดือนมีนาคม (1/4), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐ (1/4), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อสหรัฐ เดือนมีนาคม (1/4), อัตราว่างงานสหรัฐ เดือนมีนาคม (2/4), รายได้เฉลี่ยรายชั่วโมงสหรัฐ เดือนมีนาคม (2/4), การจ้างงานนอกภาคการเกษตรสหรัฐ เดือนมีนาคม (2/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.30/0.40 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.35/-0.45 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ