หุ้นไทยผันผวนในกรอบขาลง 1,565-1,585 จุด ดัชนีกลับสู่โหมดระมัดระวัง

กราฟราคาหุ้น

ตลาดหุ้นไทยผันผวนในกรอบขาลง ระหว่าง 1,565-1,585 จุด ดัชนี SET Index กลับสู่โหมดระมัดระวัง กลยุทธ์ลงทุนเลือกหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว เลี่ยงหุ้นท่องเที่ยว-เปิดเมืองจนกว่าสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย จับตาตัวเลขผู้ติดเชื้อหลังเทศกาลสงกรานต์

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) รายงานแนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันที่ 7 เม.ย. 64 ว่า จะกลับเข้าสู่โหมดความผันผวนแบบระมัดระวัง โดยประเด็นการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศที่ เร่งตัวขึ้นกลับเข้ามาเป็นอิทธิพลเชิงลบหลักของตลาดอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี การปรับตัวลงสวนทางตลาดอื่นของ SET ราว 1% เมื่อวันจันทร์ก่อนวันหยุดได้สะท้อนความกังวลในตลาดเข้าไปบางส่วน ประกอบกับเซนติเมนต์ลงทุนในภูมิภาคเช้านี้ที่เป็นบวกอ่อน ๆ หลังดัชนี Dollar Index และ Bond Yield สหรัฐอายุ 10 ปี ชะลอตัวลงเล็กน้อย จะช่วยประคองการอ่อนตัวของตลาดในระดับหนึ่ง

จึงคาด SET เช้านี้จะผันผวนในกรอบอิงทางลงระหว่าง 1,565-1,585 จุด กลยุทธ์การลงทุนเลือกหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการระบาดระลอกใหม่ หรือหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว หลีกเลี่ยงหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวและเปิดเมืองจนกว่าสถานการณ์ในประเทศจะเริ่มคลี่คลาย

ทั้งนี้การระบาดในประเทศยังน่ากังวล และเป็นปัจจัยลบหลักที่กดดันการฟื้นตัวของตลาดหุ้น โดยวานนี้ ศบค.เผยมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นกว่า 250 ราย ส่วนใหญ่พบในกรุงเทพมหานคร ส่วนในต่างจังหวัดผู้ติดเชื้อล้วนเป็นเคสเชื่อมโยงกับคลัสเตอร์ทองหล่อ สถานการณ์โดยรวมยังเสี่ยงต่อการระบาดระลอก 3 ขณะที่รัฐบาลได้ประกาศมาตรการควบคุมสถานบันเทิง 3 ระดับและเตรียมประกาศพื้นที่สีแดง 5 จังหวัด

Advertisment

ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี และสมุทรปราการ โดยทางฝ่ายวิจัยมองว่าต้องติดตามตัวเลขผู้ติดเชื้อหลังเทศกาลสงกรานต์ที่อาจเร่งตัวขึ้นเช่นเดียวกับช่วงปีใหม่ที่อาจจะทำให้ต้องกลับมาใช้มาตรการคุมเข้มหรือมาตรการกึ่งล็อกดาวน์อีกครั้ง

ล่าสุดกระทรวงการคลังเตรียมปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 64 อีกครั้งในช่วงปลายเดือน เม.ย. คาดใกล้เคียงกับแบงก์ชาติว่าจะออกมาเติบโตราว 3% เดิมคาดการณ์ขยายตัว 2.8% โดยมีสัญญาณบวกจากภาคการบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่เดือน มี.ค. 64 อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามการระบาดระลอกใหม่ในประเทศอย่างใกล้ชิด ส่วนโครงการ “คนละครึ่งเฟส 3” เดิมคาดว่าจะนำมาใช้ตอนช่วงเดือน มิ.ย. 64 แต่หากภาคการบริโภคได้รับผลกระทบและเริ่มชะลอตัวลง อาจจะนำมาใช้ได้เร็วขึ้น

ส่วนทาง IMF ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้ขยายตัวถึง 6% (จากเดิม 5.5%) ก่อนที่ปีหน้าจะขยายตัว 4% เป็นผลจากการกระจายวัคซีนมากขึ้น และเริ่มมองเห็นทางออกจากวิกฤตครั้งนี้ คาดว่าจะช่วยหนุนการลงทุนในตลาดหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มมากยิ่งขึ้น แต่ปรับลดคาดการณ์การเติบโดของเศรษฐกิจไทยเหลือขยายตัวเพียง 2.6% ในปีนี้ (เดิม 2.7%) ก่อนที่ปีหน้าจะกลับมาขยายตัว 5.6% (เดิม 4.6%)