เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ จับตาดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของสหรัฐ

ค่าเงินบาท-ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ ตลาดจับตาตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของสหรัฐ ขณะที่ปัจจัยในประเทศสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังหนัก ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์อินเดียอีก 15 คน ส่วนเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.38/40 บา/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 17-21 พฤษภาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (17/5) ที่ระดับ 31.33/35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (14/5) ที่ระดับ 31.34/37

โดยค่าเงินดอลลาร์ได้รับแรงกดดันหลังนายราฟาเอล บอสติก ประธานธนาคารกลางของสหรัฐ สาขาแอตแลนตา กล่าวในวันอังคาร (18/5) ว่า เขามีความพอใจต่อนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษในขณะนี้ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อกำลังเร่งตัวขึ้นก็ตาม

ซึ่งจากความเห็นของนายราฟาเอล ทำให้นักลทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ ในขณะเดียวกันวันพฤหัสบดี (20/5) รายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่า กรรมการเฟดได้หารือกันเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ และเสนอให้เริ่มอภิปรายเกี่ยวกับการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในการประชุมวันข้างหน้า

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลงอย่างต่อเนื่อง และประชาชนในสหรัฐได้รับการฉีดวัคซีนมากขึ้น

นอกจากนี้ในปลายสัปดาห์กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 34,000 ราย สู่ระดับ 444,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ปรับตัวลงจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 478,000 ราย ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐเมื่อเดือน มี.ค. 2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 452,000 ราย

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงในสัปดาห์ที่แล้ว แต่ก็ยังคงสูงกว่าระดับ 230,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ

สำหรับค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า แม้ว่าสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ แถลงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไตรมาส 1/64 ลดลง 2.6% ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลง 4.2% ในไตรมาส 4/63 ทั้งนี้ยังได้ปรับลดคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 64 ลงมาเป็นขยายตัว 1.5-2.5% จากเดิมคาดไว้ว่าจะเติบโตราว 2.5-3.5%

โดยมองว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ จากการลดลง 6.1% ในปี 63 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก, แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ และการปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 63

นอกจากนี้ ในวันพฤหัสบดี (20/5) รัฐบาลประกาศเตรียมออก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มอีก 7 แสนล้านบาทเพื่อใช้แก้ไขวิกฤตไวรัสโควิด และกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ช่วยจำกัด Downside เศรษฐกิจ กรณีที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับประมาณการ GDP ปีนี้หากมีเม็ดเงินใหม่เข้ามาช่วยสนับสนุน

และในช่วงปลายสัปดาห์มีการเผยถึงมติที่ประชุม ศบค.ให้ขยายเวลาการใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ ครั้งที่ 12 โดยให้ขยายเวลาออกไปอีก 2 เดือน จาก 1 มิ.ย.-31 ก.ค. 64 และมีการเปิดเผยยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 123,066 ราย เสียชีวิตสะสมรวม 735 คน

ทั้งยังมีการตรวจพบคนงานติดเชื้อจำนวนมากอยู่ที่แคมป์คนงานหลักสี่ และมีคนงาน 15 ราย ที่ได้รับทราบว่าตรวจพบเจอ “โควิดสายพันธุ์อินเดีย” หรือ B 1.1617.2 ซึ่งตอนนี้อยู่ในการดูแลของโรงพยาบาลแล้ว และมีการส่งทีมสอบสวนโรคเข้าไปเพื่อที่จะดูแลในเรื่องของการควบคุมการติดเชื้อต่อไป

โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.34-31.52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (21/5) ที่ระดับ 31.38/40 บา/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (17/5) ที่ระดบ 1.2149/50 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/5) ที่ระดับ 1.2140/41 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรแข็งค่ารับอานิสงส์จากการเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในบางประเทศ

นอกจากนี้ยังได้รับแรงหนุนหลังมีการเปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของยูโรโซน (GDP) ในไตรมาส 1/2564 เมื่อเทียบเป็นรายปีอยู่ที่ระดับ -18% ตามที่ตลาดคาดการณ์ และนางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรปเปิดเผยในวันอังคาร (19/5) ว่า เป็นเรื่องจำเป็นที่จะยังไม่ถอนการสนับสนุนด้านการเงินและการคลังเร็วเกินไป

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CP) ของยูโรโซนเพิ่มขี้น 0.6% ในเดือน เม.ย.เมื่อเทียบรายเดือน เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI ของยูโรโซนดีดตัวขึ้น 1.6% ในเดือนเมษายนจากระดับ 1.3% ในเดือนมีนาคม

ทั้งนี้ ดัชนี CPI ของยูโรโซนได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของราคาพลังงาน และราคาในภาคบริการ ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตราวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือนเมษายน เมื่อเทียบรายเดือน และเพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบรายปี

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.2126-1.2246 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (2/15) ที่ระดับ 1.2220/22 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (17/5) ที่ระดับ 109.43/44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/5) ที่ระดับ 109.34/35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยในวันจันทร์ (17/5) ว่าราคาค้าส่งเดือน เม.ย. ปรับตัวขึ้น 3.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เพิ่มขึ้นรวดเร็วที่สุดในรอบกว่า 6 ปี เนื่องจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น แต่ค่าเงินเยนยังถูกกดดันจากยอดผู้ติดเชื้อภายในประเทศยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ญี่ปุ่นได้เริ่มใช้มาตรการคุมเข้มโควิดใน 6 จังหวัด และยังได้ขยายระยะเวลาในการประกาศภาวะฉุกเฉินเพิ่มเติมใน 3 พื้นที่ออกไปอีก ซึ่งได้แก่จังหวัดฮอกไกโด โอกายาม่า และฮิโรชิม่า

ขณะที่สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเผยในวันอังคาร (18/5) ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของญี่ปุ่น (GDP) ในไตรมาส 1/2564 เมื่อเทียบเป็นรายปีอยู่ที่ระดับ -0.2% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ -0.1% อีกทั้ง กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น ได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขดัชนีอุตสาหกรรมขั้นตติยะภูมิของญี่ปุ่นที่ระดับ 1.1%

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.57-109.31 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (21/5) ที่ระดับ 108.65/67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ