สมาคมแบงก์รัฐ ตั้งคณะทำงานป้องกันฟอกเงิน คดียาเสพติด

สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ตั้งคณะทำงานระหว่าง “กระทรวงยุติธรรม-แบงก์รัฐ-แบงก์พาณิชย์” ป้องกันการฟอกเงิน คดียาเสพติด

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ฐานะประธานสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้มีการจัดตั้งคณะทำงาน ระหว่างกระทรวงยุติธรรม สถาบันการเงินของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ เพื่อทำการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ในการป้องกันการฟอกเงินคดียาเสพติด รวมถึงการหาทางตรวจสอบเชิงรุกกับบัญชีที่เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด หลังจากที่ผ่านมาได้ประชุมร่วมกับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ถึงแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการติดตามเส้นทางการเงินผู้ค้ายาเสพติด เพื่อตรวจสอบการใช้บัญชีเงินฝากของสถาบันการเงินเป็นช่องทางในการฟอกเงินของนักค้ายา

ทั้งนี้ สถาบันการเงินของรัฐทุกแห่ง โดยเฉพาะ 4 สถาบันการเงินที่มีธุรกรรมรับฝากเงิน ประกอบด้วย ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) พร้อมให้ความร่วมมือในการดำเนินงานดังกล่าว เพื่อขยายผลสู่การจับกุมผู้ค้ายาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสนับสนุนแนวทางการทำงานตามภารกิจของกระทรวงยุติธรรมในการปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาในกระบวนตรวจสอบเส้นทางการเงินและอายัดบัญชีคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด ยังมีขั้นตอนล่าช้าและไม่สามารถตามอายัดบัญชีนักค้ายาได้ทัน เนื่องจากกระบวนการจะต้องรอการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่ฝ่ายยุติธรรม และส่งแจ้งข้อมูลรายละเอียดบัญชีมาให้ธนาคารดำเนินการ ซึ่งกว่าจะเสร็จสิ้นขบวนการเงินในบัญชีก็ถูกถอนออกมาแล้ว ดังนั้นจึงมีการหารือถึงความเป็นไปได้ในการเปิดให้ธนาคารรัฐ นำระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยวิเคราะห์จับกุมบัญชีเข้าข่ายที่น่าสงสัย และแจ้งให้กระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ติดตาม

ปัจจุบันธนาคารรัฐแต่ละแห่งมีการลงทุนพัฒนาระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่มูลค่าหลายพันล้านบาท ซึ่งสามารถตรวจวิเคราะห์ แยกแยะพฤติกรรมบัญชีต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ เช่น หากมีการเปิดบัญชีเพียง 500 บาท แต่มียอดเงินฝากเข้ามาทีละ 10 ล้านบาท 20 ล้านบาท ก็เข้าข่ายบัญชีน่าสงสัยเป็นต้น แต่เรื่องนี้ยังต้องมีการหารือลงรายละเอียด ทั้งการกำหนดหลักการ การวางกรอบกติกา ประเภทบัญชีต่างๆ รวมถึงต้องมีการแก้ไขกฎหมายให้อำนาจสถาบันการเงินเข้าไปร่วมตรวจสอบได้ด้วย

“ปัญหาสำคัญของการยึดทรัพย์ตัดวงจรยาเสพติด คือ ต้องรู้ว่าเงินอยู่ที่ไหน ใครส่งให้ใคร และต้องดูบัญชีเส้นทางและต้องตรวจสอบให้พบ ซึ่งที่ผ่านมา การจับกุมคดียาเสพติด มักจับได้แค่ตัวยากับผู้ครอบครองและผู้ส่งยา แต่ยังขาดข้อมูลที่เชื่อมโยงไปถึงเจ้าของธุรกรรมรายใหญ่ ดังนั้น การร่วมมือระหว่างกระทรวงยุติธรรม กับสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในการสืบสวนสอบสวนคดีครั้งนี้ จะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาติดตาม และช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเส้นทางการเงินรวมถึงธุรกรรมต่างๆ เพื่อสาวไปถึงผู้บงการ และยึดทรัพย์ ดำเนินคดีกับผู้ค้ายารายใหญ่ได้มากยิ่งขึ้น”