600 บริษัท หนี้พุ่ง 29 ล้านล้าน กัดฟันเพิ่มทุน-ตัดขายทรัพย์สิน

นักธุรกิจ

โควิด-19 เขย่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยกว่า 600 บริษัท แบกภาระ “หนี้สิน” เพิ่มขึ้นทะลุ 29.28 ล้านล้านบาท สัดส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 2.73 เท่า สวนทาง “กำไร” ลดลงต่อเนื่องเผยช่วงโควิดระบาด บริษัทในตลาดหุ้นมีหนี้สินเพิ่มกว่า 4 ล้านล้านบาท “เอเซีย พลัส” ชี้เซ็กเตอร์ “ท่องเที่ยว-ขนส่ง-สายการบิน” ยังก่อหนี้เพิ่มต่อ คาดใช้เวลากว่า 3 ปีฟื้นตัว กสิกรไทยเผยภาคธุรกิจทยอยเพิ่มทุนตลอดทางเพื่อประคองสัดส่วน “หนี้ต่อทุน” ไม่ให้สูงเกิน “บล.ฟินันเซีย ไซรัส” ชี้ไตรมาส 2-3 “MINT” เตรียมตัดขายทรัพย์สินกด D/E

โควิดทุบ บจ.หนี้พุ่ง 29 ล้าน ล.

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ภาพรวม “หนี้สิน” ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) กว่า 600 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง พบว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (debt to equity ratio : D/E) เพิ่มขึ้น จากปี 2561 บริษัทจดทะเบียน D/E อยู่ที่ระดับ 2.57 เท่า ด้วยตัวเลขหนี้สินรวม 24.31 ล้านล้านบาท ปี 2562 D/E ทรงตัวอยู่ที่ 2.57 เท่า

แต่หนี้สินรวมขยับขึ้นมาที่ 25.51 ล้านล้านบาท และปี 2563 การระบาดโควิดส่งผลกระทบให้ระดับ D/E ขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.83 เท่า หนี้สินรวมของ บจ.ในตลาดหลักทรัพย์ฯพุ่งกว่า 28.98 ล้านล้านบาท ซึ่งสวนทางกำไรสุทธิทั้งตลาดที่ปรับลดลงต่อเนื่อง

สำหรับกำไรสุทธิบริษัทจดทะเบียน ปี 2561 อยู่ที่ 929,915 ล้านบาท โดยมีอัตรากำไรสุทธิ 8.30% ปี 2562 กำไรสุทธิลดลงเหลือ 862,091 ล้านบาท หรือหดตัว -7.29% (YOY) อัตรากำไรสุทธิเหลือ 7.65% และปี 2563 วิกฤตโควิด-19 กดดันกำไร บจ.หดตัวหนักกว่า -52.25% ทำให้เหลือกำไรสุทธิรวม 411,645 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิแค่ 4.27%

ขณะที่ไตรมาสแรกปี 2564 บจ.ไทยมี D/E อยู่ที่ระดับ 2.73 เท่า ตัวเลขหนี้สินรวมที่ 29.28 ล้านล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 258,337 ล้านบาท พลิกกลับมาเพิ่มขึ้น 232% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยอัตรากำไรสุทธิพุ่ง 9.50% เป็นผลจากการฟื้นตัวของหุ้นกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี ตามการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันโลก และ บจ.ไทยปรับตัวรับมือสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีขึ้น

โดยกลุ่มธุรกิจที่มีตัวเลขหนี้สินสูงสุด ได้แก่ ธนาคาร 17.7 ล้านล้านบาท รองลงมา ธุรกิจพลังงาน 3.4 ล้านล้านบาท และธุรกิจบริการ 1.7 ล้านล้านบาท ธุรกิจเทคโนโลยี 1.3 ล้านล้านบาท ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 1 ล้านล้านบาท ธุรกิจอาหาร 9.9 แสนล้านบาท

ท่องเที่ยว-แอร์ไลน์ 3 ปีฟื้น

รายงานข่าวจากฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนที่ดูอยู่กว่า 200-300 บริษัท ส่วนใหญ่อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) เพิ่มขึ้นเกือบทุกเซ็กเตอร์ สาเหตุหลักมาจากผลกระทบการระบาดโควิด-19 กดดันเศรษฐกิจชะลอ ทำให้รายได้ของบริษัทเหล่านี้ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร และขนส่ง ซึ่งจะเห็นภาระหนี้เพิ่มขึ้น และยังจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่ม ในขณะที่กำไรที่ลดลงกดดันกำไรสะสมลดลงไปด้วย

สำหรับเซ็กเตอร์ที่มีรายได้ลดลงมากสุดในปี 2563 เทียบกับปีก่อนหน้า พบว่าเป็นหุ้นวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร หดตัว 80.7%, กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ หดตัว 51.4%, กลุ่มโรงแรม หดตัว 49.3% กลุ่มธุรกิจของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ หดตัว 39.8% และกลุ่มหุ้นพลังงานและสาธารณูปโภค หดตัว 25.7%

ขณะที่รายได้บริษัทกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ หดตัว 17.1% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ หดตัว 17.1% กลุ่มบรรจุภัณฑ์ หดตัว 16.8% กลุ่มแฟชั่น หดตัว 16.7% กลุ่มเหล็ก หดตัว 15.6% การแพทย์ หดตัว 14.3% ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ หดตัว 13.1% ยานยนต์หดตัว 13.1% บริการรับเหมาก่อสร้าง หดตัว 10.6% ธนาคารพาณิชย์ หดตัว 10.5% วัสดุก่อสร้าง หดตัว 10% หุ้นโฮลดิ้งคอมปะนี หดตัว 6.5% หุ้นคอมมิวนิตี้มอลล์ หดตัว 5.3% หุ้นอาหารและเครื่องดื่ม หดตัว 4.3%

ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของหลาย บจ.ยังอยู่ระดับสูง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว, ขนส่ง, สายการบิน แนวโน้มธุรกิจยังไม่ฟื้นตัว ต้องใช้เวลาช่วง 1- 3 ปีหลังจากนี้ ทำให้ยังจำเป็นต้องเพิ่มทุนหรือก่อหนี้

บริษัทนอกตลาดน่าห่วง

ขณะที่นายสรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2564 อัตราหนี้สินต่อทุนของบริษัทจดทะเบียนไม่ได้น่ากังวล เพราะปีที่ผ่านมา หลายบริษัทมีการเพิ่มทุนไปแล้ว ทั้งธุรกิจโรงแรม สายการบิน และอสังหาฯ ซึ่งโดยปกติกลุ่มอสังหาฯและโรงไฟฟ้าจะเป็น 2 เซ็กเตอร์ที่หนี้สูง แต่ปัจจุบันยังควบคุมได้ ส่วนกลุ่มสายการบินและโรงแรมที่น่ากลัว ก็เห็นเพิ่มทุนมาตลอดทาง รวมถึงทั้ง บมจ.เอเชียเอวิเอชั่น (AAV) และ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT)

หนี้สินต่อทุนของบริษัทจดทะเบียนไม่น่ากังวล บริษัทนอกตลาดน่ากังวลมากกว่า แต่ตอนนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมาตรการพักชำระหนี้และมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ (asset warehousing) ออกมา ก็ช่วยบรรเทาความกังวลลงไปมาก

MINT เงินสดอยู่ได้ 2 ปี

“อย่างไรก็ตาม ช่วงปีที่ผ่านมา บริษัทหนี้สูงขึ้น เป็นทั่วโลก แต่ตอนนี้เข้าถึงสินเชื่อซอฟต์โลนได้มากขึ้น รวมถึงมีมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ จึงผ่อนคลายความกังวลลงไป ส่วนเรื่องรายได้ ถึงแม้ปิดเมือง แต่ไม่ได้น่ากังวลเหมือนล็อกดาวน์ทั้งหมดเหมือนช่วงปีที่ผ่านมา ขณะที่บางบริษัทกลับมามีรายได้สูงกว่าเดิม เช่น ธุรกิจอสังหาฯ ยอดขายบ้านปีนี้ทำนิวไฮ”

“ธุรกิจโรงแรมยังได้รับผลกระทบ แต่ถ้าดู cash burn rate หากบริษัทไม่มีรายได้เลยจะสามารถอยู่ได้อย่างต่ำ ๆ 12 เดือนขึ้นไป เช่น บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) การใช้เงินประมาณ 1,200-1,300 ล้านบาทต่อเดือน โดยมีเงินสดและกู้เงินธนาคารเพิ่มปีนี้รวมกันอยู่ประมาณกว่า 4 หมื่นล้านบาท เพราะฉะนั้นไม่เป็นปัญหา สามารถอยู่ได้ถึง 2 ปี เช่นเดียวกับ บมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ (MOJOR) มีเงินสดอยู่ได้เป็นปี” นายสรพลกล่าว

เอราวัณ-AAV เตรียมเพิ่มทุน

ขณะที่นายธีระพล อุดมเวศย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า ความน่ากังวลของหนี้สินต่อทุนของบริษัทจดทะเบียน จะเป็นเซ็กเตอร์เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น สายการบิน, โรงแรม ที่อาจเห็นระดับ D/E ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่อุตสาหกรรมอื่นถ้าไม่ถึงขั้นขาดทุนก็ยังเห็น D/E อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่น่ากังวล ทั้งนี้ทั้งนั้น จะมีบางบริษัทที่มีประเด็นเฉพาะตัว เช่น กลุ่ม ซี.พี. ทั้ง บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) และ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ระดับ D/E เร่งตัวขึ้นจากการเข้าซื้อกิจการเทสโก้

“ฉะนั้น ปีนี้คาดการณ์แนวโน้มผลประกอบการหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว สายบิน และโรงแรม น่าจะยังขาดทุนเหมือนปีที่แล้ว ถ้าจะหวังเทิร์นอะราวนด์ อย่างเร็วสุดช่วงไตรมาส 4/64 ถึงไตรมาส 1/65 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นถัดไป ยกเว้นบริษัทที่มีธุรกิจในยุโรป อาทิ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ก็อาจเห็นผลประกอบการอาจปรับดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งบริษัทก็ได้มีการเพิ่มทุนตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

ส่งผลให้ระดับ D/E ลดลงถึงจุดหนึ่ง แม้จะสูงอยู่ แต่ในอนาคตจะลดลงได้อีก เพราะกำลังทำดีลตัดขายทรัพย์สินธุรกิจโรงแรมในต่างประเทศ 2 ดีล ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 2-3 ส่วน บมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป (ERW) ก็ขายหุ้นเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิม (RO) ก้อนแรก 2,000 ล้านบาท ตอนนี้รอเงินเข้ามา”

ด้านธุรกิจสายการบินมี 2 บริษัท คือ บมจ.บางกอกแอร์เวย์ส (BA) และ บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ซึ่งทาง AAV ได้มีการเตรียมเพิ่มทุนโดยมีนักลงทุนใหม่ใส่เงินเข้ามา ซึ่งก็จะช่วยให้ระดับ D/E ลดลง ไม่มีปัญหา ขณะที่ BA หนี้สินไม่สูงอยู่แล้ว เพราะไม่ได้ลงทุนอะไรมากช่วงที่ผ่านมา จึงไม่น่าจะต้องเพิ่มทุน

“สิ้นไตรมาสแรกที่ผ่านมา MINT มี D/E อยู่ที่ 1.95 เท่า ซึ่งจะลดลงเรื่อย ๆ จากการขายทรัพย์สิน ส่วน ERW มีระดับ D/E อยู่ที่ 3.8 เท่า ซึ่งถือว่าสูงมาก แต่พอเพิ่มทุนตัวเลขจะลดลงมา ตอนนี้แต่ละบริษัทพยายามผ่อนปรน cash burn rate ได้ค่อนข้างดี และมีการจัดการโครงสร้างเงินทุนได้ดี ฉะนั้น ถ้าฟื้นตัวได้ช่วงไตรมาส 3-4 บวกกับแรงหนุนของนักท่องเที่ยวกลับมา จะกระทบ cash burn ลดน้อยลงต่อเนื่อง ยกเว้นเปิดประเทศไม่ได้ตามแผน” นายธีระพลกล่าว