ยอดติดเชื้อโควิด-19 กดดันเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

เงิน-ธนบัตร-โควิด

ยอดติดเชื้อโควิด-19 กดดันเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันยังพุ่งสูงขึ้น  ธปท.ชี้ไม่ใช้เงินบาทอ่อนค่าสกุลเดียว หลายประเทศในภูมิภาคปรับตัวอ่อนค่าเช่นกัน จับตาตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 29 มิถุนายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/6) ที่ระดับ 31.99/32.02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (28/6) ที่ระดับ 31.95/97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าเทียบกับเงินสกุลหลัก หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาดัลลัส เปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตรัฐเท็กซัสปรับตัวสู่ระดับ 29.4 จุด ในเดือน มิ.ย. จากระดับ 15.7 ในเดือน พ.ค. โดยดัชนีภาคการผลิตส่งสัญญาณขยายตัวนับตั้งแต่เดือน ส.ค.ปีที่แล้ว หลังจากทรุดตัวลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือน เม.ย.ปีที่แล้ว เพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดขอไวรัสโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินยังไม่แกว่งตัวผันผวนมากนัก โดยนักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันศุกร์ (2/7) นี้ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 683,000 ตำแหน่งในเดือน มิ.ย. สูงกว่าในเดือน พ.ค.ที่เพิ่มขึ้นเพียง 559,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานคาดการณ์ว่าจะลดลงสู่ระดับ 5.7% จากระดับ 5.8% ในเดือน พ.ค.

นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูข้อมูลแรงงานด้านอื่นของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือน มิ.ย. จาก ADP และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ โดยคาดว่าข้อมูลแรงงานเหล่านี้จะเป็นปัจจัยบ่งชี้แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินและทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด

Advertisment

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ น.ส.ภาวิณี จิตต์มงคลเสมอ ผู้อำนวยการฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงสถานการณ์เงินบาทในปัจจุบันที่วันนี้อ่อนค่าไปแตะระดับ 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ว่า การอ่อนค่าของเงินบาทในระยะนี้ มีปัจจัยหลักมาจากต่างประเทศ เพราะไม่ใช่เงินบาทสกุลเดียวที่อ่อนค่า

แต่ค่าเงินของหลายประเทศในภูมิภาคก็ปรับตัวอ่อนค่าเช่นกัน เพียงแต่เงินบาทอาจจะอ่อนค่าไปมากกว่าสกุลเงินอื่น จากสถานการณ์ภายในประเทศ คือ ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ยังไม่สามารถเปิดประเทศเพื่อรับการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศได้อย่างเต็มที่

โดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ (29/6) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 4,662 ราย แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อใหม่ 4,652 ราย และจากเรือนจำ 10 ราย มีผู้เสียชีวิต 36 ราย โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.91-32.05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.00/02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (29/6) ที่ระดับ 1.1929/30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (28/6) ที่ระดับ 1.1926/27 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาในยุโรปเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินยูโร และสร้างความกังวลแก่นักลงทุน

Advertisment

อย่างไรก็ตามบรรดานักลงทุนจะมุ่งความสนใจในสัปดาห์นี้ไปที่การเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. และข้อมูลกิจกรรมทางธุกิจจากยูโรโซน โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1902-1.1930 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1910/12 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/6) ที่ระดับ 110.64/65 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (28/6) ที่ระดับ 110.61/62 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนยังคงเคลื่อนไหวอ่อนค่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศ และการฉีดวัคซีนที่ล่าช้า

แม้ว่าในวันนี้รัฐบาลญี่ปุ่นได้เปิดเผยว่ายอดค้าปลีกพุ่งขึ้น 8.2% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะขยายตัว 7.9% โดยยอดค้าปลีกของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเกินคาด เนื่องจากภาคครัวเรือนกลับมาใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามแนวโน้มการบริโภคก็ยังคงอ่อนแอโดยถูกกดดันจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และบ่งชี้ว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะต้องใช้เวลา โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.4-110.75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.53/73 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ได้แก่รายงานความเชื่อมั่นผู้บริโภคจากซีบีของสหรัฐ (29/6), ดัชนีราคาผู้บริโภคปีต่อปีของยุโรป (30/6), การเปลี่ยนแปลงการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ (30/6), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในเขตชิคาโกของสหรัฐ (30/6), ยอดขายบ้านที่รอการเปิดการขายเดือนต่อเดือนของสหรัฐ (30/6),

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของเยอรมัน (1/6), จำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานของสหรัฐ (1/6), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของสหรัฐ (1/6), รายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงเดือนต่อเดือนของสหรัฐ (2/6), การจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ (2/6) และอัตราการว่างงานของสหรัฐ (2/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.20/+0.40 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +4.50/+7.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ