หุ้นไทยปัจจัยลบรุมเร้า ป่วยโควิดติด 10 อันดับแรกของโลก

ตลาดหุ้นไทยปัจจัยลบรุมเร้า แกว่งตัวอิงทางลงต่อเนื่องในกรอบ 1,530-1,550 จุด หลังยอดผู้ป่วยโควิดติด 10 อันดับแรกของโลก อันดับ 5 เอเชีย ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนวิกฤตยืดเยื้อเป็นลบต่อ “กลุ่มเปิดเมือง-ท่องเที่ยว-ธนาคาร” ขณะค่าเงินบาทอ่อนค่าหนักมากที่สุดของเอเชีย ลดลงเกือบ 9% ในปีนี้ หลังล้มเหลวในการควบคุมการระบาด

วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) รายงานแนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ว่า ดัชนี SET Index เช้านี้มีแนวโน้มแกว่งตัวอิงทางลงในกรอบระหว่าง 1,530-1,550 จุด หลังขาดปัจจัยหนุนแต่ถูกรุมเร้าด้วยปัจจัยลบ โดยเฉพาะการระบาดของ COVID-19 ในประเทศที่รุนแรงต่อเนื่องและไม่มีท่าทีจะยุติโดยง่าย ขณะที่วานนี้ตลาดหุ้นฝั่งเอเชียเผชิญ Sentiment เชิงลบจากกรณีมีข่าวจีนจะประกาศกฎคุมเข้มหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในเรื่องการผูกขาดกับหุ้นกลุ่มโรงเรียนกวดวิชาที่จะถูกบังคับสภาพให้กลายเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ทำให้ดัชนี Hang Seng และ SSEC ปรับตัวลง 4.13% และ 2.34% ตามลำดับ

ส่วนฝั่งสหรัฐและยุโรปยังต้องติดตามการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้าที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเร่งตัวขึ้น และสัปดาห์นี้ตลาดหุ้นทั่วโลกรอติดตามการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ระหว่างวันที่ 27-28 ก.ค. 64 ว่าจะส่งสัญญาณการทำ QE Tapering ออกมาหรือไม่ ซึ่งทางฝ่ายวิจัยคาดว่านโยบายทางการเงินจะยังไม่เปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ท่ามกลางการระบาดของไวรัส COVID-19 สายพันธุ์เดลต้าทั่วโลก วานนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นติดใน 10 อันดับแรกของโลก และติดอันดับ 5 ในเอเชีย อีกทั้งครบรอบ 1 สัปดาห์รัฐบาลประกาศมาตรการ Lockdown แต่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังทำจุดสูงสุดใหม่และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนสถานการณ์ที่วิกฤตยืดเยื้อเป็นลบต่อกลุ่มเปิดเมือง ท่องเที่ยวและธนาคาร

ส่วนกลุ่มร้านอาหารติดตามการประเมินจาก ศบค.อาจเปิดให้ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้ากลับมาทำ Delivery ได้เหมือนเดิม แต่ยังคงห้ามรับประทานในร้าน ทางฝ่ายวิจัยยังไม่ตัดโอกาสการ Lockdown แบบอู่ฮั่นโมเดล แต่เชื่อว่าจะเป็นมาตรการสุดท้ายหากการควบคุมการระบาดภายในพื้นที่ควบคุมสูงสุดไม่ได้ผล โดยเฉพาะตอนนี้ที่กรุงเทพฯ ฉีดวัคซีนเกิน 50% แล้ว ศบค.คาดว่าสถานการณ์อาจดีขึ้นภายใน
4-6 สัปดาห์

ขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าหนัก ใกล้แตะระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยอ่อนค่าลงมากที่สุดของเอเชีย ลดลงเกือบ 9% ในปีนี้เทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หลังล้มเหลวในการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักมากกว่า 10% ของ GDP หดหายไปทำให้ความต้องการเงินบาทน้อยลง ประกอบกับเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) ตั้งแต่ต้นปีไหลออกจากตลาดหุ้นไทยถึง 9 หมื่นล้านบาท ขณะที่แนวโน้ม Fund Flow รายเดือนพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามทิศทางเงินบาทและการติดเชื้อภายในประเทศ

โดยในเดือน ก.ค. 64 ต่างชาติยังคงขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเดือน มิ.ย. 64 ที่ 1 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐ 1.GDP ไตรมาส 2/64 2.Core PCE Price Index และ 3.อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed