“ทิสโก้” งัดแพลตฟอร์มรวมหนี้ เจาะ 5,000 บริษัท ช่วยปลดภาระลูกหนี้

ลูกหนี้-NPL-SMEs-หนี้เสีย

“ทิสโก้” ปั้นแพลตฟอร์ม “รวมหนี้” คาดช่วยลูกหนี้ลดภาระดอกเบี้ยได้ 3-5% เน้นเจาะฐานลูกค้าเพย์โรล 5,000 บริษัท คาดเปิดตัวไตรมาส 4 ปีนี้ ขณะที่ ธปท.ยอมรับมาตรการ “รวมหนี้” มีข้อจำกัด ล่าสุดยอดลูกหนี้เข้าโครงการ 7,000 ราย วงเงิน 5,000 ล้านบาท

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ธนาคารจะออกโปรเจ็กต์ช่วยแบ่งเบาภาระหนี้ของลูกค้าผ่านมาตรการ “รวมหนี้” (debt consolidation) ซึ่งเป็นการรวมหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน และสินเชื่อที่มีหลักประกัน เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูงปรับลดลง เป็นการแก้ปัญหาภาระหนี้ระยะยาว

โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม ที่เรียกว่า “Freedom Platform” ซึ่งจะเป็นแอปพลิเคชั่นสำหรับรวมหนี้ โดยจะเน้นกลุ่มลูกค้าที่ใช้บัญชีเงินเดือนผ่านธนาคาร (Payroll) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 4,000-5,000 บริษัท คิดเป็นฐานลูกค้าประมาณ 7 แสนราย

“เราจะใช้ช่องทางการติดต่อผ่านฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ของบริษัทต่าง ๆ เพื่อเสนอโปรแกรมการรวมหนี้ให้กับพนักงาน ซึ่งฝ่าย HR จะต้องมีการ apply แอปพลิเคชั่น “Freedom Platform” และให้พนักงานที่สนใจลดภาระหนี้แสดงความจำนงเข้ามา โดยทิสโก้จะเข้าไปให้ความรู้ทางการเงิน และพิจารณารายบุคคลว่ามีสินเชื่อหลักประกัน หรือไม่มีหลักประกันอะไรบ้าง และสามารถรีไฟแนนซ์ได้หรือไม่ โดยเสนอโปรแกรมการรวมหนี้ที่ไม่จำกัดว่าจะต้องรีไฟแนนซ์หรือรวมหนี้มาอยู่กับทิสโก้”

ที่ผ่านมาทิสโก้ได้เริ่มทดลองเป็นโครงการนำร่องไป เพื่อดูผลตอบรับและปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งจะต้องแนะนำ HR กรณีที่พนักงานเข้าโครงการจะต้องห้ามก่อหนี้ใหม่ โดยจะมีการตรวจสอบจากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) อย่างน้อย 6 เดือนต่อครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานไม่ได้ก่อหนี้เพิ่ม ขณะที่สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) จะต้องไม่เกิน 40-50% และมีความตั้งใจลดภาระหนี้เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้เป็นไปอย่างยั่งยืน และไม่เพิ่มภาระหนี้ครัวเรือนในอนาคต

“ที่ผ่านมาเราเคยทดลองกับพนักงานในเรื่องของการแก้หนี้แบบยั่งยืน โดยการปรับโครงสร้างหนี้ และให้สินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อลดภาระหนี้ พบว่าพนักงานที่เข้ารับการแก้หนี้ 400-500 คน ประมาณ 99% สามารถรอดมาได้ เราจึงจะนำแนวคิดมาปรับใช้ รวมหนี้ ลดภาระดอกเบี้ยแพงให้ถูกลง

ซึ่งหากสามารถลดภาระดอกเบี้ยลงได้เฉลี่ย 3-5% ถือว่าช่วยได้ค่อนข้างมาก ทำให้หมดหนี้เร็วขึ้น และเป็นการแก้ปัญหาหนี้แบบตรงจุด ซึ่งน่าจะได้ผลดีมากกว่าการปรับลดดอกเบี้ยอย่างเดียว เช่น แก้หนี้สหกรณ์ แก้หนี้เกษตร หรือแก้หนี้นักศึกษา” นายศักดิ์ชัยกล่าว

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยผ่านมาตรการรวมหนี้ของ ธปท.ถึงปัจจุบันมีลูกหนี้แจ้งความจำนงเข้ามาตรการทั้งสิ้นจำนวน 7,000 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อไม่มีหลักประกันประมาณ 5,000 ล้านบาท

“ถือว่าสัดส่วนค่อนข้างน้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก ธปท.กำกับเกณฑ์เบื้องต้นให้มาตรการรวมหนี้ต้องทำภายในธนาคารเดียวกัน เพราะหากรวมหนี้หลายสถาบันการเงินธุรกรรมจะมีความซับซ้อน เนื่องจากเมื่อได้รับชำระหนี้ไม่สามารถตกลงได้ว่าจะคืนหนี้ในส่วนของสถาบันเจ้าไหนก่อน หรือวงเงินจะแบ่งชำระอย่างไร เป็นต้น” นางธัญญนิตย์กล่าว

นอกจากนี้ จากการสำรวจและสอบถามสถาบันการเงิน จะพบว่าลูกหนี้รายย่อยส่วนใหญ่ที่มีหนี้มีหลักประกัน โอกาสจะมีหนี้ที่ไม่มีหลักประกันไม่สูงมาก รวมถึงใช้บริการสินเชื่อหลายสถาบันการเงิน จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่กำหนด ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมา ธปท.และสถาบันการเงินมีมาตรการออกมาช่วยเหลือลูกหนี้หลากหลายมาตรการที่ลูกหนี้แต่ละรายสามารถเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสม หรือบางสถาบันการเงินมีผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองได้ดีกว่ามาตรการรวมหนี้

“เราพยายามทำช่องทางหรือมาตรการให้หลากหลายเพื่อให้แบงก์ได้เลือกใช้ให้เหมาะสมกับลูกหนี้แต่ละราย และลูกหนี้เองจะได้มีทางเลือกในการแก้ไขหนี้และรู้ว่าควรจะไปช่องทางไหน ซึ่งการรวมหนี้เป็นอีกหนึ่งในมาตรการหลายชุดที่เราทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้ช่องทางนี้ลูกค้ามีไม่เยอะ แต่ในช่องทางอื่น ๆ ยังคงทำได้ดี” นางธัญญนิตย์กล่าว