“พักทรัพย์ พักหนี้” เร่งตัว สัปดาห์เดียวทะลักเข้าโครงการ 7 พันล้าน

โกดังพักหนี้-1

แบงก์คาดตัวเลขธุรกิจโรงแรมแห่เข้า “พักทรัพย์ พักหนี้” เร่งตัวขึ้นหลังมาตรการภาษีบังคับใช้แล้ว “กสิกรไทย” ชงลูกหนี้ลอตแรก 11 ราย เป็นกลุ่มโรงแรม “ภาคตะวันออก-ภาคใต้” ให้ ธปท.อนุมัติในสัปดาห์นี้ ฟาก “KKP” เจรจาลูกค้าเตรียมเข้าโครงการ 10 ราย เผยพอร์ตสินเชื่อโรงแรม 60% อ่วมผลกระทบโควิด ฟาก ธปท.เปิดตัวเลขล่าสุด อนุมัติกิจการเข้าพักทรัพย์ พักหนี้แล้ว 50 ราย แค่สัปดาห์เดียวแห่เข้าโครงการมูลค่าพุ่งกว่า 7 พันล้านบาท

นายชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในสัปดาห์นี้ (16-20 ส.ค.) ธนาคารคาดว่าจะยื่นให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาอนุมัติลูกค้าที่ขอเข้าโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ได้เป็นลอตแรกจำนวน 11 ราย มูลค่าทรัพย์สินที่จะโอนพักทรัพย์อยู่ที่ราว 4,000 ล้านบาท

“กลุ่มลูกค้าที่ขอเข้าโครงการส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มโรงแรมในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ เช่น ภูเก็ต สมุย เป็นต้น ส่วนในระยะถัดไปที่อยู่ระหว่างติดต่อและทยอยเจรจาก็ยังคงอยู่ในอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เช่น กลุ่มร้านอาหารขนาดใหญ่ที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เป็นต้น” นายชัยยศกล่าว

นอกจากนี้ ปัจจุบันธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูไปแล้วกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีการเบิกวงเงินต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การปล่อยสินเชื่อคงต้องเป็นไปอย่างมีความระมัดระวัง เพื่อประคองลูกค้าและธนาคารให้ผ่านพ้นสถานการณ์ปีนี้ไปให้ได้ โดยปีหน้าคาดว่าสถานการณ์ต่าง ๆ จะชัดเจนมากขึ้น

“หลังมาตรการภาษีออกมาแล้ว เชื่อว่าตัวเลขคนเข้าพักทรัพย์ พักหนี้จะทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเชื่อว่าหลาย ๆ แบงก์ก็น่าจะมีการอนุมัติกันภายในแล้ว ดังนั้น น่าจะเห็นตัวเลขภาพรวมเร่งตัวขึ้นได้” นายชัยยศกล่าว

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ถือเป็นมาตรการที่ธนาคารโฟกัสพอสมควร แม้ว่าจะไม่เป็นมาตรการบังคับ โดยตอนนี้มีลูกค้าที่เจรจาจะเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 10 ราย คิดเป็นมูลค่าสินเชื่อประมาณ 1,500-2,000 ล้านบาท ที่พร้อมจะยื่นขอให้ ธปท.อนุมัติ

ทั้งนี้ ธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อกลุ่มโรงแรมประมาณ 1 หมื่นล้านบาทที่ได้รับผลกระทบและต้องการความช่วยเหลือ อย่างไรก็ดี ลูกค้าบางรายอาจจะมองว่าการพักทรัพย์ พักหนี้ไว้ 5 ปีอาจจะนานเกินไป ธนาคารก็มีวิธีการช่วยเหลือลูกค้าผ่านวิธีการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งยืดระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป 1-2 ปี และปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตามความเหมาะสมของลูกค้าแต่ละราย

“ตั้งแต่ไตรมาส 2 เรามีลูกค้าที่จะเข้าโครงการ แต่ยังรอกฎหมายต่าง ๆ มีผลบังคับใช้อยู่ หลังกฎหมายออกมาแล้วก็น่าจะเริ่มเห็นความคืบหน้าของโครงการพักทรัพย์ พักหนี้บ้าง โดยตอนนี้มีลูกค้าตกลงจะเข้าโครงการประมาณ 10 ราย อย่างไรก็ดี ถึงแม้ไม่มีโครงการพักทรัพย์ พักหนี้พอร์ตลูกค้าโรงแรมประมาณ 50-60% เราก็ต้องช่วยลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้อยู่แล้ว” นายอภินันท์กล่าว

นางสาวดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SMEs ธนาคารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า ตอนนี้ธนาคารอยู่ในช่วงเร่งติดต่อลูกค้าและเจรจา เพื่อให้ลูกค้าแสดงความจำนงเข้าขอความช่วยเหลือตามมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ คาดว่าน่าจะเห็นความชัดเจนภายในเร็ว ๆ นี้

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวว่า ล่าสุดจนถึงวันที่ 9 ส.ค. 2564 ธปท.ได้อนุมัติโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ไปแล้วประมาณ 50 ราย คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินที่โอน 8,991 ล้านบาท (ก่อนหน้านี้ ณ วันที่ 2 ส.ค.อยู่ที่ 21 ราย มูลค่า 1,855.09 ล้านบาท) ขณะที่สินเชื่อฟื้นฟูมีการอนุมัติแล้ว 89,444 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนลูกหนี้ที่ได้รับการช่วยเหลือกว่า 29,000 ราย ในจำนวนนี้ 44% เป็นลูกหนี้ธุรกิจรายเล็ก

นอกจากนี้ ธปท.เตรียมออกมาตรการจูงใจให้สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้ช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งรายย่อยและธุรกิจเป็นระยะยาว (long term) มากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์โควิดที่รุนแรงส่งผลให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้เดิม

“คำว่าปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว คงต้องขึ้นกับแต่ละธุรกิจด้วย อย่างธุรกิจโรงแรมระยะเวลา 2-3 ปีอาจจะยังไม่พอ ส่วนร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ ถ้าสามารถคลายล็อกดาวน์ได้ก็สามารถเปิดดำเนินการได้ จึงอาจจะไม่ต้องยาวเหมือนกับโรงแรม” นายรณดลกล่าว