3 ซีอีโอ “BBL-เซ็นทรัล-เอสซีจี” ถอดประสบการณ์ “ก้าวข้ามวิกฤต”

3 ซีอีโอ บิ๊กธุรกิจ “แบงก์กรุงเทพ-เซ็นทรัลรีเทล-เอสซีจี” ถอดประสบการณ์กลยุทธ์ “ก้าวข้ามวิกฤตโควิด”  บนเวที “Thailand Focus 2021” “ชาติศิริ โสภณพนิช” สิ่งสำคัญคือช่วยลูกค้าให้รอด เผยอุตฯท่องเที่ยวโจทย์ใหญ่เศรษฐกิจไทย “ญนน์ โภคทรัพย์” ชี้โควิด “รีเซ็ต” ธุรกิจต้องปรับโมเดลหนีตาย “รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” ธุรกิจต้องเข้าใจสถานการณ์โควิดอย่างถูกต้อง  

วันที่ 25 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดงาน Thailand Focus 2021 ได้เชิญ 3 ซีอีโอธุรกิจใหญ่ประกอบด้วย นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) และ นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCG) ร่วมเสวนาในหัวข้อ “การปรับตัวของธุรกิจไทยเพื่อก้าวข้ามวิกฤต” ดำเนินรายการโดย ดร. พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร 

ชาติศิริ-สิ่งสำคัญคือช่วยลูกค้าให้รอด

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ  กล่าวว่า สถานการณ์โควิดส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วน ทั้งลูกค้าและภาคธนาคาร เช่น การปิดสาขาและปรับรูปแบบทำงาน WFH โดยที่ผ่านมาบริษัทได้ปรับตัวให้ความสำคัญที่สุดกับเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานและลูกค้า  ขณะที่ยังสามารถให้บริการได้ ส่งผลให้การทำธุรกรรมออนไลน์สูงขึ้นอย่างมาก  

โควิดได้เปิดโอกาสใหม่ให้ธุรกิจตั้งแต่บริษัทขนาดใหญ่ จนถึงผู้ค้ารายย่อยสามารถใช้ช่องทางออนไลน์ ตลอดจนการเข้าถึงลูกค้าต่างชาติ เป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลง ขณะที่พนักงานก็ต้องปรับตัวทำงานยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อให้ตอบสนองลูกค้าได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน    

สถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้หลายธุรกิจปรับตัวเพื่อความอยู่รอด รวมถึงการขายสินทรัพย์เพื่อหาเงินทุน  ขณะเดียวกันธนาคารได้ช่วยลูกค้าช่วงวิกฤตนี้ โดยการเติมสภาพคล่องให้กับธุรกิจต่าง ๆ เพื่อให้ยังสามารถจ้างงานต่อไปได้  และหากธุรกิจเริ่มฟื้นก็จะใส่เงินทุนหมุนเวียนให้สามารถกลับมาเริ่มธุรกิจใหม่ได้

นายชาติศิริ กล่าวว่า สำหรับภาคธนาคารได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่สิ่งสำคัญกว่า คือ ทำอย่างไรที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้ ธนาคารกรุงเทพมุ่งเน้นเติมสภาพคล่องให้ลูกค้าเพื่อให้ยังคงการจ้างงานต่อไป รวมทั้งมองหาโอกาสธุรกิจใหม่ๆให้ลูกค้าเดินหน้าต่อไป ซึ่งโครงการซอฟต์โลนจากธนาคารแห่งประเทศไทย และ มาตรการเศรษฐกิจต่างๆจากกระทรวงการคลัง รวมทั้งการสนับสนุนของบริษัทขนาดใหญ่รักษาซัพพลายเชนให้คงอยู่นั้นมีส่วนช่วยภาคธุรกิจได้อย่างมาก

ฟื้น “ท่องเที่ยว” โจทย์ใหญ่เศรษฐกิจไทย 

สำหรับโลกหลังโควิดนายชาติศิริกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยจะเผชิญความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะการฟิ้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยว  ซึ่งคาดว่าการเดินทางทั่วโลกจะยังไม่ฟื้นโดยเร็ว   และจะไม่เหมือนเดิม  การท่องเที่ยวที่เน้นเชิงปริมาณอาจไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป  จะต้องมุ่งเน้นไปที่การท่องเที่ยวและบริการที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ

ขณะที่ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีน และสหรัฐ อาจเข้ามาเป็นอุปสรรคทางการค้าบ้าง แต่การเร่งสร้างความร่วมมือระบบการเงินระดับภูมิภาค โดยเฉพาะระบบการชำระเงินจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้เอเชีย ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวจะเปิดโอกาสทางการค้าใหม่ทั่วภูมิภาค ทั้งหมดนี้จะเอื้อประโยชน์ หากจีนจะผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกต่อไป

อย่างไรก็ตามรัฐบาลยังสามารถพัฒนาฐานการผลิต เพื่อเป็นแหล่งผลิตสินค้าที่กำลังขาดแคลนทั่วโลก อย่างเช่น ส่วนผสมของยา ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงสายการผลิตในธุรกิจใหม่ อย่างเช่นรถพลังงานไฟฟ้า หรืออุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์

ขณะเดียวกัน ยังเน้นย้ำถึงการลงทุนของภาครัฐ เพื่อซ่อมแซมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ตั้งแต่ถนน รางรถไฟ ไปจนถึงแหล่งพลังงานต่าง ๆ รวมถึงการดูแลผู้มีรายได้ต่ำ หรือผู้ที่ต้องตกงานจากวิกฤตนี้  ซึ่งทำให้ต้องกลับบ้านเกิด โดยที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้การสร้างงาน รวมถึงการสร้างธุรกิจในท้องถิ่น

อย่างไรก็ดี ช่วงนี้ถือเป็นเวลาที่ “น่าตื่นเต้น” สำหรับนวัตกรรมทางการเงิน สำหรับระบบชำระเงินดิจิทัล และการพัฒนาระบบทางการเงิน ให้เหมาะสำหรับผู้บริโภคแต่ละคนได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการช่วยเหลือให้ธุรกิจเล็ก ๆ สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้

ญนน์-โควิด “รีเซ็ต” เศรษฐกิจและธุรกิจ

ขณะที่ นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC)กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้น เป็นความท้าทายอย่างมาก และจะทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป โดยรายได้สุทธิของทางภาครัฐและเอกชน ลดฮวบไปอย่างมาก และมีผู้คนตกงานเป็นจำนวนมาก

โดยช่วงปี 2017 ประเทศไทยเผชิญ “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” ในทุกอุตสาหกรรม  สำหรับธุรกิจค้าปลีก ผู้บริโภคเริ่มมีอำนาจมากขึ้น ในการเลือกช่องทางที่จะซื้อสินค้าหรือบริการต่าง ๆ บริษัทจึงต้องเปลี่ยนแปลงเข้ายุคดิจิทัลมุ่งสู่ Omnichannel Economy การทำตลาดแบบหลายช่องทาง เพราะลูกค้าต้องการเป็นคนควบคุมและตัดสินใจ ซึ่งแตกต่างจากสหรัฐและจีนมองว่าการทำตลาดจะมุ่งสู่ออนไลน์เท่านั้น

นายญนน์ ระบุด้วยว่าถือเป็นเรื่องดีที่โควิด-19 ไม่ได้มาก่อนหน้านั้น เพราะจะถือเป็น “หายนะ” สำหรับบริษัทอย่างมาก   และยังไม่ทราบแน่ชัดว่า โควิด-19 จะหายไปจากโลกนี้ได้หรือไม่  แต่ชัดเจนว่าโควิดได้ส่งผลให้เกิดการ “รีเซ็ต” เศรษฐกิจและธุรกิจ หลายๆบริษัทต้องมุ่งเน้นไปที่การ “ป้องกันโรค” ทำให้พนักงานมีสุขภาพดีขึ้น มากกว่าเน้นการรักษาโรคเหมือนแต่ก่อน

ในช่วงวิกฤตโควิดต้องรับมือ 2 ด้าน คือ การอยู่รอดซึ่งจะต้องปรับตัวเร็วและมีความยืดหยุ่น ขณะที่ยัง “ต้องชนะ” ความคิดที่แตกต่าง และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้ธุรกิจคงอยู่ได้ วิกฤตโควิดยังทำให้ช่องว่างระหว่างผู้นำกับผู้ตามแคบลง รวมทั้ง โควิดให้บทเรียนว่าเราไม่สามารถอยู่รอดได้คนเดียว แต่ทั้งซัพพลายเชนต้องรอดไปด้วยกัน ตั้งแต่ซัพพลายเออร์ ลูกค้า พนักงาน

สำหรับธุรกิจค้าปลีกต้องปรับสูตรการดำเนินธุรกิจใหม่ ไม่ใช่เพียงคำนึงถึง “ผลตอบแทนจากการลงทุน” แต่ต้องคำนึงถึง “อาร์โอเอ็กซ์” (Return on experience ) หรือ “ผลตอบแทนทางประสบการณ์” ที่ทั้งหัวหน้า ลูกค้า และพนักงานจะได้จากการทำงาน  พร้อมเน้นย้ำว่า ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามต้องทำงานเป็นทีม ไม่ใช่ “วันแมนโชว์” ต้องร่วมมือไปด้วยกัน เพื่อให้สามารถพลิกฟื้นหลังโควิด

รุ่งโรจน์-ต้องเข้าใจสถานการณ์โควิดอย่างถูกต้อง

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCG)กล่าวว่า ตั้งแต่ปีที่แล้ว สิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญที่สุดคือ “สุขภาพของพนักงาน” รวมถึงการเข้าใจต่อสถานการณ์โควิดอย่างถูกต้อง เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้อง จึงได้ปรับให้มีการประชุมถี่ขึ้น จากเดิมที่ประชุมทุกเดือน เปลี่ยนมาเป็นประชุมทุกสัปดาห์ด้วยระยะเวลาที่สั้นลง มุ่งพูดคุยหารือเรื่องที่สำคัญเท่านั้น

นอกจากนี้ SCG ยังได้ปรับแผนการทำงานของพนักงานทั้ง WFH และปรับการทำงานในโรงงาน เพื่อไม่ให้ซัพพลายเชนสะดุด และลดผลกระทบน้อยที่สุดหากเกิดการแพร่ระบาดเชื้อโควิด

และวิกฤตโควิดทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเทรนด์เวิร์กฟรอมโฮม บริษัทจึงได้ปรับกลยุทธ์ธุรกิจให้สอดรับกับ WFH โดยหันมาจับธุรกิจบริการซ่อมแซมปรับปรุงตกแต่งบ้าน รวมถึงบริการที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานสิ่งต่าง ๆ ที่บ้านหรือ “โฮม ยูส” ตามเทรนด์ในปัจจุบัน

พร้อมกับสนับสนุนให้พันธมิตรธุรกิจในซัพพลายเชนปรับตัวสู่วัฒนธรรมอีคอมเมิร์ซเร็วขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมก่อสร้าง การปฏิบัติต่อทุกส่วนที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานเหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัวเดียวกันโดยใช้เทคโนโลยีสนับสนุน  

นายรุ่งโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากวิกฤตนี้ เศรษฐกิจไทยจะสามารถกลับมาเติบโต เหมือนกับสหรัฐ อียู และจีนในตอนนี้ อย่างไรก็ดีบริษัทจะต้องเร่งปรับตัวอยู่ตลอดเวลา คิดเร็วทำเร็ว และต้องปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งต้องพยายามเข้าถึงกับผู้บริโภคให้ได้ในหลาย ๆ ช่องทาง