“หุ้น-บอนด์” ตีปีกรับฟันด์โฟลว์ ออร์เดอร์ต่างชาติกลับลำซื้อดันดัชนี SET

เงินบาท-ตลาดหุ้น-02

จับสัญญาณฟันด์โฟลว์ต่างชาติเริ่มทะลักเข้าไทย “บล.เอเซีย พลัส” ชี้อานิสงส์เฟดหนุนต่างชาติกลับเข้าซื้อบอนด์ไทย เผยสถิติในอดีตหลังต่างชาติซื้อบอนด์ 1 เดือน จะมีโฟลว์ไหลเข้าหุ้นตามมา คาดรอบนี้หนุน SET Index ปรับขึ้น 3.3% ขณะที่ “สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย” คาดโควิดในประเทศเริ่มดีขึ้น เป็นปัจจัยหนุนสำคัญ ฟาก “บลจ.เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์” เปิดโผ 4 โบรกฯรับออร์เดอร์ต่างชาติกลับเข้ามามากสุด

นายชาญชัย พันทาธนากิจ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่เมือง Jackson Hole เกิดขึ้น เห็นภาพ dollar index พลิกอ่อนค่าลงมา สวนทางค่าเงินในภูมิภาคและค่าเงินบาทที่พลิกกลับมาแข็งค่า จึงมองเป็นบวกกับทิศทางเงินลงทุนต่างชาติ (fund flow) ที่ยังมีโอกาสไหลเข้าตลาดหุ้นไทยในระยะนี้ โดยช่วงที่ผ่านมาสัญญาณต่างชาติเข้ามาซื้อตราสารหนี้ไทย (bond) ค่อนข้างมากโดยเฉพาะวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา มีการซื้อสุทธิในบอนด์ไทยถึงกว่า 2.1 หมื่นล้านบาท ถือเป็นระดับที่ค่อนข้างสูงอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นการซื้อมากสุดเป็นลำดับ 5 ในรอบ 5 ปีย้อนหลัง

ซึ่งจากสถิติในอดีตที่ต่างชาติเข้ามาซื้อบอนด์ไทยในลักษณะเดียวกันนี้ ภาพมักจะส่งผลบวกกับทิศทางฟันด์โฟลว์จะเข้ามาสู่ตลาดหุ้นไทย อีก 20 วันทำการถัดไป หรือประมาณ 1 เดือน โฟลว์ต่างชาติมีโอกาสไหลเข้ามาเฉลี่ยประมาณ 8,700 ล้านบาท ช่วยหนุนดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นราว 3.3% หลัก ๆ มอง 2 ธีมคือ กลุ่ม reopening และกลุ่ม global play

“ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (ณ 30 ส.ค. 2564) นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยไปกว่า 91,736 ล้านบาท โดยขายสุทธิต่อเนื่อง 7 เดือนติดต่อกัน แต่เริ่มเห็นสัญญาณการพลิกกลับมาซื้อสุทธิในเดือน ส.ค. 1,546 ล้านบาท” นายชาญชัยกล่าว

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า เห็นสัญญาณต่างชาติเข้ามาซื้อบอนด์ไทยตั้งแต่ 1-2 เดือนก่อนแล้ว แต่ที่มีมูลค่าสูงมากจะเป็นช่วงสัปดาห์ก่อน คือ วันที่ 25 ส.ค.กว่า 21,000 ล้านบาท และวันที่ 26 ส.ค.อีก 5,600 ล้านบาท โดย 60-70% เข้าซื้อบอนด์ระยะสั้น (อายุต่ำกว่า 1 ปี)

“ถือว่าสอดรับกับข่าวดีจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศที่มีแนวโน้มดีขึ้นและค่าเงินบาทแข็งค่า จึงเป็นจังหวะให้เม็ดเงินบางส่วนไหลเข้ามาเพื่อเก็งกำไร แต่คงแค่ระยะสั้นเท่านั้น” นางสาวอริยากล่าว

สำหรับทิศทางฟันด์โฟลว์หลังจากนี้คงต้องจับตาสถานการณ์ต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะการทำมาตรการคิวอี (QE tapering) ขณะที่สถานการณ์ในประเทศเริ่มดูดีขึ้น จึงช่วยหนุนปัจจัยพื้นฐานของประเทศ ซึ่งโฟลว์ที่เข้ามาส่วนใหญ่จะให้น้ำหนักปัจจัยพื้นฐานของประเทศเป็นหลัก มีโอกาสเงินไหลเข้าได้อยู่ ซึ่งปัจจุบันตลาดบอนด์ไทยโดดเด่นกว่าเมื่อเทียบประเทศเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (ณ 30 ส.ค.) นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิบอนด์ไทยกว่า 104,833 ล้านบาท จากมูลค่าการถือครองทั้งหมด 961,970 ล้านบาท โดยอยู่ในบอนด์ระยะยาว (มากกว่า 1 ปี) สัดส่วนกว่า 90%

นายประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ จำกัด กล่าวว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเห็นสัญญาณฟันด์โฟลว์ไหลเข้าบอนด์ไทยระยะสั้นค่อนข้างมาก ซึ่งอาจมีแรงคาดหวังต่างชาติจะตามเข้ามาซื้อหุ้นไทยได้เหมือนช่วงเดือน พ.ย. 2563 ทั้งนี้ การลงทุนในบอนด์ระยะสั้นแทบจะไม่ได้ดอกเบี้ย จึงสะท้อนว่าธุรกรรมดังกล่าวเป็นการเก็งกำไรค่าเงินบาท หลังพลิกกลับมาแข็งค่าสุดในเอเชีย

นอกจากนี้ อาจเป็นการเตรียมเก็บหุ้นไทย เพราะส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนในตลาดหุ้นเทียบกับตลาดตราสารหนี้ (earning yield gap) ยังอยู่ค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปีที่ 3.8% ซึ่งเป็นระดับจูงใจให้เงินไหลเข้า SET Index ต่อไปได้

“การเข้ามาซื้อรอบนี้ทำให้สถานการณ์ถือครองของต่างชาติเพิ่มขึ้น แต่ไม่มาก มีสัดส่วนที่ 27.14% ของมาร์เก็ตแคป จากระดับ 27% เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ส่วน NVDR มีสัดส่วน 5.34% ของมาร์เก็ตแคป จากระดับ 5.27% แต่ถ้าบรรยากาศในตลาดหุ้นไทยดูดีขึ้น เช่น ผ่อนคลายมาตรการแต่ละเฟส, ฉีดวัคซีนคืบหน้า, จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง, ผู้ป่วยรักษาหายอยู่ในระดับ 2-2.2 หมื่นราย ต่างชาติก็มีโอกาสเข้ามาได้อีก” นายประกิตกล่าว

นายประกิตกล่าวอีกว่า สำหรับอันดับโบรกเกอร์ที่รับออร์เดอร์ต่างชาติ ที่กลับมาซื้อมากสุด ในช่วงวันที่ 23-27 ส.ค. ได้แก่ 1.บริษัทหลักทรัพย์ เจพีมอร์แกน (ประเทศไทย) จำกัด (JPM) มูลค่าการซื้อกว่า 4,400 ล้านบาท ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันยังขายสุทธิอยู่เกือบ 2,000 ล้านบาท แปลว่ายังซื้อคืนได้ไม่เท่ากับที่ขายไป 2.บล.เกียรตินาคินภัทร (KKPS) มูลค่าการซื้อกว่า 4,100 ล้านบาท ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันยังซื้อสุทธิสูงถึง 4.5 หมื่นล้านบาท

3.บล.เครดิต สวิส (ประเทศไทย) (CS) มูลค่าการซื้อกว่า 2,300 ล้านบาท ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันขายสุทธิไป 8,500 ล้านบาท 4.บล.แมคควอรี (ประเทศไทย) (MACQ) มูลค่าการซื้อกว่า 1,000 ล้านบาท ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันขายสุทธิกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท

“ในส่วนอีก 2 โบรกฯ คือ บล.ยูบีเอส (ประเทศไทย) (UBS) และ บล.ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) (CLSA) แม้ออร์เดอร์จะอยู่อันดับที่ 24, 29 แต่ 2 บริษัทนี้มีออร์เดอร์ต่างชาติขายหุ้นไทยค่อนข้างมาก ดังนั้น นับจากนี้ต้องจับตา ถ้าต่างชาติพลิกกลับมาซื้อได้เมื่อใด หุ้นไทยก็พร้อมไปต่อ ขณะเดียวกันต้องระวังผู้กุมพอร์ตต่างชาติอย่าง KKPS ถ้ามีสัญญาณขายออก จะเป็นจุดอันตราย” นายประกิตกล่าว