SET มีความเสี่ยง เผชิญแรงขายทำกำไรในเดือน ก.ย.

เติมความคิดพิชิตการลงทุน
เอกภาวิน สุนทราภิชาติ
บล.ไทยพาณิชย์

 

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน SET ปรับขึ้นมาร้อนแรงมาก โดยขึ้นทะลุ 1,600 จุด ได้แรงหนุนจากงบฯ 2Q64 ที่ออกมาดีเกินคาดและการปลดล็อกดาวน์ โดยปัจจัยแรกที่หนุนตลาดมาจากกําไรสุทธิ 2Q64 อยู่ที่ 2.77 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 120% YOY และ 4% QOQ จากฐานตํ่า เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงที่มีการระบาดระลอกแรกของโควิด-19

โดยหุ้นกลุ่ม global cyclical ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก โลจิสติกส์ และการแพทย์ มีกำไรเติบโตโดดเด่น ในขณะที่หุ้น domestic และภาคการผลิต มีผลการดําเนินงานที่อ่อนแอ นอกจากนี้ ปัจจัยหนุนอีกประเด็นคือ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ ลดจำนวนลงต่ำกว่า 2 หมื่นรายต่อวัน, การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด ให้สามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมได้บางส่วน ภายใต้มาตรการควบคุม มีผลตั้งแต่ 1 ก.ย. รวมทั้งแผนการจัดหาและกระจายวัคซีน

จากประเด็นดังกล่าวได้สร้าง sentiment เชิงบวกให้กับการลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่เริ่มเข้ามาซื้อสุทธิ ในตลาดหุ้นไทยติดต่อกัน หนุนให้ SET Index ปรับขึ้นเหนือ 1,600 จุดได้สำเร็จ ทั้งนี้ ในเดือน ส.ค.ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิ หลังจากขายสุทธิติดต่อกัน 7 เดือน ที่ 5.4 พันล้านบาท เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ขายสุทธิ 1.7 หมื่นล้านบาท โดยมีการเพิ่มสัดส่วนการถือครองในหุ้นกลุ่มธนาคาร พลังงาน ปิโตรเครมี และขนส่ง แต่ลดการถือครองในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง และ ICT

ขณะที่ performance ของดัชนี MSCI Thailand ดีกว่า MSCI APAC ex. Japan ทั้งในช่วง 1, 3 และ 6 เดือนหลังสุด มีเพียง 12 เดือนหลังสุด ที่แย่กว่าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งนี้ ในส่วนของประมาณการกำไรปี 2564 ของ SET นั้น consensus มีการปรับขึ้น 0.28% เช่นเดียวกับไต้หวัน มาเลเซีย และฮ่องกง ที่ปรับขึ้น 2.96%, 0.73% และ 0.62% ตามลำดับ ตรงข้ามกับอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และจีน ที่ปรับประมาณการกำไรปีนี้ลง 4.50%, 1.65%, 0.67% และ 0.44% ตามลำดับ

ด้านมุมมอง SET คาดในเดือน ก.ย. กรอบบนจำกัดบริเวณ 1,655 และ 1,675 จุดตามลำดับ และตลาดมีความเสี่ยงต่อการเผชิญแรงขายทำกำไร หลังจากที่ในเดือนก่อนปรับขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ขณะที่ดัชนีขึ้นด้วยแรงหนุนด้าน sentiment มากกว่าปัจจัยพื้นฐานด้านผลการดำเนินงาน และมูลค่าที่ตึงตัว ทำให้มีโอกาสชะลอตัว โดยมองกรอบล่างอยู่ที่ 1,600 และ 1,560 จุดตามลำดับ โดยมีประเด็นติดตาม ได้แก่

1) ประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 21-22 ก.ย. ซึ่งตลาดจะหาสัญญาณต่อการดำเนินนโยบายลด QE ว่าจะเริ่มเกิดขึ้นในเดือนไหนก่อนสิ้นปีนี้ ตามถ้อยแถลง

2) แนวโน้มค่าเงินบาท ซึ่งหากกลับมาอ่อนค่า จะเป็นปัจจัยลบต่อทิศทาง fund flow ของนักลงทุนต่างชาติให้กลับมาไหลออกอีกครั้ง

3) ผลประกอบการ 3Q64 ซึ่งคาดว่ากำไรเติบโตลดลง โดยเริ่มเห็นแรงกดดันด้านต้นทุน จากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกในช่วงที่อุปสงค์ฟื้นตัว ส่งผลทําให้การส่งมอบใช้ระยะเวลานานกว่าปกติและต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งมองว่าบริษัทขนาดเล็กมีความเปราะบางและอ่อนไหวต่อต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น และการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศอย่างรวดเร็วมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่

มุมมองด้านกลยุทธ์การลงทุนแนะนําให้สับเปลี่ยนกลุ่มลงทุนจากหุ้นขนาดเล็กที่ปรับตัวขึ้นมามากแล้ว เพราะผลประกอบการฟื้นตัวดีขึ้น ไปยังหุ้นขนาดใหญ่และหุ้นที่มีอํานาจในการกําหนดราคาสูง ทั้งยังสามารถรับมือภาวะตลาดที่ผันผวน สืบเนื่องมาจากความกังวลต่อการทํา QE tapering และนโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น

นอกจากนี้ยังชอบหุ้น domestic ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเมืองมากกว่าหุ้นท่องเที่ยว เนื่องจากความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด-19 ยังสูง การเปิดประเทศต้อนรับต่างชาติอาจจะใช้เวลานานกว่าการเปิดเมือง เพื่อกลับมาดําเนินกิจกรรมภายในประเทศ อาทิ AOT CRC CPN BJC M ZEN CPW เป็นต้น

…แล้วพบกันใหม่ในคอลัมน์ฉบับหน้า ด้วยรัก และหวังดี