“ฐากร” ชี้เกมแข่งขัน “ธนาคาร-น็อนแบงก์” อุตสาหกรรมประกันสู่ “อินชัวร์เทค”

ซีอีโอเครือไทยโฮลดิ้งส์ “ฐากร ปิยะพันธ์” ชี้เกมแข่งขัน “ธนาคาร-น็อนแบงก์” แย่งชิงลูกค้า ถึงเวลาอุตสาหกรรมประกันภัย ทรานส์ฟอร์เมชั่นปรับตัวสู่ “อินชัวร์เทค” ซื้อขายจ่ายจบบนออนไลน์ เดินหน้าสู่เป้า Insurance and financial as a services

วันที่ 13 กันยายน 2564 นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TGH เปิดเผยว่า พลวัตที่เปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมการเงิน ถ้าย้อนหลังไปเมื่อ 4-5 ปีก่อน จะเป็นการทรานส์ฟอร์เมชั่นที่เกิดขึ้นในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบันกลุ่มธุรกิจ TGH ประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจประกันภัยและการเงิน ภายใต้แบรนด์ “อาคเนย์” มีอาคเนย์ประกันภัย, อาคเนย์ประกันชีวิต, อาคเนย์มันนี่ (ธุรกิจสินเชื่อ), อาคเนย์แคปปิตอล (ธุรกิจให้เช่ารถยนต์ขององค์กรชั้นนำ), และล่าสุดได้ขยายธุรกิจใหม่ “ไทย เวลเนส ลิฟวิ่ง” เกี่ยวกับเฮลท์โซลูชั่นเพื่อตอบรับสังคมสูงวัย ซึ่งจะมีการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุในอนาคตด้วย เพื่อให้ทุกคนวางแผนทางการเงินให้เกษียณอย่างมีสุข ซึ่งทุกส่วนล้วนจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีไปตอบโจทย์ต่อความต้องการของผู้บริโภคทั้งสิ้น

โดยเชื่อว่าธุรกิจประกันภัยจะเป็นอุตสาหกรรมถัดไปที่กำลังเข้าสู่ยุค “อินชัวร์เทค” และทรานส์ฟอร์เมชั่นการ “ซื้อขายจ่ายจบ” บนออนไลน์ โดยการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภคและการเปลี่ยนเทคโนโลยี 5G, IOT ที่จะเห็นชัดเจนในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ที่จะเข้ามาเชื่อมต่อกับวงการประกันภัย เช่น สมาร์ทโฮม, สมาร์ทคาร์ ซึ่งสามารถปรับสินค้าประกันภัยให้เข้าไปสู่วงจรเหล่านี้ได้ และดาต้าจะสามารถบอกความเสี่ยงเพื่อประเมินราคาเบี้ยประกันที่แตกต่างออกไปในลูกค้าแต่ละคน

“การนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจประกันเราอาจจะไม่ได้ต้องการเอาชนะคู่แข่ง แต่ต้องเอาชนะใจลูกค้าให้ได้ นั่นเป็นจุดเดียวที่ต้องมีผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ ตรงใจ และเข้าถึงได้ง่าย คุ้มค่าเงิน และเจอลูกค้าในจังหวะที่ใช่ ในช่องทางที่ใช่ ซึ่งจะเป็นการทำทรานส์ฟอร์เมชั่นเพื่อนำสิ่งเหล่านี้กลับไปถึงผู้บริโภคให้ได้เร็วที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุด ฉะนั้นต่อจากนี้การซื้อประกันจะไม่ต้องผ่านช่องทางตัวแทนหรือโบรกเกอร์สาขาธนาคารอย่างเดียว สามารถซื้อบนออนไลน์ได้ แต่ปัจจุบันยังไม่ใช่ทุกสินค้า” นายฐากรกล่าว

นอกจากนี้เกมการแข่งขันมองว่า เงินอาจจะไหลออกจากระบบสถาบันการเงินของธนาคารเข้าสู่ธุรกิจ Non-Bank เพราะเมื่อก่อนลูกค้าฝากเงินจะได้ Incentive ดอกเบี้ย แต่หลักใหญ่เป็นเรื่องความมั่นคง แต่ปัจจุบันเรากำลังจะเห็นแพลตฟอร์มต่าง ๆ พยายามหาลูกค้าให้นำเงินที่ฝากไว้ในธนาคารออกมาลงทุนหรือเก็บไว้ที่อื่นมากขึ้น ฉะนั้นจะเห็นเกมธุรกิจ non-bank พยายามชกฉวยเงินเข้ามาอยู่ในสภาพแวดล้อมของเขา นั่นจึงทำให้เราเริ่มเห็นการเติบโตของธุรกิจกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ (E-money) ในช่วง 5-6 ปี ที่เติบโตแบบ 500-600%

เหตุผลเพราะมี Incentive บางอย่างที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกอยากเอาเงินไปไว้ตรงนั้น อาจจะเป็นประสบการณ์ในการใช้จ่ายที่ดีกว่า, ซื้อของขึ้นรถได้ง่ายกว่า จึงจะเห็นการแข่งขันรูปแบบหนึ่งของธุรกิจ Non-bank เพื่อแยกชิงลูกค้าในระบบเดิมของธนาคาร เพราะฉะนั้นเราเองพยายามนำเสนอผลิตภัณฑ์และให้บริการที่ตอบโจทย์ตรงใจให้กับผู้บริโภค ซึ่งการแข่งขันคือต้องเข้าถึงข้อมูลอินไซต์ผู้บริโภค ฉะนั้นใครที่มีฐานลูกค้าเยอะจะได้เปรียบ” นายฐากรกล่าว

ปัจจุบันเราอยู่ในภายใต้กลุ่ม TCC ของท่านเจริญ สิริวัฒนภักดี ฉะนั้นมีเครือข่ายธุรกิจค่อนข้างมาก  โดยสิ่งที่พยายามทำในปัจจุบันคือ ทรานส์ฟอร์เมชั่นธุรกิจประกันและธุรกิจการเงินให้เป็น Insurance and financial as a services โดยจะเข้าไปประกบตัวเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ ในอนาคตมากขึ้น ที่จะเข้าถึงบริการของเราได้ง่าย