จับตาผลประชุมเฟดคืนนี้ หวั่น “เอเวอร์แกรนด์” ทำวิกฤตการเงินลุกลาม

ค่าเงินบาท-ดอลลาร์สหรัฐ

จับตาผลการประชุมเฟดคืนนี้ นักวิเคราะห์กังวลการผิดนัดชำระหนี้ของเอเวอร์แกรนด์จะทำให้วิกฤตการณ์การเงินลุกลาม ขณะที่เงินบาทก่อนค่าเล็กน้อย ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.39/41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ความเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 22 กันยายน 2564 ค่าเงินบาทปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 33.38/40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (21/9) ที่ระดับ 33.37/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยเงินดอลลาร์ยังคงปรับตัวแข็งค่า จากการที่นักลงทุนพากันเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ของไชน่าเอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่อันดับ 2 ของจีน ซึ่งมีกำหนดจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ 2 งวดในเดือนนี้ โดยมีกำหนดชำระดอกเบี้ยวงเงิน 83.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2,780 ล้านบาท ในวันที่ 23 กันยายน สำหรับหุ้นกู้ที่มีกำหนดครบอายุเดือนมีนาคม 2565 และมีกำหนดชำระดอกเบี้ยวงเงิน 47.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,580 ล้านบาท ในวันที่ 29 กันยายน สำหรับหุ้นกู้ที่ครบอายุเดือนมีนาคม 2567

หากเอเวอร์แกรนด์ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยเมื่อถึงวันกำหนดชำระดังกล่าว ทางบริษัทจะมีเวลาอีก 30 วันในการชำระดอกเบี้ย มิฉะนั้นจะถือว่าบริษัทผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ ซึ่งหากเอเวอร์แกรนด์ตกอยู่ในสภาพผิดนัดชำระหนี้ ทางบริษัทจะต้องทำการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งคาดว่านักลงทุนที่เข้าซื้อหุ้นกู้ของเอเวอร์แกรนด์จะได้รับส่วนแบ่งการชำระคืนในสัดส่วนต่ำ

บรรดานักวิเคราะห์กังวลว่า การผิดนัดชำระหนี้ของเอเวอร์แกรนด์จะทำให้วิกฤตการณ์ทางการเงินลุกลามออกไปจนอาจจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจส่งสัญญาณปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในการประชุมซึ่งจะเสร็จสิ้นในคืนนี้ (22/9)

ในส่วนของข้อมูลเศรษฐกิจ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านเพิ่มขึ้น 3.9% ในเดือนสิงหาคมสู่ระดับ 1.615 ล้านยูนิต สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.555 ล้านยูนิต จากระดับ 1.554 ล้านยูนิตในเดือนกรกฎาคม

อย่างไรก็ดี การเริ่มต้นสร้างบ้านยังได้รับผลกระทบจากการพุ่งขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้าง และการขาดแคลนแรงงาน นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐยังได้เปิดเผยตัวเลขขาดดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งเพิ่มขึ้น 0.5% สู่ระดับ 1.903 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2550

ก่อนหน้านี้ สหรัฐขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 1.894 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาสแรก โดยตัวเลขขาดดุลนี้เทียบเท่าสัดส่วน 3.3% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และต่ำกว่ารดับ 3.4% ในไตรมาสแรก การปรับตัวขึ้นของตัวเลขขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมีสาเหตุจากการพุ่งขึ้นของการนำเข้า ขณะที่ภาคธุรกิจพิ่มการนำเข้าเพื่อรอรับการใช้จ่ายของผู้บริโภค

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ กระทรวงการคลังประกาศขยายเพดานสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ จากเดิม 60% เป็น 70% เพื่อวัตถุประสงค์ในการระดมทุนสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระหว่างวันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.36-33.48 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.39/41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/9) ที่ระดับ 1.1718/20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดวันจันทร์ (12/9) ที่ระดับ 1.1736/38 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวตามสกุลหลักอื่นที่อ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งได้รับแรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย ต่อความกังวลในภาระหนี้ของบริษัทเอเวอร์แกรนด์ ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของจีน ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลกที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของเชื้อโวรัสโควิด-19 ในช่วงปีที่ผ่านมา

ประกอบกับความคาดหวังของนักลงทุนว่า เฟดจะมีการประกาศกรอบเวลาในการเริ่มการปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในการประชุมคืนนี้ (22/9) ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1717-1.1740 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1725/27 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/9) ที่ระดับ 109.20/22 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (21/9) ที่ระดับ 109.56/58 เยน/ดอลลาร์ ค่าเงินเยนได้รับแรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย ก่อนจะเริ่มปรับตัวอ่อนค่าหลังจาก ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ระดับราว 0% ตามความคาดหมายของตลาด

โดยบีโอเจมีมุมมองเชิงลบต่อการส่งออก และผลผลิตอุตสาหกรรม เนื่องจากการสั่งปิดโรงงานในภูมิภาคเอเชียส่งผลกระทบด้านห่วงโซ่อุปทานต่อผู้ผลิตบางราย ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.12-109.61 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.47/49 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการของยูโรโซน อังกฤษและสหรัฐในวันพฤหัสบดี (23/9) และถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดในวันศุกร์ (24/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.6/+0.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +3/+4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ