เงินหายจากบัญชี “ทิพยประกันภัย” เตรียมจ่ายเคลมธนาคารที่ซื้อกรมธรรม์ไซเบอร์

เงินบาท

เงินหายจากบัญชี “ทิพยประกันภัย” เผยเตรียมจ่ายเคลมสินไหมธนาคารที่ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยไซเบอร์ไว้กับบริษัท “ซีอีโอ” เผยในประเทศไทยพบความเสี่ยงภัยไซเบอร์เพิ่มขึ้น 30-40% แนวโน้มพุ่งทวีคูณ

ดร.สมพร สืบถวิลกุล
ดร.สมพร สืบถวิลกุล

วันที่ 20 ตุลาคม 2564 นายสมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TIPH และในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ TIP เปิดเผยว่า สำหรับกรณีที่บัญชีผู้ถือบัตรเดบิตและบัตรเครดิตของหลายธนาคารพาณิชย์ในไทยถูกแฮกนั้น เบื้องต้นหากธนาคารมีการซื้อกรมธรรม์ประกันภัยไซเบอร์ไว้ จากเหตุการณ์นี้ธนาคารดังกล่าวจะได้รับความคุ้มครองจากความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันภาครัฐได้ออกมากำหนดให้ธนาคารจ่ายเงินคืนผู้ถือบัตรภายใน 5-7 วัน จำนวนกว่า 10,000 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 130 ล้านบาท ซึ่งตามข้อมูลขณะนี้พบว่ามีบางธนาคารที่ทำประกันภัยไซเบอร์ไว้กับทิพยประกันภัย ซึ่งทางบริษัทกำลังเข้าไปดูแลความคุ้มครองส่วนนี้ให้ต่อไป

“จากสถานการณ์นี้ไม่ได้ทำให้เราต้องปรับเงื่อนไขความคุ้มครองเป็นความรับผิดส่วนแรก (Deductible) แต่อย่างใด เพราะเป็นสิ่งที่มีการคาดการณ์ไว้อยู่แล้วกับความเสี่ยงลักษณะนี้จะเกิดขึ้น และที่สำคัญตอนดีไซน์กรมธรรม์ได้มีการจับมือร่วมกับรีอินชัวรันซ์ในต่างประเทศที่มีประสบการณ์ ซึ่งได้เข้ามาเป็นผู้รับประกันภัยต่อจากทิพยประกันภัย” นายสมพร กล่าว

ทั้งนี้สำหรับลูกค้ารายบุคคลที่ถูกแฮกข้อมูลโดยไม่ได้ทำทรานแซกชั่นเอง แต่ถูกขโมยทำทรานแซกชั่น กรมธรรม์ประกันภัยไซเบอร์จะให้ความคุ้มครองกับผู้ถือกรมธรรม์ด้วย(หากมีการซื้อประกันไว้) ซึ่งปัจจุบันทิพยประกันภัยได้รณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจ เพราะวิถีชีวิตของประชาชนเปลี่ยนไปมากทั้งการซื้อขายและช้อปปิ้งออนไลน์ กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว เพราะฉะนั้นความเสี่ยงตรงนี้จะเกิดขึ้นมากโดยประชาชนทั่วไป

โดยกรมธรรม์ประกันภัยไซเบอร์ จะให้ความคุ้มครองทั้งซื้อสินค้าที่ไม่ได้รับตามเจตรมย์ (ไม่ตรงปก), สินค้าเสียหายใช้การไม่ได้ และขยายความคุ้มครองไปถึงในกรณีข้อมูลถูกแฮกระหว่างทำทรานแซกชั่น แล้วดูดเงินออกจากบัญชีธนาคาร แต่ความคุ้มครองจะมีลิมิตตามจริงไม่เกิน 10,000 บาท

ในแต่ละปีพบว่าอัตราความเสียหายจากความเสี่ยงอาชญากรรมไซเบอร์ (Cybercrime) จากทั่วโลกมีการเติบโตขึ้นเร็วมาก โดยในประเทศไทยพบว่าความเสี่ยงดังกล่าวเพิ่มขึ้น 30-40% และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ โดยอาชญากรไซเบอร์อยู่ที่ไหนก็ได้ทั่วโลก และพยายามแสวงหาช่องโหว่ทางเทคโนโลยี โดยการพัฒนารูปแบบในการโจมตีอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นอาชญากรรมไซเบอร์จึงกลายมาเป็นความเสี่ยงหลักอย่างหนึ่งของชีวิตคนในปัจจุบัน

โดยรูปแบบประกันภัยไซเบอร์ของทิพยประกันภัยในปัจจุบัน ออกแบบครอบคลุม 3 ระดับ 1.สำหรับลูกค้าองค์กร(Corporate) 2.สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอี(SMEs) และ 3.สำหรับลูกค้ารายบุคคล(Personal Cyber) ซึ่งพอร์ตเบี้ยประกันถือว่ายังมีสัดส่วนไม่มาก แต่มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นมีนัยสำคัญในลูกค้าทุกมิติ