ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐออกมาดีกว่าคาดการณ์

ภาพ : pixabay

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/11) ที่ระดับ 33.83/85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (10/11) ที่ระดับ 32.75/77 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงตามเงินสกุลหลักอื่น ๆ หลังดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อคืนที่ผ่านมา (10/11) โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้แรงหนุนหลังจากสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 6.2% ในเดือน ต.ค.เมื่อเทียบรายปี

ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2533 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.9% และสูงกว่าระดับ 5.4% ในเดือน ก.ย. โดยการพุ่งขึ้นของตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ของสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 4,000 ราย สู่ระดับ 267,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังได้แรงหนุนจากการคาดการณ์เชิงบวกในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจากสมมุติฐานที่ว่า จะมีการบังคับใช้แผนการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน มูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ที่ล่าสุด จะมีการลงนามบังคับใช้กฎหมายการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Bipartisan Infrastructure Framework – BIF) ในวันจันทร์หน้า (15 พ.ย.)

สำหรับปัจจัยภายในประเทศนั้น ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทยังได้รับแรงหนุน หลังท่าทีของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมเมื่อวานนี้ (10/11) บ่งชี้ให้เห็นถึงสัญญาณเชิงบวกในรอบหลายเดือน โดย กนง.ประเมินว่า ประเทศไทยได้ผ่านสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดมาแล้ว โดยเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ลดลง

ทั้งนี้ กนง.ได้มีมติด้วยเสียงเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ซึ่งเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 12 ติดต่อกัน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.85–32.95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.91/93 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/11) ที่ระดับ 1.1480/82 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (10/11) ที่ระดับ 1.1572/74 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างมีนัยสำคัญหลังการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ทำให้ตลาดมีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าประเทศอื่น ๆ

โดยเฉพาะทางธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ยังมีจุดยืนในการคงดอกเบี้ยระดับต่ำต่อไป ทั้งนี้ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในภูมิภาคที่มีการประกาศเมื่อวานนี้ได้แก่ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศเยอรมนีประจำเดือนตุลาคม อยู่ที่ระดับ 0.5% หากเทียบเป็นรายเดือนและอยู่ที่ระดับ 4.5% เมื่อเทียบเป็นรายปีซึ่งเท่ากับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1454 -1.1485 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1460/62 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/11) ที่ระดับ 113.95/97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (10/11) ที่ระดับ 113.19/20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อเช้าวันนี้ (11/11) ญี่ปุ่นเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิตของเดือนตุลาคม อยู่ที่ระดับ 1.2% เมื่อเทียบเป็นรายเดือนซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 0.4% สำหรับความเคลื่อนไหวในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศนั้น

ล่าสุดคณะกรรมการของกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นประกาศอนุมัติให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เข็มที่ 3 ของบริษัทไฟเซอร์เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยจะเริ่มฉีดให้กับบุคลากรการแพทย์เป็นกลุ่มแรกตั้งแต่เดือน ธ.ค.นี้ โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 113.87–114.15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 114.05/07 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ตัวเลขอัตราการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือน ก.ย. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน พ.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ของสหรัฐ (12/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.80/+0.90 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.20/-0.10 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ