“ผยง” ติดปีกกรุงไทย ต่อยอด “เป๋าตัง” ผนึก “บิ๊กดีล” พลิกธุรกิจ

ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 แม้ว่าธนาคารพาณิชย์จะมีภารกิจสำคัญในการประคับประคองลูกหนี้ให้รอดพ้นวิกฤตไปให้ได้ แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังคงต้องปรับตัวทางด้านธุรกิจไปด้วย

โดยในช่วงที่ผ่านมาของปี 2564 นี้ก็ได้เห็นการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ของผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้ไปแล้ว ล่าสุดในงานสัมมนา “Thailand 2022 Unlock Value ก้าวสู่เส้นทางใหม่ ไร้ขีดจำกัด” จัดโดย “ประชาชาติธุรกิจ” ได้เชิญ “ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย มาฉายภาพการ “unlock value” ของแบงก์กรุงไทย และภาพรวมอุตสาหกรรมเพื่อรับมือการแข่งขันที่หลากหลายมากขึ้น

“กรุงไทย” ปรับตัวสู้ดิสรัปชั่น

โดย “ผยง” เล่าถึงการปรับตัวที่ผ่านมาว่า ย้อนหลังกลับไป 5-7 ปีก่อนเทรนด์ดิจิทัลดิสรัปชั่นเริ่มเข้ามา ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนหลายเรื่อง ซึ่งกรุงไทยก็ต้องปรับตัวเพราะตอนนั้นยังล้าหลังกว่าคนอื่น

และอีกสิ่งที่เห็นคือ เทรนด์เปลี่ยนโมบายแบงกิ้งเข้าไปสู่โอเพ่นแบงกิ้ง และโอเพ่นแพลตฟอร์ม ทั้งหมดนี้จึงนำไปสู่การตัดสินใจลงทุนปรับระบบ สร้างแพลตฟอร์ม Krungthai NEXT ขึ้นมา เป็นโมบายแบงกิ้งระบบปิด และมองไปข้างหน้าเห็นว่าต้องไปสู่โอเพ่นแพลตฟอร์ม โอเพ่นแบงกิ้งและโอเพ่นดาต้า จึงตัดสินใจเดินยุทธศาสตร์คู่ขนาน คือ ทำทั้งระบบปิดและระบบเปิด

“การปรับเปลี่ยน เราเชื่อว่าโลกจะเกิดขึ้น 2 มิติพร้อม ๆ กัน เพราะคนที่เป็น Gen X ต้องใช้เวลาการปรับเปลี่ยน หรือกลุ่มผู้สูงอายุต้องใช้เวลาปรับเปลี่ยน แต่คนรุ่นใหม่ต้องเปลี่ยนเลย จึงเป็นที่มาให้เราเดินทั้งระบบ Krungthai NEXT ที่เป็นระบบปิด และเป๋าตังที่เป็นระบบเปิด”

ทั้งนี้ เดิมกรุงไทยเริ่มทำแอป “เป๋าตัง”โดยตั้งใจจะทำเป็นแทรเวลการ์ด (เติมเงินสำหรับการเดินทาง/ท่องเที่ยว) ใช้คอนเซ็ปต์จากประเทศจีน แต่บังเอิญรัฐบาลที่เป็นหนึ่งในลูกค้าหลักของแบงก์อยากเริ่มต้นในเรื่องบัตรสวัสดิการ แบงก์จึงปรับลุกและความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีให้รองรับ

“เราเข้าไปตอบโจทย์การส่งผ่านระบบชำระเงินที่เรียกว่า ดิจิทัลเพย์เมนต์ซูเปอร์ไฮเวย์ทุกตำบลทั่วประเทศไทย จนเกิดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และเมื่อระยะเวลาผ่านไป เมื่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงนำไปสู่โครงการชิม ช้อป ใช้ นี่เป็นจุดเริ่มต้น และเมื่อเกิดโควิด-19 ก็ตอกย้ำการใช้เทคโนโลยี เรามีความพร้อมแล้วก็ขยายส่วนนั้นเพื่อไปตอบโจทย์ลูกค้าในมิติอื่น ๆ ทั้งด้านการเงิน สุขภาพ การส่งผ่านความช่วยเหลือได้ทั้งหมด”

ต่อยอดเป๋าตังตอบโจทย์ลูกค้า

โดย “ผยง” บอกว่า หลักคิดของการขับเคลื่อนแอปเป๋าตังมีด้วยกัน 4 ขั้นตอน คือ 1.ต้องมีแพลตฟอร์ม คือ เป๋าตัง หรือถุงเงิน และมีไลน์คอนเน็กต์

2.ทำให้คนเข้ามาอยู่ในระบบ ซึ่งตอนนี้มีคนเข้ามาอยู่ในระบบโมบายแพลตฟอร์มของกรุงไทย (ไม่รวมเว็บไซต์) แล้ว 37-38 ล้านคน แต่ถ้ารวมเว็บแพลตฟอร์มจะเกือบ 50 ล้านคน แบ่งเป็น Krungthai NEXT ราว 12-13 ล้านคน แอปเป๋าตัง 33 ล้านคน แอปถุงเงิน 1.5 ล้านร้านค้า และบนไลน์คอนเน็กต์อีก 16 ล้านคน

3.ต้องสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับคนที่เข้ามาอยู่ในระบบ ซึ่งนำมาสู่การมีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพิ่มขึ้นอีกมากมาย

และ 4.ตอบโจทย์ลูกค้าตรงจุดและตรงประเด็น เช่น มีฟู้ดดีลิเวอรี่ถึง 2 รายเข้ามาร่วมสามารถลงทุนในพันธบัตร หุ้นกู้ดิจิทัล และเทรดทองผ่านมือถือได้ ส่วนแอปถุงเงินได้ร่วมมือกับ AIS (บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส) ให้ร้านค้าสามารถรับพอยต์ (คะแนน) จากผู้ใช้มือถือของ AIS ได้ทั่วประเทศ

บิ๊กดีลพันธมิตรใหม่พลิกธุรกิจ

ส่วนภารกิจต่อไปของแอปเป๋าตังจะมุ่งเน้นต่อยอดคู่ค้าของลูกค้า เพราะเชื่อว่าอนาคตจะเชื่อมโยงด้วยกิจกรรมทางเทคโนโลยีและเป็นเรียลไทม์ ซึ่งเมื่อเกิดกิจกรรมดังกล่าวจำเป็นที่จะเชื่อมโยงระบบนิเวศ (ecosystem) ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง B2B, B2C หรือแม้กระทั่งภาครัฐเอง G2B, G2C เป็นต้น

“เราก็เร่งทำงานกับพันธมิตรในการที่จะขยายพลานุภาพของแพลตฟอร์มที่วันนี้มีความสมบูรณ์ในระดับหนึ่ง ecosystem ที่มีการเชื่อมโยงตอบโจทย์ชีวิตประจำวัน เป็นภารกิจที่จะต่อยอดให้กับกลุ่มลูกค้าของเรา”

ทั้งนี้ อีก 2 สัปดาห์กรุงไทยจะเปิดตัวร่วมลงทุนกับพันธมิตรรายใหญ่ที่จะนำไปสู่ความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงรุนแรงและรวดเร็วหรือเป็นโลกใหม่ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงในทุกด้านทั้งการปฏิรูปและปรับเปลี่ยนกรุงไทย

โดยจะทำให้ธุรกิจพลิกหน้ามือเป็นหลังมือได้เลยทีเดียว ภายใต้ยุทธศาสตร์เรือเร็วหรือ speedboat เป็นการไปหาธุรกิจใหม่ ๆ ทั้งนี้ การร่วมทุนจะอยู่ภายใต้บริษัทลูกของกรุงไทยที่อยู่ในรูปโฮลดิ้ง คือ บริษัท กรุงไทยแอดไวซ์เซอรี่ จำกัด (KTBA)

“ในระยะข้างหน้าจะเห็นบริษัทใหม่ ๆ แตกขึ้นมาอีกจากโฮลดิ้งที่มีอยู่แล้วเพื่อหาการเติบโตใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารพูดมาโดยตลอดภายใต้ speedboat ซึ่งหน้าที่ของ speedboat คือการไปหาแผ่นดินใหม่ ๆ ไปหาธุรกิจใหม่ ๆ ลองผิดลองถูก”

โลกยุคใหม่แบงก์ต้องกล้าเปลี่ยน

“ผยง” กล่าวว่า ปัจจุบันทุกแบงก์ปรับเปลี่ยนหมด ทุกแบงก์ต้องการฉกฉวยวิกฤตให้เป็นโอกาส ซึ่งกรุงไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยทุกคนมีจุดแข็งต่างกันจึงพยายามยึดโยงจุดแข็งของตัวเองหรือเรียกว่า ใช้ดิสรัปชั่นให้เป็นโอกาส

ซึ่งกระแสดิจิทัลที่เข้ามาเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก เป็นยุคของดิสรัปชั่น ทั้งวิกฤตและโอกาสมาพร้อมกัน โดยมุมของระบบแบงก์มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน มีฐานลูกค้า กระทั่งหยั่งรากลงไปในระบบเศรษฐกิจ ทำให้ไม่สามารถที่จะหยุดทิ้งตรงนั้นแล้วไปจินตนาการของใหม่ทั้งหมดได้เลย

“ตัวเรา (แบงก์) ไม่ได้เบา เราแบกหน้าผา NPL (หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้) อยู่ 2 ล้านล้านบาท นี่คือสิ่งที่เป็นภารกิจของสถาบันการเงินที่ต้องเดินต่อไป และทำให้ทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศก้าวผ่านช่วงนี้ไปให้ได้

ขณะเดียวกัน เราก็ตระหนักว่าจะมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีวิธีคิดใหม่ ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีมาเป็นพลานุภาพ แล้วตัวเขาก็เบา ซึ่งเขาจะเข้ามาตอบโจทย์ในสิ่งที่ลูกค้าอยากจะให้เกิดการตอบโจทย์และยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเต็มที่”

ปัจจุบันแบงก์ก็ต้องแข่งขันกับผู้เล่นใหม่ ๆ ที่เข้ามามากขึ้น ซึ่งจะเห็นว่าเส้นแบ่งระหว่างสถาบันการเงินกับผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่แบงก์ (น็อนแบงก์) คลุมเครือขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีทั้งน็อนแบงก์และแบบไม่มีตัวตนเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาด้วยประสิทธิภาพของเทคโนโลยี ซึ่งจะมีผลต่อระบบธนาคารพาณิชย์และเงินในระบบจะหมุนเร็วขึ้นอย่างมาก เพราะในโลกของใหม่สามารถโอนเงินไปที่ไหนก็ได้ และที่สำคัญคือโอนทั้งเงินและหลักทรัพย์ไปพร้อม ๆ กันได้

“ทั้งหมดนี้คือความท้าทายที่แบงก์จะต้องปรับทั้งในเรื่องระบบ บุคลากร กระบวนการทำงาน และที่สำคัญจะต้องบริหารจัดการกฎเกณฑ์กติกาที่อาจมีความคลุมเครือมากขึ้นและความท้าทาย ท้ายที่สุดยังเป็นเรื่องของคนด้วย ถ้าระบบแบงก์ไม่สามารถยกระดับทักษะ (skill) ของบุคลากรให้ตอบโจทย์ยุคดิจิทัลได้ก็คงจะเป็นเรื่องยากที่จะปรับเปลี่ยน ทั้งหมดนี้เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด ต้องกล้าเปลี่ยน ใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส” กรรมการผู้จัดการใหญ่แบงก์กรุงไทยย้ำทิ้งท้าย