รื้อกฎหมายคุมเงินคริปโท ก.ล.ต.-ธปท.รับมือธุรกิจโหนกระแส

คริปโต

ธปท.-ก.ล.ต.-คลัง ผนึกกำลังยกระดับคุมเข้มสกุลเงินดิจิทัล “เหรียญคริปโท” เตรียมรื้อใหญ่กฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัลปกป้องนักลงทุน ธปท.ประกาศ “ไม่สนับสนุน” ใช้ชำระสินค้าและบริการ ออกแนวกำกับดูแลเพิ่ม “อสังหาฯ-สายการบิน-โรงพยาบาล- รถยนต์-ร้านกาแฟ” เกาะกระแสรับชำระคริปโท “ททท.” ร่วมวงออกเหรียญดิจิทัล ด้าน ตลท.ขยับขอใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกระแสความร้อนแรงของ “สกุลเงินดิจิทัล” อย่างคริปโทเคอร์เรนซี (cryptocurrency) ที่ได้รับความสนใจจากนักเก็งกำไรคนรุ่นใหม่อย่างมาก ซึ่งข้อมูลจากสำนักคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มียอดเปิดบัญชีซื้อขายอยู่ที่ 1.64 ล้านบัญชี (สิ้น ก.ย. 2564) ขณะที่มูลค่าการซื้อขายแต่ละสัปดาห์หลายหมื่นล้าน หรือเกือบ ๆ แสนล้านบาท

ขณะเดียวกันก็มีภาพของตลาดซื้อขายคริปโท สร้างอีโคซิสเต็ม จับมือพันธมิตรธุรกิจต่าง ๆ ทั้งอสังหาฯ ค้าปลีก สายการบิน ร้านกาแฟ โรงพยาบาล รถยนต์ เปิดรับชำระสินค้าและบริการด้วยคริปโทสกุลเงินต่าง ๆ ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกมาส่งสัญญาณเตือนถึงการยกระดับการกำกับดูแล

ธปท.-ก.ล.ต.-คลังผนึกกำลัง

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า เรื่องการกำกับสินทรัพย์ดิจิทัล อย่างคริปโทเคอร์เรนซี รวมถึงสเตเบิลคอยน์ (stablecoin) ในช่วงที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้มีการหารือกับ ธปท.และ ก.ล.ต.อย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะมีการยกระดับการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น ทั้งในด้านของการลงทุนหรือซื้อขาย รวมถึงในส่วนของการนำมาใช้ในการรับชำระสินค้าและบริการ ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการวางแผน แต่เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้ตลาดคริปโทมีความร้อนแรงมากขึ้น รวมถึงมีกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ โดดเข้ามาร่วมในการรับชำระค่าสินค้าและบริการมากขึ้น จนทำให้ ธปท.ออกมาส่งสัญญาณเตือนไม่สนับสนุนให้ใช้ชำระสินค้าและบริการ

ทั้งนี้เนื่องจาก “สินทรัพย์ดิจิทัล” ภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 วัตถุประสงค์หลักก็เพื่อใช้รองรับเรื่องการลงทุน อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็ไม่ได้เขียนห้ามเรื่องการชำระสินค้า แต่แบงก์ชาติในฐานะผู้กำกับระบบการชำระเงิน มองเห็นถึงความเสี่ยงก็ออกมาส่งสัญญาณ

โดยขณะนี้กำลังเร่งหารือถึงแนวทางกำกับ ซึ่งต้องยอมรับว่าจากเทคโนโลยีบล็อกเชนทำให้นวัตกรรมทางการเงินมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก เป็นความท้าทายของหน่วยงานกำกับต้องมีการปรับเพื่อให้ทันการเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม คงไม่ใช่การปิดกั้น แต่จะต้องมีการกำกับเพื่อดูแลเสถียรภาพของระบบการเงิน รวมถึงการปกป้องนักลงทุนไม่ให้ถูกเอาเปรียบ

“เนื่องจากกฎหมายที่ออกมาเมื่อปี 2561 นั้นเป็นการเขียนตามหลักการ ซึ่งตอนนี้ก็มีการพิจารณาแก้ไข สิ่งที่ผู้กำกับดูแลพยายามกำกับ คือ สร้างความเป็นธรรม และป้องกันนักลงทุน เพราะหากปล่อยไปจะมีปัญหาเหมือนที่เกิดขึ้นในสหรัฐ ในฐานะผู้กำกับจะต้องดูว่ามีประโยชน์กับเศรษฐกิจและประเทศชาติหรือไม่ ซึ่งตอนนี้กำลังไล่เรียงดูเรื่องกฎหมายกันอยู่”

ธปท.แตะเบรกคริปโท

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ได้ติดตามการนำสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโทเคอร์เรนซีมาใช้ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งเพื่อการลงทุนและการพัฒนานวัตกรรมการให้บริการทางการเงิน รวมถึงการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ในรูปแบบที่เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการที่คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

พร้อมย้ำว่า ธปท.ไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากราคาสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนสูง ทั้งยังมีความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน ที่จะส่งผลต่อผู้ประกอบธุรกิจ รวมถึงผู้ใช้บริการให้ได้รับความเสียหาย และหากมีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลใช้ชำระค่าสินค้าและบริการในวงกว้าง อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการชำระเงิน และระบบการเงินของประเทศ และความเสียหายแก่สาธารณชนทั่วไปได้

นอกจากนี้ ธปท.ระบุด้วยว่า ธปท.ร่วมกับ ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณารูปแบบการกำกับ ดูแลการให้บริการรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อจำกัดความเสี่ยงข้างต้น ขณะที่ยังให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยของระบบการชำระเงิน รวมถึงการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินโดยรวม

ก.ล.ต.เร่งรื้อเกณฑ์กำกับ

ขณะที่นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า ก.ล.ต.อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น (hearing) ร่างประกาศเกี่ยวกับการกำกับดูแลผู้ให้บริการ กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล ที่รับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (DA custodial wallet provider) และการให้บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล (wallet) ของลูกค้า

รวมทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์ การเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้า เพื่อให้การกำกับดูแลการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นไปอย่างเหมาะสม มีมาตรฐานที่ดี และทรัพย์สินของลูกค้ามีความปลอดภัยมากขึ้น รวมทั้งป้องกันการถูกใช้เป็นเครื่องมือกระทำความผิด ซึ่งจะรับฟังความคิดเห็นไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.นี้

นอกจากนี้ ก.ล.ต.ได้เข้าหารือกับตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เพื่อหารือถึงแนวทางการประสานงานในการสืบสวนและตรวจสอบการกระทำผิดเกี่ยวกับตลาดทุนและสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะในกรณีที่มีผลกระทบในวงกว้างต่อประชาชนและสังคม

โดยจะเริ่มทำงานเชิงรุกในกรณีที่อาจเข้าข่ายการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ที่การซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีมีความผันผวนสูงมากช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการติดตามผู้ถูกกล่าวหาที่หลบหนีการกระทำผิด เพื่อนำตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย เนื่องจากที่ผ่านมามีกลุ่มนักลงทุนเข้ามาร้องเรียนเรื่องที่เกิดความเสียหายจากการซื้อขายคริปโทมากขึ้น ในลักษณะต่าง ๆ รวมถึงลักษณะปั่นราคา

ตลท.รุกศูนย์ซื้อขายคริปโท

ขณะที่นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า แผนการทำงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2565 จะทำตัวเป็นแพลตฟอร์มมากขึ้น ขณะนี้ ตลท.กำลังขอใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset exchange) จาก ก.ล.ต. เพื่อขยายขอบเขตการดำเนินงานให้ครอบคลุมขึ้น

“สิ่งที่ ตลท.กำลังจะทำ คือ ทำให้คนที่มีสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น คริปโทเคอร์เรนซี อยากจะกระจายความเสี่ยงสินทรัพย์ สามารถเปลี่ยนจากคริปโทเคอร์เรนซีมาเป็นสกุลเงินต่าง ๆ และนำเงินมาซื้อหรือลงทุนในตลาดทุน เช่น ตลาดหุ้นไทยหรือตลาดอื่น ๆ ได้สะดวกขึ้น ตรงนี้มากกว่า ที่เราจะเป็นจุดเชื่อมต่อในการให้บริการของตลาดหลักทรัพย์ฯ กับตลาดคริปโทเคอร์เรนซี แต่ไม่มีนโยบายจะเข้าไปเป็นตลาดแลกเปลี่ยนซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล” นายภากรกล่าว

ททท.ร่วมวงออกเหรียญคริปโท

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.ประเมินว่าหลังวิกฤตโควิด ภาคการท่องเที่ยวทั่วโลกจะหันไปโฟกัสในเรื่อง “ดิจิทัลทัวริซึ่ม” มากยิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์นักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ และประเทศไทยก็ต้องไปตามทิศทางของโลก โดย ททท.มีแผนจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อก้าวสู่ดิจิทัลทัวริซึ่ม และสร้างโอกาสใหม่ ๆ

รวมถึงได้เริ่มทำศึกษาข้อมูล ความเป็นไปได้ในการใช้สกุลเงินดิจิทัล หรือคริปโทเคอร์เรนซี มาใช้รับการชำระสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวในประเทศ เนื่องจากมองว่ากลุ่มที่ใช้สกุลเงินดิจิทัลเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง รวมถึงมีการออกเหรียญดิจิทัลของ ททท. เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในอนาคตด้วย

อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างยังอยู่ในแผนและขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ หากสามารถทำได้ตามแผน ททท.จะเปิดรับผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเข้ามาร่วมลงทุน รวมถึงเปิดกว้างให้สมาคมท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุนด้วย

“เจฟินคอยน์” สร้างอีโคซิสเต็ม

นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันธุรกิจต่าง ๆ ประกาศนำคริปโทเคอร์เรนซีใช้แลกเปลี่ยนสินค้า สะท้อนว่าธุรกิจเริ่มเรียนรู้และเข้าใจมากขึ้นว่าจะนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในธุรกิจอย่างไร ซึ่งคริปโทเคอร์เรนซีถือเป็นเครื่องมือในโลกบล็อกเชนที่ง่ายที่สุด ด้วยการนำ “โทเค็น” มาแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งกระแสบูมมาจากราคาเหรียญคริปโทแรงขึ้น และธุรกิจมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น

“เรามีเจฟินคอยน์ใช้ในอีโคซิสเต็มของเจมาร์ท เช่น นำไปใช้แลกส่วนลด และแลกซื้อมือถือ และในต้นปีหน้าจะไปร่วมกับกลุ่มบริษัทบีทีเอส เพื่อขยายอีโคซิสเต็มของเจฟินคอยน์ให้ใหญ่ขึ้น ไม่นับที่ไปร่วมกับเดอะมอลล์ ขณะที่บริษัทอื่น ๆ ก็เริ่มตื่นตัว เช่น แสนสิริมีสิริฮับโทเค็น หรืออนันดาฯให้ใช้คริปโทจ่ายค่าบ้าน หรืออาร์เอส ที่จะออก Popcoin Token ต้นปีหน้า บริษัทต่าง ๆ เริ่มมองเห็นโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากสินทรัพย์ดิจิทัล ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ดี ทั้งเพื่อดิสรัปต์ตนเองไปสู่โลกดิจิทัล หรือเป็นกิมมิกทางการตลาดมากกว่าที่จะคาดหวังว่าจะกระตุ้นให้คนหันมาใช้คริปโทซื้อสินค้า และบริการ เพราะผู้ที่ลงทุนคริปโทส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นการลงทุนมากกว่า”

“ห้างดัง-สินค้า” เกาะเทรนด์

นางสาววรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า เดอะมอลล์จับมือกับบิทคับ พร้อมพันธมิตรหลายวงการเพื่อรุกตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล โดยนำคริปโท 7 สกุลเหรียญ มาแลกเป็นสินค้าหรือบัตรกำนัลในห้างและศูนย์ โดยสมาชิก M CARD ใช้สินทรัพย์ดิจิทัลมูลค่า 100 บาท แลกได้ 800 M POINT เพื่อไปแลกเป็นสินค้าหรือบัตรกำนัลได้ถึง 28 ก.พ. 2565 ทั้งลงทุนร่วมกับบิทคับ เปิด BITKUB M SOCIAL เป็นคอมมิวนิตี้ของผู้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล

ด้านนายพงศธร จันทวิมล ผู้ก่อตั้งชุมชนคนคริปโตฯ ซีคอนศรีนครินทร์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาบริษัทเปิดตัว The Moon Crypto & NFT Cafe Physical Space เป็นคาเฟ่ที่ใช้จ่ายผ่านสกุลเงินดิจิทัลแห่งแรก เพื่อสร้างคอมมิวนิตี้สำหรับคนรุ่นใหม่ให้มาสัมผัส และเรียนรู้โลกคริปโทกับผู้รู้ และที่ผ่านมาจัดโปรโมชั่น “ซีคอน โปรดี๊ดี สำหรับผู้ถือ NFT” ร่วมกับร้านค้าภายในศูนย์จัดโปรฯสำหรับผู้ถือ NFT ให้เปลี่ยนพอยต์เป็นบิตคอยน์ใช้ในร้านค้าที่ร่วมรายการ ได้รับการตอบรับจากกลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงต้นปีโรงภาพยนตร์ซีนีเพล็กซ์ ร่วมกับแรปพิดช์ (Rapidz) ผู้ให้บริการระบบบริหารการรับแลกสินค้า และบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล และซิปแม็กซ์ (Zipmex) เปิดให้ใช้บิตคอยน์แลกรับตั๋วหนังที่เมเจอร์ รัชโยธิน เช่นเดียวกับแบรนด์รองเท้า “นันยาง” ก็ประกาศรับ 3 สกุลเงินดิจิทัลในการซื้อผลิตภัณฑ์นันยาง ทั้งรองเท้าแตะและรองเท้าผ้าใบบนช่องทางออนไลน์ รวมไปถึงร้านกาแฟ “คลาส คาเฟ่” ก็ประกาศว่า ทุกสาขาจะงดรับเงินสด และเริ่มรับเงินสกุลคริปโท

คริปโทซื้อลัมโบร์กินี-รถนำเข้า

ในส่วนของธุรกิจค้าปลีกรถยนต์ เริ่มนำรูปแบบของการชำระและซื้อสินค้า-บริการผ่านเหรียญดิจิทัลให้เห็นเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้นำเข้ารถยนต์อิสระจากต่างประเทศ อย่างกลุ่ม “Spyder Auto Import” ที่ประกาศให้ลูกค้าที่ซื้อรถยนต์ชำระค่าซื้อรถด้วยเงินดิจิทัล 9 สกุลผ่าน Bitkub

เช่นเดียวกับกลุ่มเรนาสโซ มอเตอร์ ตัวแทนจำหน่ายซูเปอร์คาร์ “ลัมโบร์กินี” ร่วมกับแพลตฟอร์ม Zipmex เลือกการชำระเงินในการซื้อรถยนต์ลัมโบร์กินีได้ รวมถึงบริษัทบีอาร์จี กรุ๊ปที่เข้าร่วมงานมอเตอร์เอ็กซ์โปในขณะนี้ก็เปิดรับชำระด้วยคริปโทด้วยเช่นกัน

บจ.แห่ขึ้นขบวนสินทรัพย์ดิจิทัล

ข้อมูลจากบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุว่า มีบริษัทจดทะเบียนไทยประกอบธุรกิจเกี่ยวข้องกับคริปโทเคอร์เรนซี 4 ประเภท คือ 1.บริษัทที่ทำ ICO portal (ผู้ให้บริการโทเค็น) ทำหน้าที่คล้ายที่ปรึกษาทางการเงิน ตรวจสอบข้อมูลการออก ICO ของบริษัทที่เสนอขายโทเค็นและเก็บรักษาทรัพย์สินของผู้ลงทุน ได้แก่ 1.ธนาคารกสิกรไทย (คิวบิกซ์ ดิจิทัล แอสเซท) 2.ธนาคารไทยพาณิชย์ (โทเค็น เอ็กซ์) 3.บมจ.เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล (XPG) 4.บมจ.จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น (JTS) 5.บมจ.คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (CGH)

2.บริษัทที่รับคริปโทเคอร์เรนซี ใช้ชำระสินค้าบริการ อาทิ บมจ.แสนสิริ, บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์, บมจ.เอสซี แอสเสท, บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้, บมจ.แอสเซทไวส์, บมจ.เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์, บมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป, บมจ.อาร์เอส และกลุ่มอื่น ๆ เช่น บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (ร้านกาแฟอินทนิล), บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, บมจ.เจ มาร์ท, ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, บมจ.เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์

3.บริษัทที่เข้าไปลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีโดยตรง อาทิ บมจ.บรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป และ 4.บริษัทที่เข้าไปลงทุนขุดเหรียญ bitcoin อาทิ บมจ.จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น (JTS) เป็นต้น