เช็กกระแส SSF โค้งสุดท้าย บลจ.แห่เปิดกองใหม่ก่อนสิ้นปี

โค้งสุดท้ายก่อนจะจบปี 2564 สถานะของกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) มีเงินไหลเข้ามากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเป็นกองทุนเพื่อการลดหย่อนภาษี ที่มักจะขายดีในช่วงใกล้สิ้นปี และในช่วงครึ่งปีหลัง จึงเห็นภาพการเปิดกองใหม่มากขึ้นด้วยเช่นกัน

ลุ้นเงินไหลเข้ามากกว่าปีก่อน

โดยข้อมูลจาก บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่าปัจจุบันมูลค่าทรัพย์สินของกองทุน SSF อยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท (ณ 30 พ.ย. 2564) เพิ่มขึ้น 8.8% จากไตรมาส 3

และเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2563 อยู่ 48% ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-พ.ย.) มีเงินไหลเข้าสุทธิสะสม 6,600 ล้านบาท ซึ่งหากมองย้อนไปปีที่แล้วที่มีเงินไหลเข้าสะสมราว 1 หมื่นล้านบาทในช่วงครึ่งปีหลัง

ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ปีนี้จะมีเงินไหลเข้าสูงกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากยังเหลือเวลาในเดือน ธ.ค.ที่มักจะเป็นเดือนที่มีเม็ดเงินไหลเข้ากองทุนประหยัดภาษีสูงสุด โดยในเดือน ธ.ค.ปีที่แล้วมีเงินไหลเข้ารวม 8,400 ล้านบาท

กองทุนต่างประเทศฮอต

ข้อมูลจากมอร์นิ่งสตาร์ยังชี้ว่า กลุ่มหุ้นโลก (global equity) เป็นกลุ่มที่ได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงที่ผ่านมา มีเงินไหลเข้าสุทธิ 2,400 ล้านบาท ทำให้กองทุนกลุ่มนี้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 7,100 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากสิ้นปี 2563

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มกองทุนต่างประเทศกลุ่มอื่นที่มีการเติบโตสูงด้วย เช่น กองทุนหุ้นจีน กองทุนหุ้นสหรัฐ กองทุนหุ้นเทคโนโลยี ซึ่งมีการเติบโตถึง 100%-200% จากสิ้นปีที่แล้ว ทำให้ภาพรวมการลงทุน SSF ที่ไปลงทุนในต่างประเทศสูงขึ้น

ขณะที่กลุ่มกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ (equity large-cap) มีเงินไหลเข้า 1,300 ล้านบาท หรือราวครึ่งหนึ่งของกลุ่ม global equity แต่โดยรวมยังเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและเป็นเพียงกลุ่มเดียวที่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมสูงกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของกองทุน SSF

บลจ.แห่เปิดกองใหม่ครึ่งปีหลัง

จากข้อมูลยังพบว่า ล่าสุด มีกองทุน SSF เปิดใหม่ในปีนี้ รวมแล้ว 50 กองทุน แต่ส่วนใหญ่เป็นการเปิดขายกองทุนในช่วงครึ่งปีหลังถึง 42 กองทุน และมักเป็นการลงทุนหุ้นต่างประเทศตามเทรนด์การลงทุนในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

ซึ่งกองทุนหุ้นจีนมีเงินไหลเข้าสูงสุด (เฉพาะกลุ่มกองทุนเปิดใหม่) มูลค่ารวมกว่า 500 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเงินไหลเข้ากองทุน K China Equity-SSF ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย และ Bualuang China Equity SSF ของ บลจ.บัวหลวง

ผลตอบแทนสูงสุด 39.2%

ทั้งนี้ มอร์นิ่งสตาร์ชี้ว่า กองทุนที่ให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปีสูงสุด (ณ 3 ธ.ค.2564) คือ กองทุน ASP-SME-SSF ของ บลจ.แอสเซท พลัส อยู่ที่ 37.82% ตามมาด้วยกองทุน TISCOMS-SSF ของ บลจ.ทิสโก้ ให้ผลตอบแทนที่ 31.77%

ถัดมา TSF-SSF จาก บลจ.ทิสโก้ ให้ผลตอบแทนที่ 27.03% กองทุน KKP TECH-H-SSF จาก บลจ.เกียรตินาคินภัทร ให้ผลตอบแทนที่ 26.18% นอกจากนี้ ยังมีกองทุน SCBS&P500-SSF จาก บลจ.ไทยพาณิชย์ ที่ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 25.87% ตามลำดับ ซึ่งปีนี้ถือว่าเป็นปีที่กองทุนหุ้นไทยขนาดกลาง-เล็ก สามารถสร้างผลตอบแทนได้โดดเด่น (ดูตาราง)

เศรษฐกิจฟื้นหนุนคนลงทุน

ด้าน “ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ทาลิสเปิดเผยว่า กองทุน SSF ปีนี้ค่อนข้างได้รับความนิยมมากขึ้นกว่าปีที่แล้วที่มีทั้งเรื่องของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนไม่กล้าที่จะใช้จ่าย

หรือนำเงินไปลงทุนมากนัก แต่พอมาปีนี้หลังจากที่เศรษฐกิจเริ่มเข้าที่เข้าทาง รวมถึงคนเริ่มต้องการประหยัดภาษี ทำให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่เริ่มนำเงินออกมาลงทุนมากขึ้น

“แม้ปีนี้จะเห็นว่า มีเม็ดเงินไหลเข้ากองทุน SSF เพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่ก็มาจากกองที่ไปลงทุนในต่างประเทศเป็นหลัก จึงไม่ได้เข้ามาช่วยหนุนตลาดหุ้นไทยมากนัก เพราะมีการลงทุนในหุ้นไทยในสัดส่วนที่น้อยกว่า” นายประภาสกล่าว

ส่วน “วศิน วณิชย์วรนันต์” ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า กองทุน SSF ส่วนใหญ่ที่นักลงทุนสนใจมักจะเป็นการลงทุนในต่างประเทศ

เนื่องจากเป็นไปตามเทรนด์และทิศทางรวมของอุตสาหกรรม ซึ่งหากดูจากกองทุนรวม (mutual fund) ปกติ ก็จะเห็นว่ากองทุนต่างประเทศ เป็นกองทุนที่ได้รับความนิยมสูงสุด เพราะว่าทิศทางการเติบโตและผลตอบแทนเป็นไปในทิศทางที่ดี

“คาดว่าในช่วงเดือน ธ.ค.ที่เหลือจะมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในกองทุนประหยัดภาษีเพิ่มขึ้น เพราะโดยปกติในช่วงเดือน ธ.ค.ของทุก ๆ ปี จะเป็นช่วงที่มีเงินไหลเข้ากองทุน SSF สูงสุด” นายวศินกล่าว

จากภาพทั้งหมดนี้ ในช่วงเดือนสุดท้ายของปี คาดว่าเงินไหลเข้าลงทุนกอง SSF อีกไม่น้อย โดยกองทุนที่น่าสนใจ ก็มีให้เลือกมากมายจากหลากหลาย บลจ. ซึ่งผู้ลงทุนเองก็คงต้องศึกษาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย แล้วเลือกกองทุนที่เหมาะกับตัวเองจะดีที่สุด