เอกชนระดมทุนออกหุ้นกู้ 11 เดือน ทะลุ 1 ล้านล้าน “ธุรกิจพลังงาน” มากสุด

“สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย” โชว์ ยอดออกหุ้นกู้ภาคเอกชนในรอบ 11 เดือนแรกปีนี้ ทะลุ 1 ล้านล้านบาท เปิด 5 อันดับธุรกิจระดมทุนมากสุด “พลังงาน-อสังหาฯ-สถาบันการเงิน-คอมเมิร์ซ-ไอซีที” ชี้ช่วงนี้ต้นทุนดอกเบี้ยถูก-ส่วนชดเชยความเสี่ยงลดลงตั้งแต่ระดับเรทติ้ง A ลงไป

วันที่ 7 ธันวาคม 2564 นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ยอดออกหุ้นกู้ภาคเอกชนในรอบ 11 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.64) สูงกว่า 1,006,087 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 48% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มียอดออกหุ้นกู้ราว 678,891 ล้านบาท โดยยอดออกหุ้นกู้ประมาณ 843,192 ล้านบาท เป็นกลุ่มเรียลเซ็กเตอร์(Real Sector) ส่วนที่เหลืออีก 162,895 ล้านบาท เป็นกลุ่มธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน(Bank & Fin)

ทั้งนี้ 5 อันดับที่มีการออกหุ้นกู้มากที่สุดในปีนี้ ประกอบด้วย 1.ธุรกิจพลังงาน มูลค่า 1.94 แสนล้านบาท 2.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท 3.ธุรกิจสถาบันการเงิน มูลค่า 1.32 แสนล้านบาท 4.ธุรกิจคอมเมิร์ซ มูลค่า 1.16 แสนล้านบาท และ 5.ธุรกิจไอซีที มูลค่า 1.12 แสนล้านบาท

สำหรับต้นทุนการออกหุ้นกู้ ถ้าประเมินจากส่วนชดเชยความเสี่ยง(credit spread) จะเห็นแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจนทุกระดับเรทติ้ง โดยสิ้นเดือน พ.ย.64 ที่ผ่านมาพบว่าผู้ออกหุ้นกู้รุ่นอายุ 5 ปี ระดับเรทติ้ง BBB มีส่วนชดเชยความเสี่ยงที่บวกเพิ่มจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอยู่ที่ 3.33% ลดลงจากต้นปีที่อยู่ 4.3% ส่งผลให้ผู้ออกหุ้นกู้ต้องจ่ายดอกเบี้ยเหลือ 4.48% จากเดิมที่ต้องจ่าย 4.85%

Advertisment

ขณะที่หุ้นกู้เรทติ้ง A ส่วนชดเชยความเสี่ยงที่บวกเพิ่มจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอยู่ที่ 1.36% ลดลงจากต้นปีที่อยู่ 2.14% ส่งผลให้ผู้ออกหุ้นกู้ต้องจ่ายดอกเบี้ยเหลือ 2.54% จากเดิมที่ต้องจ่าย 2.74% และหุ้นกู้เรทติ้ง AAA ส่วนชดเชยความเสี่ยงที่บวกเพิ่มจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอยู่ที่ 0.59% ลดลงจากต้นปีที่อยู่ 0.91% แต่ทั้งนี้สำหรับผู้ออกหุ้นกู้ระดับเรทติ้งสูงๆ จะได้อิทธิพลจากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ปรับขึ้นมาในปีนี้ประมาณ 0.50% (จากระดับ 0.6% มาอยู่ที่ 1.2%) จึงส่งผลให้ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายยังไม่ขยับลงไปมากนัก แต่ผู้ออกหุ้นกู้ระดับเรทติ้งตั้งแต่ A ลงไปเห็นชัดว่าต้นทุนดอกเบี้ยที่จ่ายถูกกว่าปีที่แล้ว