เปิดมุมมอง “นักบริหาร-นักวิชาการ” ชี้ปัจจัยเสี่ยงเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย

“นักบริหาร-นักวิชาการ” ชี้ปัจจัยเสี่ยงเปลี่ยนโฉมเศรษฐกิจไทย ทั้งเรื่องเทคโนโลยี-สงครามการค้า-สังคมสูงวัย-ภาวะโลกร้อน จี้ไทยรับมือให้ทัน

วันที่ 19 ธันวาคม 2564 นายสมคิด จิรานันตรัตน์ ที่ปรึกษาภาครัฐ-เอกชน อดีตที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวในการเสวนา “เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทย…เพื่อความอยู่รอด” ว่า แนวโน้มข้างหน้าเศรษฐกิจจะเปลี่ยนไปจากที่เคยเห็นกันอยู่ค่อนข้างมาก เดิมจะนำเทคโนโลยีไปสนับสนุนธุรกิจหรือเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันหรือมองไปข้างหน้า จะเป็นเศรษฐกิจที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวนำ หรือเศรษฐกิจดิจิทัลยุคใหม่ เพราะเทคโนโลยีไม่เพียงมาช่วยด้านประสิทธิภาพ แต่ทำให้ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ พฤติกรรมผู้บริโภค อุตสาหกรรม แม้กระทั่งแนวนโยบายการบริหารประเทศเปลี่ยนไป

“ฉะนั้นเทคโนโลยีจะมีบทบาทเป็นตัวเอกค่อนข้างมาก โดยเทรนด์เทคโนโลยีที่จะมาเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ ผมมองออกเป็น 5 เทรนด์ด้วยกัน” นายสมคิดกล่าว

1.ความไร้ข้อจำกัด ด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล คนตัวใหญ่จะสร้างความสามารถที่ไร้ข้อจำกัดมากขึ้น ๆ อย่างเช่นบริษัทแห่งหนึ่งเคยให้บริการแพลตฟอร์มอย่างหนึ่ง ก็ขยายไปยังบริการอื่น ๆ มากขึ้น และแพลตฟอร์มดังกล่าวก็จะใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ และจะยิ่งมีข้อมูล (ดาต้า) มากขึ้น ๆ โดยดาต้าจะเป็นทรัพย์สินที่สำคัญ

2.ความเป็นอัตโนมัติ ด้วยข้อมูลที่มากขึ้น และความสามารถจากแมทชีนที่มีมากขึ้น ความสามารถของ AI (ปัญญาประดิษฐ์) ที่เก่งขึ้น การออกแบบระบบใหม่ ๆ จะต้องออกแบบให้มีความอัตโนมัติมากขึ้น

Advertisment

3.ความไร้พรมแดน ด้านหนึ่งเป็นการปลดแอกการอยู่ภายใต้การกำกับของผู้กำกับ อีกด้านหนึ่งแพลตฟอร์มต่างประเทศจะสามารถเข้ามาให้บริการได้อย่างหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ดังนั้น การแข่งขันจะไร้พรมแดน การทำบริการขึ้นมาก็ต้องทำให้แข่งขันในระดับโลกได้

4.การด้อยค่าลงของตัวกลาง เพราะเทคโนโลยีสามารถทำหน้าที่แทนตัวกลางได้ อย่างธุรกิจการเงินที่เดิมธนาคารเป็นตัวกลาง แต่ด้วยเทคโนโลยีและวิธีการแบบใหม่ ไม่จำเป็นต้องมีธนาคารเป็นตัวกลางอีกต่อไปแล้ว โดยสามารถจับสองฝ่ายมาเจอกันได้ ด้วยต้นทุนที่ต่ำลงมาก และด้วยวิธีการที่แตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง

และ 5.จินตนาการ อย่างที่ได้ยินกันเรื่อง เมตาเวิร์ส ที่เป็นโลกเสมือน ซึ่งมองว่าไม่ใช่แค่โลกเสมือน แต่เป็นโลกแห่งจินตนาการ ที่สร้างประสบการณ์ใหม่ โดยหากคนเข้าไปอยู่ในเมตาเวิร์สกันมากขึ้น มีการทำธุรกรรมในนั้นมากขึ้น โลกเก่าก็จะน้อยลง

“ความสามารถที่เรามีในอดีต จะไม่ยั่งยืนในอนาคต แล้วความสามารถที่เสื่อมค่าลง ถ้าไม่มีการสร้างอะไรขึ้นมาใหม่ จะทำให้เศรษฐกิจของเราเสื่อมค่าลงตามไปด้วย” นายสมคิดกล่าว

Advertisment

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า มองไปข้างหน้ามี 4-5 อย่างที่จะมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ ได้แก่ 1.เทคโนโลยี ถือเป็นตัวหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในปัจจุบันตนยังมองว่า เทคโนโลยีตอนนี้มีจินตนาการแบบในเชิงมโน หรือนาเชิงจักรวาลนฤมิตรอยู่ค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงต้องดูว่า อะไรจะเป็นของจริง ซึ่งคงต้องผ่านกระบวนการลองผิดลองถูก และอะไรติดตลาด

“ของพวกนี้บางทีก็ไม่ได้ตรงไปตรงมา บางเรื่องดีไซน์ออกมาอย่างหนึ่ง แต่ตอนจบเป็นอีกอย่างหนึ่งก็ได้ ตัวอย่างที่เห็นชัดกัน คือ บิตคอยน์ ที่ถูกออกแบบมาเป็นเงิน เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยน แต่ทำไปทำมา แทบไม่มีการเอาไปแลกเปลี่ยนอะไรเลย กลายเป็นเอาไปเก็งกำไรกัน” นายสมเกียรติกล่าว

2.เทรนด์จากข้างนอก เนื่องจากไทยเป็นประเทศเล็ก สงครามการค้า ความสัมพันธ์ทางภูมิรัฐศาสตร์จะมีผลกระทบมาก ซึ่งก็เริ่มเห็นชัดแล้วว่าโลกมีความขัดแย้งครั้งใหญ่ของค่ายสหรัฐและค่ายจีน โดยประเทศไทยและประเทศเล็ก ๆ อื่น ไม่มีใครอยากไปขัดแย้งกับ 2 ประเทศนี้ แต่ถ้า 2 ประเทศขัดแย้งกันมากขึ้น สุดท้ายประเทศเล็ก ๆ จะถูกบีบให้เลือกข้าง ไม่ว่าจะเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปเรื่อย ๆ

3.การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทย ที่เข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งจะมีผลกำหนดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยไทยดูจะมีจุดอ่อนอยู่ค่อนข้างมาก เพราะอายุเฉลี่ยประชากรไทยเพิ่มขึ้น จนจะทำให้สุดท้ายแล้วจะขาดแคลนแรงงาน แต่หากมองใหม่ หามุมดี ๆ ก็มีโอกาสที่จะทำให้เป็นธุรกิจที่รองรับตรงนี้ เพราะประเทศอาเซียนจะเข้าสู่สังคมสูงวัยตามหลังไทยมา

และ 4.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ไทยยังพูดถึงกันน้อย ขณะที่ในต่างประเทศตื่นตัวเรื่องนี้กันมาก ซึ่งต่อไปจะมาเปลี่ยนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น เคยปลูกพืชชนิดหนึ่งได้ แต่ต่อไปอาจจะปลูกไม่ได้ ผลผลิตน้อยลง หรือบางประเทศเคยปลูกพืชบางอย่างไม่ได้ แต่อากาศเปลี่ยนทำให้ปลูกได้ จนมาแข่งกับไทยได้ หรือการเกิดโรคระบาดใหม่ เหล่านี้จะมีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างมาก

นายฐากร ปิยพันธ์ ที่ปรึกษาภาครัฐ-เอกชน อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เครือไทยโฮลดิ้งส์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีภาวะที่ค่อนข้างน่าห่วง โดยเฉพาะการเข้าสู่สังคมสูงวัย คือคนไทย แก่ จน เป็นหนี้ โดยญี่ปุ่น สิงคโปร์ ประชากรสูงวัยเหมือนกันแต่เกษียณแล้วมีเงิน แล้วแนวโน้มคนก็มีอายุเฉลี่ยมากขึ้น ขณะที่ภาคเศรษฐกิจยังต้องอาศัยแรงงาน ดังนั้นหากไม่มีแรงงานจะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต่อไปอย่างไร หรือจะต้องปรับนโยบายเรื่องแรงงานต่างด้าว หรือหันไปขับคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการใช้หุ่นยนต์

“เราคุยเรื่องเหล่านี้มาเป็น 10 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นการเปลี่ยนผ่านสักที ผมจึงอยากมองให้เห็นว่า โอกาสคืออะไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น หลายประเทศคนเกษียณแล้วอยากมาอยู่เมืองไทย แต่ทำไมเราไม่ฉกฉวยสิ่งเหล่านี้ ปั้นให้เป็นโมเดลว่าเราจะเป็น Thailand retirement destination เป็นไปได้หรือเปล่า สิ่งเหล่านี้ถ้าเราทำจริง ๆ จัง ๆ บวกกับใช้เทคโนโลยีมาช่วย เราอาจจะผันเมืองบางเมืองเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวได้ ยกตัวอย่าง บุรีรัมย์ เป็นต้น”

ขณะที่ด้านเทคโนโลยีนั้น ไทยกำลังเผชิญช่องว่างที่สำคัญ จากการที่ไม่ได้มีอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มของตัวเอง แต่กลับมีการใช้งานสูงมาก ซึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้มาพร้อมกับดาต้าที่มีประโยชน์ ส่วนอีกประเด็น คือ จะเห็นการเปลี่ยนผ่านของบริษัทท็อป 10 ในจีน หรือสหรัฐ ส่วนใหญ่ก็เป็นบริษัทเทคโนโลยีทั้งหมด ในขณะที่ท็อป 10 ของไทยยังเป็นธุรกิจดั้งเดิม

“ผมอยากโฟกัส 2 เรื่อง คือ สังคมสูงอายุ ถ้าแก้ไม่ได้ เราอาจจะไม่รอด กับเรื่องของดิจิทัลกับนวัตกรรม ถ้าถามผม ตรงนี้เป็นคำตอบว่าจะไปได้หรือไม่ได้ แต่ปัจจุบันผมยังไม่เห็นการลงมือ ไม่เห็นความชัดเจนเชิงนโยบาย แล้วก็ยังไม่เห็นรูปแบบในการที่จะเปลี่ยนไป แต่ผมก็ยังมีความหวัง เห็นจากคนไทยใช้งานแพลตฟอร์มต่าง ๆ กันมากขึ้น” นายฐากรกล่าว

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร รองคณะบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โลกกำลังเปลี่ยนจาก โลกยุคที่ทุกคน “ประชันเสน่ห์” ไปสู่ยุค “ประชันขี้เหร่” ที่ใครขี้เหร่น้อยสุดจะน่าสนใจมากสุด เพราะทุกประเทศต่างเจอปัญหาต่าง ๆ เหมือนกัน ไม่ว่าจะสังคมสูงวัย ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ หรือต้องเจอสงครามการค้าเหมือนกัน และทุกประเทศก็มีปัญหาภายในเมืองกัน

“เราต้องคิดถึงเรื่องของการจัดการกับความเสี่ยง จัดการกับปัญหา จัดการกับความเหลื่อมล้ำ นอกจากเราจะไปวิ่งแข่งว่าโอกาสอยู่ตรงไหน ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจโตแล้ว เราต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทำอย่างไรเราจะแข็งแรงขึ้น และจะรักษาอาการป่วย และจำกัดโรคที่เราเป็นอยู่ให้เสถียรขึ้นได้”

ทั้งนี้ มี “3 ไม่จบ” จะเป็นเรื่องใหญ่มาก เรื่องแรก เงินเฟ้อ ที่มองกันว่าเป็นปัญหาชั่วคราว แต่วันนี้เริ่มมีความกังวลว่าจะเป็นปัญหาระยะยาว แล้วเงินเฟ้อจะกระทบมหาศาล กับเศรษฐกิจการเงินโลก ซึ่งตนมองว่าเงินเฟ้อจะไม่ลงง่าย ๆ เพราะมีปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ 1.จีนเป็นโรงงานโลก แต่จีนก็ต้องไปทางดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้น ต้นทุนก็ต้องสูงขึ้น อีกปัจจัยก็คือเรื่องค่าเงินหยวนที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเรื่อย ๆ มีนักเศรษศาสตร์วิเคราะห์ว่าจีนอาจลอยตัวค่าเงิน แล้วถ้าจีนทนวิกฤตการเงินได้มากกว่าสหรัฐ จะดันเงินเฟ้อสหรัฐขึ้นไปอีก ดังนั้นเงินเฟ้อเป็นเรื่องใหญ่

“เรื่องที่สองที่ไม่จบ คือ โควิด-19 ที่ไม่ได้จบง่ายอย่างที่คาด ตลอดจนความท้าทายจากโรคระบาดใหม่ ๆ ที่จะมีมากขึ้น และมีความเสี่ยงมากขึ้น ส่วนเรื่องที่สามที่ไม่จบ คือ เทควอร์ จะเป็นเทควอร์สมบูรณ์แบบ ซึ่งจะทำให้การเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลยิ่งเร็วขึ้น จากการแข่งขันกันของสองค่ายมหาอำนาจ” ดร.อาร์มกล่าว