เปิดโปรไฟล์ 3 ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. ผู้ว่าฯหมูป่า ถอยจากเงาผู้มีบารมี

รายงานพิเศษ

3 แคนดิเดตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เปิดหน้า-เปิดตัวอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ไม่เกินกลางปี 2565 จะชิงชัย “พ่อเมืองเสาชิงช้า”

3 (ว่าที่) ผู้ว่าฯ กทม. ทั้งที่เปิดตัวก่อน-กำลังเปิดตัว และรอเปิดตัวในอนาคต จุดดี-จุดเด่น เชือดเฉือน-วัดก้าวกันที่ “โปรไฟล์” เกียรติประวัติ-ผลงานประจักษ์ ก่อนระฆังเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จะลั่นดัง

ผู้ว่าฯหมูป่า คืนตั๋วทำเนียบ

แคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม.คนแรก “ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร” ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี  “ปิดดีล” อย่างเป็นทางการทั้งในนามพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หรือในนามอิสระ ที่เคยมีเงา 3 ป.ทาบทับ ปิดโอกาสคนกรุงเทพฯ ที่จะได้เลือก “ผู้ว่าฯหมูป่า” ขึ้นเสาชิงช้า

ปรวัติ “อดีตผู้ว่าฯเชียงราย” ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (ศอร.) โดดเด่นจากภารกิจค้นหา 13 นักเรียนอดีตนักฟุตบอลเยาวชน และผู้ฝึกซ้อม ทีมหมูป่าอะคาเดมี สิ้นสุดลงด้วยความสำเร็จ จนได้รับฉายาว่า “ผู้ว่าฯหมูป่า”

ในเวลาใกล้เคียงกันนั้น ครอบครัว “โอสถธนากร” น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชหัตถเลขา ถึงณรงค์ศักดิ์ ในฐานะ ผบ.ศอร. ความว่า

“ได้ติดตามการปฏิบัติแล้ว น่าชื่นชมที่ได้เห็นข้าราชการผู้ใหญ่ ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง อดทน และมุ่งมั่นในภารกิจเฉพาะหน้า ที่ยากและท้าทาย

…แสดงถึงความมีสติปัญญา และมีการตัดสินใจที่ดี และวิสัยทัศน์ที่ถูกต้อง และเป็นศูนย์กลางแห่งการประสานการปฏิบัติจนภารกิจลุล่วงด้วยดี และได้ทราบว่าเป็นข้าราชการที่มีคุณภาพ กล้าต่อสู้กับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

…และในเวลาเดียวกันก็มุ่งมั่นที่สร้างความดีและความถูกต้องให้เกิดขึ้นแก่ประเทศชาติ ขอชมเชยและให้กำลังใจ ขอให้รักษาความดีไว้ และขอให้มีความสุขความเจริญ”

ครอบครัว “โอสถธนากร” คือ เบ้าหลอมทำให้ผู้ว่าฯหมูป่า ที่ถูกเลี้ยงมาแบบทหาร เป็นที่ต้องการต้อนรับของเวทีการเมืองไทย

“ประสาน โอสถธนากร” พ่อของ “ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์” เจ้าของร้านขายยา “ประสานเภสัช” ย่านลาดพร้าวมากว่า 50 ปี เคยบอกวิธีการเลี้ยงลูกไว้ว่า “ผมเลี้ยงลูกแบบทหาร เลี้ยงลูกให้มีวินัย เลี้ยงลูกให้เป็นคนดี”

หลังเหตุการณ์ช่วยเหลือทีมฟุตบอล “หมูป่า” ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง จ.เชียงราย ไม่กี่เดือน “ณรงค์ศักดิ์” ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ได้รับรางวัล “เอเชีย เกม เชนเจอร์ อะวอร์ดส” (Asia Game Changer Awards) ประจำปี 2018 จากสถาบันเอเชีย โซไซตี้ (Asia Society) ในฐานะผู้สร้างแรงบันดาลใจให้คนทั่วโลก

“ณรงค์ศักดิ์” เข้ามอบรางวัลนี้แด่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สำหรับผู้ได้รับรางวัลรุ่นเดียวกับ “ณรงค์ศักดิ์” มี อาทิ อินทรา นูยี อดีตซีอีโอของเป๊ปซี่ โค, นักเรียนหญิงจากอัฟกานิสถานที่เข้าแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก, กลุ่ม Syrian White Helmet และกลุ่มนักเทคนิคพร้อมเจ้าหน้าที่ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ร่วมด้วย

การย้ายชีวิตราชการเข้าใกล้ศูนย์กลางประเทศ ที่ จ.ปทุมธานี ทำให้ “ณรงค์ศักดิ์” เข้าใกล้บ้านป่ารอยต่อฐานที่มั่นของอำนาจ “3 ป.” ได้ง่ายยิ่งขึ้น

ส่งผลให้ชื่อ “ณรงค์ศักดิ์” ถูกชูขึ้นมาเป็น 1 ในผู้ท้าชิงเสาชิงช้า ขึ้นแท่นผู้ว่าฯ กทม. ในเสื้อพรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การถือตั๋วพิเศษ-สายตรงจากทำเนียบ

ชัชชาติ ในเงาเพื่อไทย

ขณะที่โปรไฟล์ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อดีต รมว.คมนาคม เจ้าของฉายา “รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” ประกาศลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ โดยมีพรรคเพื่อไทย “หลีกทาง” ให้ โดยไม่มาตัดคะแนนกันเอง

“ชัชชาติ” ประกาศลงเลือกตั้งในนามอิสระ ตั้งแต่ 30 พฤศจิกายน 2562 เที่ยวนี้เขาชูนโยบาย เน้น 4 ด้าน ภายใต้สโลแกน เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ประกอบด้วย

1.people เรื่องคน เน้นระบบเส้นเลือดฝอยและคุณภาพชีวิต

2.digital เรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล ต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อลดขั้นตอน

3.green เรื่องสิ่งแวดล้อม เน้นเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม ขยะ ควันพิษ ฝุ่น

4.economy เรื่องเศรษฐกิจ เพราะเมืองอยู่ได้ด้วยเศรษฐกิจ ตอนนี้เศรษฐกิจมีปัญหาเมืองต้องมาช่วยดูแลเรื่องเศรษฐกิจของคนให้มากขึ้น พยายามสร้างโอกาสคน ลดขั้นตอน หนุนให้เศรษฐกิจฟื้นคืนมา

“ชัชชาติ” มีโปรไฟล์ทางการเมืองติดตัว เริ่มจากเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และขยับเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แห่งพรรคเพื่อไทย โปรเจ็กต์ใหญ่แต่ “แท้ง”

ในยุคของเขา คือ ผลักดันรถไฟฟ้าความเร็วสูง ผ่าน พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ (พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท) ที่ศาลรัฐธรรมนูญตีตก

เขาเป็นบุตรของ พล.ต.อ.เสน่ห์ สิทธิพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) กับจิตต์จรุง สิทธิพันธุ์ มีพี่น้อง 2 คน คือ ดร.ปรีชญา สิทธิพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และ รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์

ขัชชาติจบการศึกษาจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สำเร็จปริญญาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา (เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโครงสร้างจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ และวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญ สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ประจำปี พ.ศ. 2530

เริ่มต้นการทำงานด้วยการเป็นวิศวกรโครงสร้างในบริษัทเอกชน ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 ได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายจัดการทรัพย์สิน ในปี พ.ศ. 2548 กระทั่งลงเล่นการเมือง ด้วยการชักชวนของ “ทักษิณ ชินวัตร” ผู้มากบารมีแห่งพรรคเพื่อไทย ให้มาเป็นรัฐมนตรี

ในช่วงที่คุมกระทรวงคมนาคม เป็นช่วงเดียวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งพรรคเพื่อไทยเวลานั้นส่ง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. “ชัชชาติ” ก็ร่วมวางนโยบายคมนาคม

หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 “ชัชชาติ” เหมือนนักการเมืองคนอื่น ๆ ที่เว้นวรรคการเมืองไปชั่วคราว แต่ไม่เคยห่างจากพรรคเพื่อไทย

กระทั่งการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 “ชัชชาติ” เข้าไปเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 1 ใน 3 ชื่อของพรรคเพื่อไทย ลุยหาเสียงเลือกตั้ง แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน “ชัชชาติ” จึงถอยห่างการเมืองระดับชาติ มาลงผู้ว่าฯ กทม.แทน

ประชาธิปัตย์ทุ่มหมดหน้าตัก

“ดร.เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในนามพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) “ไขก๊อก” อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2564

วันเดียวกันกับที่คณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.ปชป.) มีมติเห็นชอบ “เอกฉันท์” ส่ง “ดร.เอ้” เป็นว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พ่วงด้วยเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ “ตลอดชีพ”

พรรคประชาธิปัตย์จึงเป็น “บ้านหลังที่สอง” ของ “ดร.เอ้” ต่อจาก สจล. “บ้านหลังแรก” ที่ “พี่เอ้” เรียน-สอน-บริหารตลอด 31 ปี

“จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวขบวนประชาธิปัตย์ หวังที่จะปลุกปั้นให้เดินตามปรัชญาของพรรค “ทำได้ไว ทำได้จริง” และหมายมั่นให้เป็น “ใบเบิกทาง” การเลือกตั้งใหญ่-สนาม กทม. มั่นใจว่าจะ “ไม่ส่ง (ดร.เอ้) ไปตายเอาดาบหน้า”

“ดร.เอ้” ถูกขนานนามจากคนในพรรคประชาธิปัตย์ว่า จะเป็น “อภิรักษ์ภาคต่อ” จากเมื่อปี’47 โดยมีนโยบายที่ออกมาปูทางชิงผู้ว่าฯ กทม.เมื่อปี’62 อาทิ ทางจักรยานลอยฟ้าเลียบแอร์พอร์ตลิงก์

โดยใช้ “สามย่านมิตรทาวน์” แถลง “เปิดตัว” ภายใต้สโลแกน “เปลี่ยนกรุงเทพ#เราทำได้”

ทันทีที่พรรคประชาธิปัตย์มีมติเอกฉันท์ส่ง “ดร.พี่เอ้” ลงรับสมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคสีฟ้า พื้นที่โซเชียลบนโลกออนไลน์ของบรรดา ส.ส.-ผู้บริหาร-แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ต่างพร้อมใจกันเปลี่ยนรูปภาพหน้าปกเฟซบุ๊กเป็นรูปภาพ “ดร.เอ้”

ผลงานในแวดวงวิชาการของ “ดร.เอ้” อดีตประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย-นายกสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย

ประวัติความเป็นนักบริหาร-นักเทคนิเชียน “จุดเด่น” คือ “วิศวกรอุโมงค์” อาทิ ประธานคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายกสภาวิศวกร สมัยที่ 7
มีส่วนเข้าไปร่วมก่อร่าง-ขึ้นรูปโครงสร้างพื้นฐานในกรุงเทพฯ ในอดีต-ปัจจุบัน-อนาคต มากมาย อาทิ กรรมการในคณะกรรมการพิจารณาทบทวนโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย

หลักสูตร “คอนเน็กชั่น” ที่เหล่าบรรดานักธุรกิจภาคเอกชน-นักบริหารภาครัฐ ตลอดจนนักการเมือง-ทหารการเมืองเข้าไปสานสัมพันธ์มากมาย อาทิ หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.รุ่น 13)

ตลอดจนถึงเกียรติคุณระดับนานาชาติ อาทิ วิศวกรดีเด่นแห่งอาเซียน “ASEAN OUTSTANDING ENGINEERING ACHIEVEMENT CONTRIBUTION AWARD 2012”

“ดร.เอ้” ลาออกจากทุกตำแหน่งทางวิชาการ-ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เดิมพัน-ทุ่มหมดหน้าตัก แบกประชาธิปัตย์ขึ้นแท่นเบอร์ 1 สนาม ส.ส.กทม.ในการเลือกตั้งครั้งหน้า