ดอลลาร์แข็งค่า นักลงทุนกังวลผลกระทบโอไมครอน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/12) ที่ระดับ 33.40/42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/12) ที่ระดับ 33.32/34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ เนื่องจากนักลงทุนได้พากันเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน

นอกจากนี้ซิตี้กรุ๊ปออกรายงานระบุว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเร็วที่สุดในเดือน มี.ค. 2565 ซึ่งเป็นเดือนที่เฟดยุติโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) โดยในระยะกลางดอลลาร์ยังคงได้รับปัจจัยหนุนให้ดีดตัวขึ้น นอกจากนี้รายงานยังเปิดเผยว่าสกุลเงินและตราสารหนี้ของตลาดเกิดใหม่มักปรับตัวลงก่อนที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ธนาคารกลางในเอเชียยังไม่มีความจำเป็นต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากแรงกดดันจากเงินเฟ้อไม่รุนแรงเหมือนชาติตะวันตก และเศรษฐกิจยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นการฟื้นตัว

สำหรับปัจจัยภายในประเทศนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน พ.ย. 64 พบว่า การส่งออกขยายตัวได้ 24.7% มาที่มูลค่า 23,647.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การส่งออกช่วง 11 เดือนปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.) ขยายตัวได้ 46.4% คิดเป็นมูลค่ารวม 2.46 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่การนำเข้าในเดือน พ.ย. 64 ขยายตัว 20.5% มาที่ 22,629.2 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้าในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัว 29.4% มาที่ 2.42 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ไทยเกินดุลการค้าในเดือน พ.ย. 64 ราว 1,018.7 ล้านเหรียญสหรัฐ และช่วง 11 เดือนแรกเกินดุลการค้า 3,927.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.38-33.59 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.57/60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/12) ที่ระดับ 1.1240/42 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/12) ที่ระดับ 1.1250/51 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร สำนักงานสถิติของเยอรมนี (Destatis) เผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของเยอรมนีดีดตัวขึ้น 19.2% ในเดือน พ.ย. เมื่อเทียบรายปีซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 2494 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยได้แรงหนุนจากราคาพลังงานที่ดีดตัวขึ้น โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1236-1.1265 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1263/64 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/12) ที่ระดับ 113.62/63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/12) ที่ระดับ 113.72/74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนหันมาถือเงินเยนในฐานะสกุลเงินปลอดภัยหลังพบผู้ติดเชื้อโควิดขึ้นในหลายประเทศ โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยในวันนี้ว่า ทรัพย์สินของครัวเรือนญี่ปุ่นพุ่งทำสถิติสูงสุดเกือบ 2,000 ล้านล้านเยน (18 ล้านล้านดอลลาร์) ณ สิ้นเดือน ก.ย. เนื่องจากประชาชนยังคงงดการใช้จ่ายเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และราคาหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 113.35-113.69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 113.50/51 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ประมาณการครั้งสุดท้ายจีดีพีไตรมาส 3/2021 (22/21), ความเชื่อมั่นผู้บริโภคจาก Conference Board (22/12), ยอดขายบ้านมือสองเดือน พ.ย. (22/21), ดัชนีการใช้จ่ายส่วนบุคคลพื้นฐาน (23/12), ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน พ.ย. (23/12)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 1.75/0.08 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.20/-0.01 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ