ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงจากปริมาณน้ำมันเบนซินสหรัฐคงคลังพุ่งขึ้น

– ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงราวร้อยละ 3 หลังได้รับแรงกดดันจาก รายงานปริมาณน้ำมันเบนซินสหรัฐฯ คงคลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) สิ้นสุด ณ วันที่ 1 ธ.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.78 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ถึง 4 เท่า จากความต้องการใช้ในสหรัฐฯที่ปรับลดลง

– นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแตะระดับ 9.71 ล้านบาร์เรลต่อวัน  ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดนับตั้งแต่กลางปี 2559 และอยู่ในระดับใกล้เคียงกับการผลิตของรัสเซียและซาอุดิอาระเบีย

+ อย่างไรก็ตาม EIA รายงานตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลง  5.6 ล้านบาร์เรล โดยได้รับผลกระทบจากท่อขนส่งน้ำมันดิบ Keystone ซึ่งเป็นท่อที่ขนส่งน้ำมันดิบจากประเทศแคนาดามายังประเทศสหรัฐฯ ปิดซ่อมบำรุงจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหล โดยกลับมาดำเนินการอีกครั้งในวันที่ 28 พ.ย. ที่ผ่านมา

– ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (6 ธ.ค.) โดยตลาดได้รับแรงกดดันจากปรับตัวลดลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังจากราคาน้ำมันลดลงค่อนข้างมากเมื่อวานนี้

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปสงค์และอุปทานที่ค่อนข้างสมดุล อย่างไรก็ตามตลาดยังได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่ยังคงแข็งแกร่งจากประเทศอินโดนีเซียและเวียดนาม

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปสงค์ในภูมิภาคเอเชียยังคงแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตามอุปทานปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังโรงกลั่นน้ำมันปรับเพิ่มกำลังการผลิตจากกำไรที่ปรับตัวดีขึ้น

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 54 – 59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 59 – 64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

การขยายระยะเวลาของข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกโอเปกออกไปอีก 9 เดือนจนถึงสิ้นปี 2561 จากเดิมที่สิ้นสุดในเดือน มี.ค. 61 ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบของโอเปกทั้ง 12 ประเทศและผู้ผลิตนอกโอเปกทั้ง 10 ประเทศจะปรับเพิ่มขึ้นในกรอบจำกัด หลังปริมาณน้ำมันคงคลังของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD Oil Stocks) ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าระดับเฉลี่ย 5 ปี ที่ราว 140 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตของไนจีเรียและลิเบียจะถูกจำกัดอยู่ที่ 1.8 และ 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ โดยกลุ่มผู้ผลิตจะทบทวนข้อตกลงดังกล่าวอีกครั้งในการประชุมโอเปกในเดือน มิ.ย. 61

จับตาปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ หลังราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นมาสู่ระดับ 747 แท่น เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่อยู่เพียง 474 แท่น โดยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในสัปดาห์ล่าสุดปรับเพิ่มขึ้นมาแตะระดับสูงสุดในประวัติการณ์ที่ 9.68 ล้านบาร์เรลต่อวันและคาดจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปอยู่ที่ระดับ 9.9 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนหน้า ซึ่งจะส่งผลให้สหรัฐฯ ต้องส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มมากขึ้น