ชี้ชะตาปิด “อาคเนย์” วันนี้ “เจ้าสัวเจริญ” ผ่าทางตันอ่วมเคลมโควิด

ชี้ชะตาปิดอาคเนย์วันนี้

ทุกสายตากำลังจับจ้องไปที่การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2565 ของบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 26 ม.ค.นี้ ในเวลา 14.00 น. ว่าที่ประชุมจะมีมติตามที่คณะกรรมการบริษัทได้เสนอมาให้พิจารณาใน 2 วาระที่สำคัญหรือไม่

โดยวาระแรก เป็นข้อเสนอให้อนุมัติการ “เลิกประกอบธุรกิจประกันภัย” ของอาคเนย์ประกันภัย ส่วนวาระที่สอง เสนอให้พิจารณาอนุมัติการ “โอนกิจการ” ของอาคเนย์ประกันภัยไปให้แก่ “บริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน)” เฉพาะในส่วนที่เป็น “กรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่น” นอกเหนือจากกรมธรม์ประกันภัยโควิด-19

คดีฟ้องเลขาฯ​ คปภ.ยังไม่สรุป

ขณะที่อีกด้านคดีที่ อาคเนย์ประกันภัย ร่วมกับบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ“เจ้าสัวเจริญ” หรือ “นายเจริญ สิริวัฒนภักดี” ด้วยกันทั้งคู่ ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง

เพื่อฟ้องคดีเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย กรณีออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 สั่งห้ามบริษัทประกันภัย ยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 แบบเจอจ่ายจบ

ว่าอาจเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งดังกล่าวเป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดี

ซึ่งความคืบหน้าปัจจุบันยังอยู่ระหว่างรอศาลชี้ว่าจะรับคดีนี้ไว้พิจารณาหรือไม่

นอกจากนี้ ทางอาคเนย์ประกันภัย และไทยประกันภัย ยังมีการยื่นเรื่องเรียกร้องค่าทดแทนกับทาง คปภ.เป็นเงินกว่า 8,000 ล้านบาทอีกด้วย

จับตาผู้ถือหุ้นเคาะ “เลิกกิจการ”

สำหรับข้อเสนอของบอร์ดอาคเนย์ประกันภัยที่ขอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติให้เลิกธุรกิจประกันวินาศภัยนั้น ทางบริษัทชี้ว่า มาจากผลจากการจ่ายค่าสินไหมทดแทนกรมธรรม์โควิด-19 “เจอจ่ายจบ” ที่ได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินของบริษัท “เป็นอย่างยิ่ง” ทำให้บริษัทไม่สามารถรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

ทั้งนี้ บริษัทประเมินในเบื้องต้นว่า อาจต้องจัดหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมอีกประมาณ 20,000 ล้านบาท เพื่อให้มีจำนวนเงินที่เพียงพอต่อการรักษากรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ต่อไป หากบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาประกันภัยต่อที่มีอยู่กับบริษัทได้

ขณะที่การรักษากรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ไว้ จะส่งผลให้บริษัทไม่เพียงจะไม่สามารถดูแลลูกค้าตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ได้เท่านั้น แต่ยังไม่สามารถดูแลลูกค้าตามกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่น

ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าส่วนมากของบริษัท ตลอดจนไม่สามารถดูแลบุคลากร ซึ่งรวมไปถึงตัวแทนและนายหน้าประกันภัยมากกว่า 9,000 ราย ตลอดจนพนักงานลูกจ้างที่ประจำอยู่ในสาขาต่าง ๆ ทั่วประเทศมากกว่า 75 สาขาได้อีกต่อไปด้วย

เฉือนเนื้อ “รักษาชื่อเสียง-ลูกค้า”

แหล่งข่าวในวงการธุรกิจประกันวินาศภัยตั้งข้อสังเกตว่า การประกาศว่าจะเลิกกิจการของอาคเนย์ประกันภัย น่าจะเป็นการเคลียร์ลูกค้ากรมธรรม์ประเภทอื่นไปไว้กับ “อินทรประกันภัย”

หรือ “INSURE” ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งบริษัทในเครือ “เจ้าสัวเจริญ” ที่เทกโอเวอร์กิจการมาเมื่อปี 2563 และปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการแก้ไข “ขจัดความขัดแย้งทางผลประโยชน์” ระหว่าง บมจ.เครือไทย โฮลดิ้งส์ (TGH) กับอินทรประกันภัย ซึ่งยังไม่เรียบร้อย

ส่วนกรมธรรม์โควิดก็คงปล่อยให้เป็นกลไกของกองทุนประกันวินาศภัย เช่นเดียวกับกรณี บมจ.เอเชียประกันภัย และ บมจ.เดอะ วัน ประกันภัย ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตไปก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรักษาชื่อเสียงของบริษัท และเจ้าของกิจการไว้

“ต้องยอมรับว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้น ทางอาคเนย์ประกันภัยก็บาดเจ็บหนัก โดยสิ้นปี 2564 มียอดจ่ายสินไหมทดแทนประกันโควิดอยู่กว่า 7,500 ล้านบาท และปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 8,200 ล้านบาท

ซึ่งที่ผ่านมาการยกเลิกกรมธรรม์ เพื่อจะคืนเงินค่าเบี้ยให้ลูกค้า ก็ทำไม่ได้ ทางบริษัทจึงใช้กลไกศาลปกครอง เพื่อตัดสินใจต่อสู้ เพราะถ้าจะให้ใส่เงินเพิ่มทุนอีก 1-2 หมื่นล้านบาท เพื่อจ่ายเคลมประกันโควิด

จากที่ก่อนหน้านี้ก็เพิ่มทุนไปแล้ว 6,000 ล้านบาท แม้จะเป็นระดับเจ้าสัว มหาเศรษฐีอันดับต้น ๆ ของไทย ก็ต้องเสียดาย เพราะใส่เงินไปแล้วก็สูญเปล่า แต่ด้วยชื่อเสียงเจ้าสัว ที่ค้ำคออยู่ จึงต้องรับโอนพอร์ตงานประกันประเภทอื่นไปให้บริษัทในเครือบริหารต่อ”

แรงกระเพื่อมอุตฯประกัน

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า มองอีกมุม จะเป็นการชี้ให้เห็นว่า บริษัทประกันหลายแห่งเดือดร้อนหนักจนต้องเลิกกิจการ ซึ่งต่างไปจากที่ทาง คปภ.เคยยืนยันว่า การปิดบริษัทประกันบางแห่งยังไม่เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ (systematic risk) และไม่กระทบเป็นโดมิโน ธุรกิจประกันวินาศภัยยังแข็งแกร่งอยู่ ซึ่งความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ขณะเดียวกัน การโยนภาระไปให้กองทุนประกันวินาศภัยนั้น ทางกองทุนก็คงต้องกู้เงินเพื่อนำมาแก้ปัญหา ซึ่งเดิมมีแนวคิดจะยื่นกู้จากกองทุนประกันชีวิต แต่ล่าสุดเข้าใจว่าทางกองทุนประกันชีวิตไม่สามารถปล่อยกู้ได้แล้ว จึงยังไม่มีภาพที่ชัดเจนว่า กองทุนประกันวินาศภัยจะนำเงินจากไหนมาชำระหนี้

“สุดท้ายแล้ว ต้องรอศาล ถ้าอาคเนย์ประกันภัยชนะคดี เชื่อว่าบริษัทประกันอื่น ๆ ยังไม่มีใครกล้ายกเลิกกรมธรรม์โควิด เพราะอย่าลืมว่าอาจสร้างความเสียหายแก่บริษัทมาก จนไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด และอาจเห็นบริษัทคู่แข่งออกมากระทืบซ้ำ ด้วยการโปรโมตจะยืนเคียงข้างประชาชน

เพียงแต่ตอนนี้ คปภ.กำลังดิ้นรนต่อสู้ เพราะคดีพิพาทดังกล่าว ฟ้องร้องนายทะเบียน หรือตัวเลขาธิการ คปภ.เพียงรายเดียว ไม่ได้ฟ้องผู้บริหาร หรือบอร์ด คปภ.”

“อาคเนย์ฯ” อ่วมเคลมหนักสุด

รายงานจากธุรกิจประกันภัยเปิดเผยว่า ข้อมูลกรมธรรม์ประกันโควิดล่าสุด จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564 พบว่า มีกรมธรรม์ทั้งหมด 41.63 ล้านฉบับ เบี้ยประกันภัยรับรวม 10,930 ล้านบาท มียอดจ่ายค่าสินไหมทดแทน 39,900 ล้านบาท

โดยยอดสินไหมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสิ้นเดือน พ.ย. 2564 เกือบ 3,000 ล้านบาท และพบว่า 6 อันดับแรกของบริษัทประกันที่มีภาระจ่ายเคลมประกันโควิดคิดเป็นสัดส่วนกว่า 70-80% ได้แก่ 1.บมจ.อาคเนย์ประกันภัย 7,500 ล้านบาท 2.บมจ.สินมั่นคงประกันภัย 6,800 ล้านบาท 3.บมจ.วิริยะประกันภัย 5,700 ล้านบาท

4.บมจ.เอเชียประกันภัย 4,500 ล้านบาท 5.บมจ.เดอะ วัน ประกันภัย 4,000 ล้านบาท และ 6.บมจ.กรุงเทพประกันภัย 3,500 ล้านบาท

ส่วน บมจ.เมืองไทยประกันภัย ขายกรมธรรม์ประกันโควิดเพียง 2 แสนฉบับ และรับประกันไว้เองแค่ 10% ที่เหลือส่งประกันภัยต่อทั้งหมด

จะเห็นได้ว่า บริษัทประกันที่เผชิญผลกระทบประกันโควิดหนักที่สุดก็คือ อาคเนย์ประกันภัยของ “เจ้าสัวเจริญ” นั่นเอง จึงไม่แปลกที่บริษัทต้องออกมาต่อสู้อย่างเต็มที่