เงินบาทปีจอ “ผันผวน-แข็งค่า” กูรูแนะทำเฮดจิ้ง-เร่งลงทุน

2560 ที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ “เงินบาทแข็งค่า” มาโดยตลอดทว่า สิ่งที่น่ายินดีคือ การส่งออกยังสามารถขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง

โดย “ตรรก บุนนาค” ประธานเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา คาดการณ์ว่า สิ้นปีค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงเล็กน้อยไปอยู่ที่ 32.75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากที่ ณ วันที่ 7 ธ.ค. อยู่ที่ระดับ 32.60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ “จิติพล พฤกษาเมธานันท์” นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย คาดว่าสิ้นปี 2560 ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 32.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากปัจจุบัน เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น เพราะในช่วงกลางเดือน ธ.ค. เฟดน่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้ง และมาตรการภาษีของสหรัฐที่ชัดเจน

ดังนั้น สิ่งที่ต้องจับตาต่อไป หลังจากนี้ ก็คือ แนวโน้มค่าเงินบาทในปี 2561 จะเป็นอย่างไร และส่งผลกระทบภาคส่งออกแค่ไหน

โดย “ตรรก” ประเมินว่า ปีหน้าเงินบาทจะยังผันผวน และมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น เนื่องจากดุลบัญชีสะพัดของไทยยังอยู่ระดับสูง ขณะเดียวกันต้องจับตาความคืบหน้ามาตรการปฏิรูปภาษีของสหรัฐ, รวมถึงประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คนใหม่จะขึ้นดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดการณ์หรือไม่

ซึ่งจากปัจจัยเหล่านี้อาจกดดันให้ค่าเงินบาทในช่วงครึ่งปีหลังแข็งค่าไปที่ระดับ 31.75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หรือแข็งค่าสุดในรอบ 4 ปีได้ อย่างไรก็ตาม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา คาดการณ์ว่า ณ สิ้นปี 2561 ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 32.25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

“เมื่อค่าเงินบาทมีความผันผวนผู้ประกอบการทั้งนำเข้าและส่งออก จึงต้องทำป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (เฮดจิ้ง) ซึ่งขณะนี้ภาครัฐได้ร่วมมือกับเอกชนในการช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ผ่านโครงการอบรมจะได้รับวงเงินในการทำสิทธิในการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ (Fx Option) รายละ 30,000 บาท” นายตรรกกล่าว

ฟาก “จิติพล” ประเมินว่า ค่าเงินบาทปีหน้าอาจผันผวนไม่เท่าปี 2560 ที่ผ่านมา แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศเป็นหลัก โดยคาดว่าค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 30.50-34.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และมีปัจจัยแข็งค่าขึ้นจากการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยใหม่ ๆ ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ ขณะที่เศรษฐกิจไทยที่เติบโตดี จะยิ่งทำให้มีเงินไหลเข้าประเทศมาก การส่งออกยังขยายตัวได้ดี และการที่ไทยจะมีการเลือกตั้งในช่วงสิ้นปี 2561 น่าจะส่งผลให้คนให้ความสนใจและเข้ามาลงทุนมากขึ้น

ทั้งนี้ คาดว่าถึงสิ้นปี 2561 ค่าเงินบาทน่าจะอยู่ที่ระดับ 31.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

“ปัจจัยสำคัญในปี 2561 ที่อาจส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาท ได้แก่ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ซึ่งธนาคารกรุงไทยคาดว่าจะปรับขึ้นรวม 2-3 ครั้ง อาจเห็นในเดือน มี.ค. มิ.ย. และ ธ.ค. อย่างไรก็ตามยังคิดว่าเฟดไม่น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ถึง 3 ครั้ง เพราะยังติดปัญหาเงินเฟ้อที่ชะลอตัว ซึ่งหากฝืนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะส่งผลให้เงินเฟ้อลดลงด้วย และจะเกิดปัญหาต่อเนื่องตามมา” นายจิติพลกล่าว

ด้าน “ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร” ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) บอกว่า แนวโน้มเงินบาทในปีหน้า สศค. มองว่าจะยังคงแข็งค่าขึ้นมากกว่าปี 2560 ที่คาดว่าเฉลี่ยทั้งปีเงินบาทจะอยู่ที่ 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยปีหน้าค่าเงินบาทเฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ระดับ 33.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แต่ไม่ได้เป็นปัจจัยฉุดภาคการส่งออกของไทยที่กลับมาขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งส่งออกปีหน้ายังเติบโตได้ดี แต่ไม่ได้สูงเหมือนปีนี้แล้ว และจะต้องมีการดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐก็มีมาตรการออกมาแล้ว

“นอกจากนี้ การที่เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า ก็เป็นโอกาสดีที่เอกชนควรจะออกไปลงทุนต่างประเทศ หรือซื้อเครื่องมือเครื่องจักรเข้ามาเพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งตอนนี้มาตรการภาษีกระตุ้นการลงทุนที่ให้หักภาษีได้ 1.5 เท่า กำลังจะหมดในสิ้นปีนี้แล้ว” ดร.ศรพลกล่าว

เมื่อเห็นแนวโน้มและทิศทางค่าเงินบาท ยังคง “แข็งค่า” และ “ผันผวน” ต่อไปเช่นนี้ การเตรียมพร้อมรับมือไว้แต่เนิ่น ๆ น่าจะช่วยให้รับมือกับสถานการณ์ได้ดีกว่า