อาคม รมว.คลัง ตั้งเป้าเศรษฐกิจไทยโตไตรมาสละ 5%

รมว.คลัง เชื่อเศรษฐกิจไทยโต 3.5% ตั้งเป้าจากนี้ แต่ละไตรมาสโต 5% จับตาราคาน้ำมัน-ค่าอาหารพุ่ง ชี้เงินเฟ้อ 7.1% ต้องบาลานซ์นโยบายการเงิน-การคลัง

วันที่ 6 มิถุนายน 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในปี 2565 นี้ ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.5% ซึ่งหลังจากนี้ในแต่ละไตรมาส เศรษฐกิจไทยจะต้องขยายตัวได้ 5% โดยมีปัจจัยในการสนับสนุนคือ การส่งออกที่ตั้งเป้าหมายจะให้เติบโตได้ถึง 10%

ขณะเดียวกันยังได้รับอานิสงส์จากโควิด-19 ที่คลี่คลาย การท่องเที่ยวเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ดี และการใช้จ่ายที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการพิจารณาร่างงบประมาณปี 2566 ที่ผ่านวาระแรกไปแล้ว ขณะนี้อยู่ในชั้นของกรรมาธิการพิจารณา เชื่อว่าจะเป็นสิ่งที่สร้างความมั่นใจว่าภาครัฐยังมีการใช้จ่ายและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และเป็นส่วนสำคัญผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2565 และปี 2566

“เชื่อว่ามีเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะโตได้ทุกไตรมาสหลังจากนี้คือ 5% เราต้องมองโลกในแง่ดีด้วย ตอนนี้โควิด-19 กำลังจะไปจาก แต่คงไม่ได้ไปทั้งหมด ขณะที่ระดับการใช้จ่ายเริ่มเพิ่มขึ้น เห็นได้จากไตรมาสแรกที่ขยายตัวได้ดีถึง 3.9% ส่วนหนึ่งจากมาตรการคนละครึ่งในระยะที่ 4 ที่เปิดกว้างถึง 30 ล้านคน ซึ่งช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายได้ค่อนข้างมาก”

Advertisment

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ราคาอาหารสูงขึ้น รวมถึงสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ยังต้องติดตาม

ทั้งนี้ ยอมรับว่า ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด ส่งผลให้ไทยจำเป็นต้องกู้เงิน เพื่อช่วยเหลือ เยียวยาดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว รวม 1.5 ล้านล้านบาท ดังนั้นสิ่งที่เป็นโจทย์ของรัฐ คือ การรักษาวินัยการเงินการคลัง ดังนั้นหลังจากนี้เชื่อว่าการใช้จ่ายโดยเฉพาะของภาครัฐจะไม่เหมือนเดิม เพราะมีเงื่อนไขคือการใช้หนี้จากเงินกู้ และการสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นกับประเทศ นอกเหนือจากภาคการส่งออกและท่องเที่ยว

“นโยบายสำคัญที่หลายประเทศ จะเร่งดำเนินการรวมถึงไทย คือ การปรับโครงสร้าง การจัดเก็บรายได้ โดยเฉพาะการหาฐานภาษีใหม่ การจัดเก็บภาษีใหม่ ๆ โดยสิ่งที่อยู่ระหว่างการดำเนินการขณะนี้ คือ การจัดเก็บภาษีแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรม”

ส่วนกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ย จะเป็นผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยตามหรือไม่นั้น มองว่า เรื่องดังกล่าว เป็นสิ่งที่ ธปท.พิจารณา โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งเชื่อว่าจะต้องพิจารณาความเหมาะสม และสร้างความสมดุลทั้งเงินไหลเข้าและเงินไหลออก รวมถึงพิจารณาว่า เศรษฐกิจฟื้นเต็มที่หรือไม่ และดอกเบี้ยต้องไม่ปรับเพิ่มสูงเร็วเกินไป

Advertisment

“3 เรื่องที่เราอยากจะให้เกิด คือ 1.การเติบโต 2.เสถียรภาพ และ 3.การลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นสามโจทย์ที่ยากมาก เพราะเราต้องการเติบโตสูง แต่เสถียรภาพเงินเฟ้อตอนนี้ล่าสุด 7.1% เรารับได้ไหม หนทางที่ดีคือต้องบาลานซ์ ด้านนโยบายการเงินการคลังก็ต้องทำอย่างสอดประสานกันด้วย” นายอาคมกล่าว