จับตา ผลประชุม กนง.ประกาศทิศทางดอกเบี้ย คงที่หรือขาขึ้น

จับตา ผลประชุม กนง.ประกาศทิศทางดอกเบี้ย คงที่หรือขาขึ้น

คณะกรรมการนโยบายการเงิน ประชุมวันนี้ ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อล่าสุดทะลุไปถึง 7.1% ในสถานการณ์เศรษฐกิจฟื้นตัวหลังโควิด-19 นักวิเคราะห์ประเมิน ธปท. ใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ หนุนเศรษฐกิจฟื้น ก่อนคิดปรับหลังตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 ประกาศ

วันที่ 8 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 3 ของปี ที่จะเกิดขึ้นในวันนี้ กลับมาเป็นอยู่ในสนใจของตลาดเงินตลาดทุน และประชาชนทั่วไปอีกครั้ง ในขณะที่ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ปัจจุบันอยู่ที่ 0.5% ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจไทยเศรษฐกิจโลก ปัจจุบันที่เกิดขึ้น ได้แก่

1.กระทรวงพาณิชย์ ประกาศอัตราเงินเฟ้อทั่วไป สิ้นเดือน พ.ค. 2565 อยู่ที่ 7.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงสุดในรอบ 13 ปี ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน 2.28% เนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันในตลาดโลก จากการทยอยปรับราคาก๊าซหุงต้ม และ การปรับราคาค่าผันแปรไฟฟ้า (Ft)

2.ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีประชุมอีกครั้งในสัปดาห์หน้า (14-15 มิ.ย.) และมีการคาดการณ์ว่า เฟดน่าจะทำตามที่ประกาศไว้ในการประชุมเมื่อต้นเดือน พ.ค.ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง จากล่าสุดอยู่ที่ 1.0% และ น่าจะมีการทยอยปรับขึ้นครั้งละ 0.5% เพื่อให้ปลายปีอัตราดอกเบี้ยสหรัฐไปอยู่ที่ 2.75-3.0%

3.หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (7 มิ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวในช่วงนี้ของการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า “เท่าที่รับทราบและมีรายงานเข้ามา โดย ธปท. รายงานผ่านมายังกระทรวงการคลัง ว่าจะขอคงในส่วนนี้ไว้ก่อนเพื่อป้องกันไม่ให้เงินไหลออกนอกประเทศซึ่งเป็นหลักการทางเศรษฐศาสตร์อยู่แล้ว”

Advertisment

4.ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า ส่งผลให้เงินสกุลอื่น ๆ เทียบดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าทำสถิติรายวัน ทำให้ดัชนีดอลลาร์ (dollar index) ทะลุระดับ 100 อีกครั้ง และตามรายงานภาวะเศรษฐกิจการเงิน ล่าสุดระบุว่าเดือนพฤษภาคม 2565 ความผันผวนของเงินบาทเทียบดอลลาร์ปรับสูงขึ้นจาก เดือนก่อนหน้า จากความกังวลของนักลงทุนต่ออัตราเงินเฟ้อและการเร่งขึ้นของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ และเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

5.ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล หลังจากเกินดุลมาหลายปี โดย สิ้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากดุลการค้าที่เกินดุล น้อยลง ตามการส่งออกทองคำที่ลดลงเป็นสำคัญ และดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลมากขึ้น ตามงวดการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของธุรกิจต่างชาติ ขณะที่ดุลการเงิน ขาดดุล 6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ด้วยสถานการณ์เงินเฟ้อที่สูงขึ้น ท่ามกลางการค่อย ๆ ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ทำให้การประชุม กนง. วันนี้ จึงถูกจับตามองถึงแนวโน้มต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะส่งผ่านถึงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนการเงินของภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไปต่อไป

ดร.เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การประชุม กนง.ครั้งนี้ น่าจะยังมีการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ต่อไป และโดยความเห็นส่วนตัว จากการประมวลสถานการณ์รวมถึงความเห็นของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ ธปท. ก็มีทิศทางเดียวกันมาตลอดและชัดเจนว่า จะใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

Advertisment

อย่างไรก็ตาม หลังการประชุม กนง. วันนี้ ต้องจับตาดูถ้อยแถลงของ กนง.ถึงการประมาณการเงินเฟ้อระยะข้างหน้า และการส่งสัญญาณทิศทางเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยหลังจากนี้ ขึ้นอยู่ที่เงินเฟ้อจะพีกไปถึงระดับใด และทิศทางเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยไปสู่ระดับที่สูงกว่า 3% ในปลายปีนี้หรือไม่

“ดังนั้นคาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะมีการพิจารณาปรับในการประชุมรอบครึ่งปีหลัง หรือหลังประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 ซึ่งก็ราว ๆ เดือน ส.ค.” ดร.เชาว์ กล่าว

ทั้งนี้ การประชุม กนง. มีปีละ 6 ครั้ง โดยหลังจากวันนี้ จะมีการประชุมอีก 3 ครั้ง ในวันที่ 10 ส.ค. /28 ก.ย. /และ 30 พ.ย.