‘รฟม.’โต้’ดร.สามารถ’แถลงยันสายสีส้มไร้ทุจริต-ชี้ตัวเลขเอกชนอ้างส่วนต่าง 6.8 หมื่นล้านไร้ที่มา

ความคืบหน้ากรณีการคัดเลือกเอกชนดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ล่าสุด การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ออกแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ ระบุว่า จากกรณีที่ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองผู้ว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) โพสต์เฟซบุ๊กขอให้ “รฟม.” และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยข้อมูลการคัดเลือกเอกชนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) นั้น รฟม. ใคร่ขอเรียนชี้แจงกรณีดังกล่าว ดังนี้

1) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ออกแถลงการณ์ ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2565 เรื่องกรณี 6.8 หมื่นล้าน ในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ในลักษณะพาดพิงและสื่อไปในทางกล่าวหาว่าเกิดการทุจริต คดโกงในการคัดเลือกเอกชนฯ

2) รฟม. ได้ออกข่าวประชาสัมพันธ์ ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2565 ชี้แจงกรณีแถลงการณ์ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ว่าการคัดเลือกเอกชนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ตามประกาศเชิญชวนฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เป็นการดำเนินการภายใต้ข้อตกลงคุณธรรม ที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ในฐานะตัวแทนภาคเอกชนได้ส่งผู้สังเกตการณ์ 5 ท่าน เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการพิจารณาคัดเลือกเอกชนฯ ทุกขั้นตอน และไม่ปรากฏว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้รับแจ้งข้อสังเกตใดจากผู้สังเกตการณ์

3) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้โพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 แจ้งว่า องค์กรฯ ยังไม่ได้ชี้ว่า มีการทุจริตเกิดขึ้นแล้ว

4) การคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งแรก ตามประกาศเชิญชวนฉบับวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว และเอกชนที่ยื่นข้อเสนอฯ ทั้ง 2 ราย ได้รับคืนซองเอกสารข้อเสนอฯ แล้ว จึงไม่สามารถกลับไปดำเนินการให้แล้วเสร็จได้อีก

5) กรณีคดีระหว่าง BTSC (ผู้ฟ้องคดี) กับ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ (ผู้ถูกฟ้องคดี) เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองระงับการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนฯ ตามประกาศเชิญชวนฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 โดย BTSC ได้กล่าวอ้างว่าการกำหนดเงื่อนไขทำให้พันธมิตร บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งฯ ไม่สามารถยื่นข้อเสนอได้ ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองกลางได้พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า การดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เป็นการดำเนินการที่เป็นไปตามขั้นตอนตามประกาศคณะกรรมการ PPP และตามวัตถุประสงค์ในมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2562 นอกจากนี้ ประกาศเชิญชวนฯ มีการเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วมการคัดเลือกมากขึ้น เกิดการแข่งขันมากกว่าประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ประกาศเชิญชวนฯ จึงไม่มีลักษณะตัดสิทธิหรือกีดกันผู้ร้องมิให้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอ ซึ่งผู้ร้องฯ สามารถยื่นข้อเสนอได้เช่นเดียวกันกับเอกชนรายอื่น ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่ง เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ยกคำร้องฯ ดังกล่าว

6) เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้อ่านคำพิพากษาในชั้นไต่สวนมูลฟ้องคดีหมายเลขดำที่ อท30/2564 ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC  (โจทก์) กับ นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กับพวก (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) รวม 7 คน (จำเลย) โดยศาลอาญาฯ ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าจำเลยทั้ง 7 ได้ร่วมกันใช้ดุลพินิจแก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอตามประกาศเชิญชวน ฉบับวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 เพื่อประโยชน์ของรัฐตามข้อเท็จจริง และตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2562 ประกาศคณะกรรมการ PPP โดยไม่มีพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่ามีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ หรือกระทำที่นอกขอบเขตแห่งกฎหมาย ไม่ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การกระทำของจำเลยทั้ง 7 จึงไม่มีมูลความผิดตามฟ้อง ศาลอาญาฯ จึงพิพากษายกฟ้อง

7) ผลประโยชน์ของรัฐที่เอกชนเสนอแตกต่างกันมากถึง 6.8 หมื่นล้านบาท ตามที่มีการกล่าวอ้าง น่าจะเป็นการเปรียบเทียบกับตัวเลขข้อเสนอที่เอกชนรายหนึ่งทำการเปิดเผยตัวเลขผลประโยชน์ของรัฐที่อ้างว่าเป็นข้อเสนอตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ซึ่งได้ยกเลิกไปแล้ว ข้อเสนอที่กล่าวอ้างจึงมิได้ผ่านการพิจารณาตามเกณฑ์การประเมินที่ประกอบด้วยข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ข้อเสนอด้านเทคนิค และข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน รวมถึงเงื่อนไขข้อจำกัดต่าง ๆ ตามลำดับ ประกอบกับเป็นซองข้อเสนอที่เปิดเป็นการภายในของเอกชนเอง ตัวเลขที่อ้างไม่สามารถยืนยันที่มาที่ไปได้ จึงไม่น่าเชื่อถือ และไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้กับข้อเสนอที่ผ่านการประเมินตามหลักเกณฑ์กำหนด 

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระบุว่า ตามที่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) หรือคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการเปิดซองข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน ของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ “บีอีเอ็ม” (BEM) และ ITD Group โดยมีผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรมและผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 เข้าร่วม เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร และร่วมเป็นสักขีพยาน เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 นั้น

ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้พิจารณาผลการประเมินซองข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน ซึ่งผลปรากฏว่า บีอีเอ็ม เป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินสูงสุด ทั้งนี้ ในลำดับถัดไป รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะดำเนินการเชิญผู้ผ่านการประเมินสูงสุดดังกล่าวมาเจรจาต่อรอง ตามขั้นตอนที่ระบุในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (อาร์เอฟพี) และพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ต่อไป

นอกจากนั้น รฟม. ยังได้ชี้แจงหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนว่า ไม่สามารถพิจารณาเฉพาะข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอนแทนเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาข้อเสนอด้านคุณสมบัติและเทคนิคขั้นสูงของผู้เข้าคัดเลือกด้วย เพราะเป็นสิ่งสำคัญมากในการก่อสร้าง ทั้งเรื่องความปลอดภัย รวมถึงพื้นที่ก่อสร้างบางจุดที่มีความละเอียดอ่อน ต้องเจาะลอดแม่น้ำเจ้าพระยา พาดผ่านพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ เป็นต้น

ที่มา เว็บไซต์ “รฟม.” : https://bit.ly/3VT67ay