กรมทรัพยากรทางทะเลฯ เตือนระวังแมงกะพรุนชี้เรื่องปกติตามฤดูกาล

แฟ้มภาพประกอบข่าว

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า กรณีสื่อออนไลน์ต่างๆ กล่าวถึงการพบนักท่องเที่ยวจำนวน 23 ราย ได้รับบาดเจ็บจากการโดนพิษของแมงกะพรุนในทะเล บริเวณชายหาดชลาทัศน์ และชายหาดสมิหลา จังหวัดสงขลา เมื่อช่วงวันที่ 17 – 19 ก.พ. 2561 ที่ผ่านมา

โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง เข้าตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่าเป็นแมงกะพรุนหัวขวด ชนิด Physalia utriculus ซึ่งจัดเป็นแมงกะพรุนที่มีพิษค่อนข้างรุนแรง จึงแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวที่ลงเล่นน้ำริมชายหาด พร้อมทั้งให้คำแนะนำในเบื้องต้นเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลหากได้รับบาดเจ็บจากแมงกะพรุนดังกล่าว

แมงกะพรุนหัวขวดพบได้ในทะเลเปิดและจะถูกพัดเข้าสู่ฝั่งโดยคลื่นลมที่รุนแรงเนื่องจากมีส่วนบนของตัวที่ลอยโผล่พ้นน้ำมีลักษณะเรียว รี ยาว ที่ขอบด้านบนสุดมีลักษณะเป็นสันย่น ทำให้สามารถแพร่กระจายบนผิวน้ำตามแรงลม ข้อมูลจากการสำรวจที่ผ่านมาพบแมงกะพรุนชนิดนี้เกยตื้นทั้งทางฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย โดยทางฝั่งทะเลอันดามันมักพบในช่วงลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ หรือช่วงเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนตุลาคม ขณะที่ฝั่งอ่าวไทยพบในช่วงลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนจนถึงมกราคม การพบแมงกะพรุนในพื้นที่ครั้งนี้จึงไม่ใช่การระบาดหรือเป็นความผิดปกติแต่อย่างใด

ลักษณะอาการของการได้รับพิษแมงกะพรุนชนิดนี้คือบริเวณที่สัมผัสแมงกะพรุนหัวขวดจะมีอาการปวดแสบปวดร้อน ผู้ป่วยอาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก ทั้งนี้การพยาบาลเบื้องต้นให้ใช้น้ำส้มสายชูราดต่อเนื่องบริเวณที่สัมผัส อย่างน้อย 30 วินาที และให้รีบส่งผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลเพื่อรักษาตามอาการต่อไป