
เก็บตกการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นำเสนอผลงานเกือบ 4 ปี
ได้ผลักดันการดำเนินการสำคัญจนมีผลเป็นรูปธรรม 79 นโยบาย 157 โครงการ มีผลเชิงสถิติของ Logistic Performance Index โดยธนาคารโลก ที่ไทยได้รับ
การจัดอันดับสูงขึ้นกว่าเดิม 13 อันดับ จากอดีตเคยอยู่อันดับที่ 45 ปรับดีขึ้นมาเป็นอันดับที่ 32
สำหรับ 6 ประเด็นที่ ส.ส. อภิปรายพาดพิงการดำเนินการของกระทรวงคมนาคม มีคำชี้แจง ดังนี้
1.ประเด็นการต่อขยายสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 และทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด
โดย “กทพ.-การทางพิเศษแห่งประเทศไทย” ให้ข้อมูลว่า การอภิปรายพาดพิงหากแพ้คดีกับเอกชนผู้รับสัมปทาน จะมีมูลค่าสูงถึง 3 แสนล้านบาท เป็นมูลค่าที่สูงกว่าข้อเท็จจริง ที่จะมีมูลหนี้ 1.37 แสนล้านบาท และ กทพ.เจรจาต่อรองจนเหลือ 7.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นฐานในการคำนวณขยายเวลาสัญญา
นอกจากนี้ มีการเพิ่มเงื่อนไขให้ประชาชนขึ้นทางด่วนฟรีในวันหยุดนักขัตฤกษ์ ทำให้ผู้ใช้ทางด่วนได้รับประโยชน์ 19 วันต่อปี หรือ 300 วันตลอดอายุสัมปทาน คิดเป็นมูลค่า 10,867.50 ล้านบาท
ส่วนตัวเลขการขาดทุนที่อภิปรายจำนวน 65,000 ล้านบาท เป็นตัวเลขทางบัญชี สถานะการเงิน กทพ.มีกำไรทุกปี และนำเงินส่งรัฐเฉลี่ยปีละ 3,000-4,000 ล้านบาทอย่างต่อเนื่อง ส่วนกรณีการขยายสัญญาตามมติคณะรัฐมนตรีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง ยังไม่ได้มีข้อสรุป
2.ประเด็นการไม่บันทึกบัญชีที่ดินเขากระโดง ในงบการเงินของการรถไฟฯ
ข้อมูลจาก “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” การบันทึกบัญชีที่ดินในงบการเงินจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 ระบุเป็นที่ดินที่ไม่มีปัญหาการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ ดังนั้น ที่ดินบริเวณเขากระโดงจึงได้บันทึกเฉพาะที่ดิน 69.19 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินเส้นทางเดินรถแยกจากสถานีรถไฟบุรีรัมย์เข้าไปที่ดินของการรถไฟฯ บริเวณเขากระโดง ไม่มีปัญหาการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ มีข้อมูลครบถ้วน ชัดเจน
สำหรับพื้นที่ที่เหลือ 5,083 ไร่ ที่ยังไม่ได้บันทึกทะเบียนสินทรัพย์นั้น เป็นที่ดินที่ยังมีปัญหาการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ อยู่ระหว่างการพิสูจน์สิทธิ ไม่สามารถลงบันทึกในทะเบียนสินทรัพย์ ซึ่งการรถไฟฯได้ฟ้องเพื่อพิสูจน์สิทธิต่อศาลปกครองกลางไปแล้ว
3.ประเด็นผู้โดยสารแออัดที่สนามบินสุวรรณภูมิ
เรื่องนี้ได้ลงพื้นที่ตรวจปัญหาและอำนวยการเพิ่มเติม อาทิ เปิดให้บริการจุดเช็กอินอัตโนมัติ (Common Use Self Check-In : CUSC) จุดโหลดกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (Common Use Bag Drop : CUBD) บริเวณโถงผู้โดยสารขาออก ชั้น 4 แก้ปัญหาแออัดคับคั่งหน้าเคาน์เตอร์เช็กอิน
แก้ไขปัญหาล่าช้าในการรอสัมภาระ โดยให้บริษัทผู้ให้บริการภาคพื้นทั้ง 2 รายเพิ่มบุคลากรและอุปกรณ์ ให้สอดคล้องกับจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากการเปิดประเทศ และ “ทอท.-บมจ.ท่าอากาศยานไทย” ได้ขยายเวลาให้บางสายการบินให้บริการภาคพื้นด้วยตนเองเป็นการชั่วคราว
4.ประเด็นการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม
สำหรับการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นไปตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 ที่คณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้อนุมัติให้ดำเนินโครงการร่วมทุน ทางหน่วยงานเจ้าของโครงการ และคณะกรรมการคัดเลือกทำการคัดเลือกเอกชนตามหลักกฎหมาย กฎระเบียบ และหลักธรรมาภิบาล จนได้ผลการคัดเลือกเอกชน ส่งร่างเอกสารให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบ
หลังจากนั้น หน่วยงานเจ้าของโครงการส่งร่างสัญญาและเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุนต่อรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ซึ่งจะเห็นได้ว่า รัฐมนตรีไม่มีอำนาจและหน้าที่ในการดำเนินการคัดเลือกเอกชน หรือกำหนดเงื่อนไข ซึ่งปัจจุบัน “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” อยู่ระหว่างรอคำพิพากษาของศาลให้ถึงที่สุดก่อน จึงจะดำเนินการขั้นต่อไป
5.ประเด็นความล่าช้ามอเตอร์เวย์ “บางปะอิน-นครราชสีมา”
เรื่องนี้ ได้สั่งการให้ “ทล.-กรมทางหลวง” เร่งรัดการก่อสร้างอย่างเต็มที่ คาดว่าปลายปี 2566 สามารถเปิดทดลองวิ่งช่วงปากช่องถึงปลายทางบริเวณทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ระยะทาง 80 กิโลเมตร ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้เอกชนคู่สัญญา เพื่อเร่งรัดงานติดตั้งต่าง ๆ เช่น ระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง M-FLOW, ระบบบริหารควบคุมการจราจร โดยเริ่มทดสอบระบบ, ทยอยเปิดทดลองให้บริการได้ในปี 2567 ตามแผนจะเปิดใช้งานเต็มรูปแบบในปี 2568
6.ประเด็นสัญญาระบบตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่องด้วยตัวเอง (CUPPS) ของ ทอท.
ข้อมูล “ทอท.” ได้ดำเนินการเปรียบเทียบการลงทุนเองกับการว่าจ้างเอกชน พบว่า การให้เอกชนลงทุนจะประหยัดงบประมาณ 2,048 ล้านบาท ส่วนการประกันปริมาณผู้โดยสาร 90% นั้น เกิดขึ้นในยุคก่อนโควิด ซึ่งจะรับไปแจ้งให้ ทอท. เจรจากับเอกชนโดยให้เอกชนรับค่าจ้างเท่าปริมาณผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริง กรณีที่จะมีการเยียวยาต้องดำเนินการตามหลักการตามมติคณะรัฐมนตรีด้วย