กทม.เผยยอดผู้ป่วยคลินิกมลพิษทางอากาศ วันที่ 1-12 มี.ค.จำนวน 148 ราย

ผู้ป่วยเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ
ภาพจาก PIXABAY

ยอดผู้ป่วยคลินิกมลพิษทางอากาศใน กทม.ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม พบแล้วกว่า 148 ราย ขณะที่ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2565-12 มี.ค. 2566 มีจำนวน 883 ราย

วันที่ 14 มีนาคม 2566 นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงสถานการณ์ผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษา ณ คลินิกมลพิษทางอากาศของกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 1-12 มี.ค. 66 ว่า มีประชาชนเข้ามารับบริการ ณ คลินิกมลพิษทางอากาศ ซึ่งตั้งอยู่ในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน

โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลสิรินธร โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และ รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ รวมจำนวนทั้งสิ้น 148 ราย โดยในวันที่ 10 มี.ค. มีผู้ป่วยมาเข้ารับการรักษามากที่สุด 48 ราย อย่างไรก็ตาม หลังจากวันที่ 10 มี.ค. จำนวนผู้ป่วยลดลงตามลำดับ โดยวานนี้มีผู้ป่วยเข้ารับบริการ 8 ราย

นายเอกวรัญญู อัมระปาล โ
ภาพจากเว็บไซต์ กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า ผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจเป็นกลุ่มมาเข้ารับการรักษาสูงสุด รองลงมาคือ โรคหลอดเลือดสมอง ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ตาอักเสบ และหอบหืด ตามลำดับ

สำหรับผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจที่มีสาเหตุมาจากฝุ่น PM 2.5 ส่วนใหญ่จะมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หอบหืดเฉียบพลัน หรือหลายอาการร่วมกัน ซึ่งต้องได้รับคำแนะนำและการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์

โดยทางคลินิกมลพิษทางอากาศ จะคัดกรองอาการ ให้คำแนะนำและให้การรักษา รวมถึงการซักประวัติเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุและให้ข้อแนะนำในการปรับพฤติกรรมต่าง ๆ ให้เหมาะสม ซึ่งประชาชนสามารถคัดกรองประเมินอาการตนเองในเบื้องต้น และหากมีอาการรุนแรงสามารถเข้าสู่ระบบการรักษาที่โรงพยาบาลได้ทันที ทั้งนี้เป็นไปตามสิทธิการรักษาพยาบาลที่แต่ละท่านมีตามกฎหมาย

นายเอกวรัญญู อัมระปาล
ภาพจากเว็บไซต์ กรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ ประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมหรือขอรับคำปรึกษาผ่านสายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร โทร.1646 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

สธ.เผยยอดผู้ป่วยคลินิกมลพิษทางอากาศ ทั้งประเทศ

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากรายงานสถานการณ์หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประจำวันที่ 8 มีนาคม 2566 พบพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 เกิน 51 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ซึ่งเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ติดต่อกันเกิน 3 วัน จำนวน 15 จังหวัด ได้แก่ น่าน (อ.เมือง อ.เฉลิมพระเกียรติ) เชียงใหม่ (อ.เมือง อ.ฮอด อ.เชียงดาว อ.แม่แจ่ม)

เชียงราย (อ.เมือง อ.แม่สาย อ.เชียงของ) แพร่ (อ.เมือง) พะเยา (อ.เมือง) ลำพูน (อ.เมือง อ.ลี้) ลำปาง (อ.เมือง อ.แม่เมาะ) แม่ฮ่องสอน (อ.เมือง อ.แม่สะเรียง อ.ปาย) อุตรดิตถ์ (อ.เมือง) สุโขทัย (อ.เมือง) ตาก (อ.แม่สอด อ.เมือง) พิษณุโลก (อ.เมือง) เพชรบูรณ์ (อ.เมือง) นนทบุรี (อ.เมือง อ.ปากเกร็ด) และ กทม.ทั้ง 50 เขต

โดยมีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว 15 จังหวัด และกำลังเปิดเพิ่มอีก 6 จังหวัด ส่วนพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นมากกว่า 51 มคก./ลบ.ม. แต่ไม่ต่อเนื่องเกิน 3 วันมี 36 จังหวัด

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์
ภาพจากเว็บไซต์ THAIGOV

“ค่าฝุ่น PM 2.5 ปีนี้สูงกว่าปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปี 2564 และ 2565 เป็นช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 การเดินทางน้อย ทำให้มีค่าฝุ่นน้อย อย่างไรก็ตาม จากการประเมินสถานการณ์ วันที่ 9-14 มีนาคม 2566 โดยกรมควบคุมมลพิษ พื้นที่ กทม.และปริมณฑลมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากมีลมทางใต้ช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ ส่วนภาคเหนือตอนบนและตอนล่างยังมีแนวโน้มสูงขึ้น” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน สถานการณ์ฝุ่นจะค่อย ๆ ลดลง คาดว่าจะยังมีปัญหาอยู่อีก 1-2 สัปดาห์ จึงต้องเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยง ทั้งผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคทางปอดและหัวใจ รวมถึงเด็กเล็ก โดยช่วงที่มีค่ามีฝุ่นสูงควรเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้เฝ้าระวังและดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม-5 มีนาคม 2566 พบผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศรวม 1,325,838 ราย โดยสัปดาห์นี้พบผู้ป่วย 196,311 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาที่พบ 161,839 ราย กลุ่มโรคที่เจ็บป่วยสูงสุด ได้แก่ กลุ่มโรคทางเดินหายใจ 583,238 ราย

เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 85,910 ราย, กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ 267,161 ราย เพิ่มขึ้น 35,878 ราย กลุ่มโรคตาอักเสบ 242,805 ราย เพิ่มขึ้น 36,537 ราย และโรคหัวใจ หลอดเลือดและสมอง 208,880 ราย เพิ่มขึ้น 33,413 ราย