จ่อออกพ.ร.ก.เร่งด่วน! “วิษณุ” ประกาศชัดรบ.ไทยต้องคุม “เงินดิจิตอล” อันตรายปล่อยไม่ได้

“วิษณุ” ประกาศชัด รบ.ไทยต้องคุม “คริปโตเคอเรนซี” ชี้ เป็นเรื่องเร่งด่วน อาจออก พ.ร.ก. มาคุม ยัน ไม่งัด ม.44 ย้ำ หากปล่อยจะเป็นอันตราย เสี่ยงฟอกเงิน-อาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 7 มีนาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ประชุมเรื่องแนวทางการกำกับดูแลเงินสกุลดิจิทัล(คริปโตเคอเรนซี) ว่า ยังไม่มีอะไรใหม่ไปจากเดิม การหารือยังไม่เรียบร้อย แต่รัฐบาลจะต้องควบคุมเรื่องคริปโตเคอเรนซี และจะต้องดูว่าจะออกกฎหมายมาควบคุมอย่างไร ตอนนี้ยังตอบไม่ถูก แต่คงไม่ได้ใช้มาตรา 44 ใช้กฎหมายปกติ เพราะฉะนั้น แนวโน้มของเรื่องนี้จึงต้องออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แต่ขอดูเนื้อหาก่อนว่ามันยืดยาวมากน้อยแค่ไหน และถือว่าเป็นธุรกรรมที่จะต้องมีการควบคุมโดยเร่งด่วน

“เรื่องนี้เป็นเรื่องยากในการทำความเข้าใจ เบื้องต้นได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปลองทำกันดู ถ้ามีปัญหาก็จะนำมาคุยกันใหม่ แต่ถ้าไม่มีปัญหาก็อาจต้องนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สักรอบ ซึ่งเรื่องยากของเรื่องนี้คือเป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน อธิบายให้ชาวบ้านฟังก็ไม่เข้าใจ นึกไม่ออกว่าจะเล่นยังไง เพราะฉะนั้นจึงต้องพยายามออกแนวทางให้ได้ ” นายวิษณุกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ตามข้อสั่งการของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ย้ำว่าจะต้องประกาศแนวทางกำกับคริปโตเคอเรนซีภายในเดือนมีนาคมนี้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของหน่วยงานกำกับทั้ง 4 หน่วย จะต้องกลับไปดูบางส่วนเพิ่มเติม ซึ่งเข้าใจว่าภายใน 1-2 วันนี้จะทำเสร็จ เพราะวันนี้ได้นำข้อเสนอหรือแนวทางมาพิจารณาในที่ประชุมแล้ว นอกจากนี้แล้วขณะนี้ยังพบปัญหาบางอย่าง เช่น การนิยามคำว่าคริปโตเคอเรนซีที่ยังไม่ตรงกันเมื่อแปลไม่ถูกก็จะยุ่งในการนำไปใช้ และอาจจะกลายเป็นว่าไปโดนเรื่องอื่นที่ไม่ตั้งใจก็ได้

“แนวทางการกับดูแลในต่างประเทศเองก็มีอยู่ 2 แนวทาง คือ ปล่อยเสือเข้าป่าไปเลย แล้วแต่ว่าจะไปทำอะไร จะเจ๊ง จะล้มละลาย จะถูกโกงก็ได้ กับอีกแนวทางคือ ควบคุมและจะต้องมาขออนุญาตทางรัฐบาล สำหรับรัฐบาลไทยจึงเลือกแนวทางหลังนี้ คือไม่ปล่อยเพราะมันอันตราย จะนำไปสู่การฟอกเงิน การอาชญากรรมข้ามชาติได้ เมื่อเข้าระบบจะตามไม่ได้ว่าเป็นของใคร หากมีการโกงก็จับตัวขึ้นศาลยาก จึงต้องออกมาควบคุมตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานกฤษฎีกาก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปศึกษาเรื่องนี้ในต่างประเทศแล้วด้วย ” นายวิษณุกล่าว

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์