กรมทางหลวงชนบท สร้างสะพานเชื่อมระบบนิเวศ แห่งแรกในประเทศไทย

สะพานเชื่อมระบบนิเวศน์
ภาพจากเพจ กรมทางหลวงชนบท

กรมทางหลวงชนบท สร้างสะพานเชื่อมระบบนิเวศ แห่งแรกในประเทศไทย บนถนนสาย รย.4060 จังหวัดระยองและจันทบุรี คาดแล้วเสร็จกลางปี 2568 เพิ่มความปลอดภัยในการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า เพิ่มศักยภาพการเดินทางให้ประชาชน พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยว

วันที่ 25 เมษายน 2566 กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กระทรวงคมนาคม ดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานบนถนนทางหลวงชนบทสาย รย.4060 อำเภอเขาชะเมาและแก่งหางแมว จังหวัดระยองและจันทบุรี “สะพานเชื่อมระบบนิเวศแห่งแรกในประเทศไทย” เพื่อความปลอดภัยในการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า และเพิ่มศักยภาพในการเดินทางให้กับประชาชน รวมถึงขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างยั่งยืน

สะพานเชื่อมระบบนิเวศน์
ภาพจากเพจ กรมทางหลวงชนบท

ทช. ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างสะพาน จำนวน 2 แห่ง บริเวณ ช่วง กม. ที่ 4+525 – 5+155  และ กม. ที่ 9+517.25 – 9+937.25 เพื่อเชื่อมต่อระบบนิเวศระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน และอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง จากเดิมที่มีถนนคั่นกลางมาเป็นสะพานเพื่อให้รถยนต์สามารถสัญจรผ่านได้ มีการรื้อถนนเดิมบางส่วนเพื่อให้สัตว์ป่าสามารถเดินลอดใต้สะพานได้อย่างสะดวกปลอดภัย

สะพานเชื่อมระบบนิเวศน์
ภาพจากเพจ กรมทางหลวงชนบทน

ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าและพรรณพืช ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันระหว่างคนและสัตว์ป่าอย่างยั่งยืน โดย ทช. ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการเข้าใช้ประโยชน์ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว ลักษณะของสะพานทั้งสองแห่งนี้ มีความกว้างเท่ากัน คือ 11 เมตร รองรับการจราจร  2 ช่องทาง (ไป-กลับ)

โดยสะพานแห่งที่ 1 มีความยาวรวม 630 เมตร และสะพานแห่งที่ 2 มีความยาวรวม 420 เมตร ทั้งสองสะพานมีที่จอดรถบนสะพาน มีความยาวด้านละ 30 เมตร ทั้งสองด้านของสะพาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่และประชาชนผู้ที่สนใจสังเกตพฤติกรรมของสัตว์ป่าที่เดินผ่านหรืออาศัยอยู่ในบริเวณสะพานเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในประเทศอีกทางหนึ่ง ใช้งบประมาณก่อสร้างรวม 587.516 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2568

สะพานเชื่อมระบบนิเวศน์
ภาพจากเพจ กรมทางหลวงชนบท
สะพานเชื่อมระบบนิเวศน์
ภาพจากเพจ กรมทางหลวงชนบท