BITE SIZE : ย้อนวันวาน ไอทีวี (ITV)-ทีไอทีวี (TITV) ทีวีเสรีของเมืองไทย

Prachachat BITE SIZE
โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ

วันที่ 1 กรกฎาคม 2539 หรือวันนี้เมื่อ 27 ปีที่แล้ว เป็นวันที่ถือกำเนิดสถานีโทรทัศน์ช่องใหม่ของประเทศไทย และเป็นสถานีโทรทัศน์ที่เกิดขึ้นจากประชาชนที่ต้องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้อง อิสระจากการแทรกแซงของภาครัฐ

จากข้อเรียกร้องในวันนั้น นำมาสู่การก่อตั้ง ไอทีวี (ITV) ทีวีเสรีช่องแรกและช่องเดียวของไทย ที่เกิดขึ้นบนเจตจำนงเสรีแห่งการนำเสนอข่าวที่ครบถ้วน เจาะลึก และอิสระจากกลุ่มอำนาจ

จาก “พฤษภาทมิฬ” สู่ “ทีวีช่องใหม่”

ย้อนเวลากลับไปเมื่อเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 มีปัญหาเรื่องการนำเสนอข่าวเกิดขึ้น โดยช่วงเหตุการณ์ดังกล่าว ภาครัฐเข้าแทรกแซง ปิดกั้นการนำเสนอข่าว และปัญหานี้ก็เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของภาคประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลผลักดันให้เกิดสื่ออิสระขึ้น

สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ยุครัฐบาล อานันท์ ปันยารชุน 2 ซึ่งเป็นรัฐบาลแรกหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ รับลูกในการก่อร่างสร้างทีวีช่องใหม่เกิดขึ้น โดยเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมประมูลสัมปทาน เสนอผลประโยชน์ที่จะมอบให้แก่รัฐตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี โดยเงื่อนไขสำคัญของสัมปทานนี้ คือ

1. บริษัทรับสัมปทาน ต้องมีผู้ถือหุ้น 10 ราย ถือหุ้นเท่ากันทุกราย คือประมาณ 10% และจะต้องแปรสภาพเป็น บริษัทมหาชนจำกัด เพื่อป้องกันการผูกขาด

2. ผังรายการต้องมีสัดส่วนข่าวและบันเทิง 70 ต่อ 30 กล่าวคือ ข่าว-สาระ อย่างน้อย 70% ความบันเทิง ไม่เกิน 30% และช่วงไพรมไทม์ (19.00-21.00 น.) ไฟลต์บังคับเป็นรายการข่าว-สาระเท่านั้น

ทันทีที่เปิดให้เอกชนยื่นซองประมูล ก็มีหลายบริษัทรวมกลุ่มกันเข้าประมูล ทั้งที่เป็นธุรกิจสื่ออยู่เดิม และธุรกิจอื่น ๆ

และผู้ที่ได้สัมปทานนี้ไป คือ กลุ่มบริษัท สยามทีวีแอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ซึ่งนำทัพโดย ธนาคารไทยพาณิชย์ พร้อมด้วยกลุ่มธุรกิจสื่อ เช่น กันตนา, สหศินิมา, บอร์น แอนด์ แอสโซซิเอทด์ ซึ่งมีทั้งธุรกิจที่รวมกลุ่มเป็น กลุ่มสยามทีวีฯ ตั้งแต่แรก และเป็นธุรกิจที่ไม่ชนะการประมูลแต่ได้รับการเชื้อเชิญให้มาร่วมงานในภายหลัง โดยเฉพาะเครือเนชั่น ซึ่งเป็นหัวหอกสำคัญของการก่อร้างสร้างทีวีเสรีแห่งนี้ให้เกิดขึ้น

สำหรับผลตอบแทนที่เสนอนั้น กลุ่มบริษัทสยามทีวีฯ เสนอผลตอบแทนสูงถึง 25,200 ล้านบาท ตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี หรือเฉลี่ยปีละ 840 ล้านบาท และเริ่มออกอากาศเป็นทางการ 1 กรกฎาคม 2539 ภายใต้ชื่อ “บริษัท สยาม อินโฟเทนเมนท์ จำกัด” ก่อนจะมีการแปรสภาพเป็น “บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)” ซึ่งเป็นไปตามที่สัญญากำหนดเรื่องการแปรสภาพเป็น “บริษัทมหาชนจำกัด”

หลายคนอาจจะสงสัยว่า ค่าสัมปทาน 2 หมื่นกว่าล้าน เยอะขนาดไหน ?

คณะผู้วิจัย TDRI รวบรวมค่าสัมปทานของสถานีโทรทัศน์ที่รับสัมปทานจากภาครัฐ ทั้งค่าสัมปทานของไอทีวี และค่าสัมปทานอีก 2 ช่อง คือ ช่อง 3 รับสัมปทานจาก อสมท และช่อง 7 รับสัมปทานจากกองทัพบก

จะเห็นตัวเลขแบบชัดเจนว่า ทั้งช่อง 3 และช่อง 7 จ่ายค่าสัมปทานเฉลี่ยเพียงหลัก 1-2 ร้อยล้านบาทต่อปี ขณะที่ไอทีวี จ่ายค่าสัมปทานในระดับที่นับว่าสูงเป็นอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้น ค่าสัมปทานสูงจากราคากลางที่กำหนดไว้ที่ 10,000 ล้านบาทอีกด้วย

“ทีวีเสรี” ที่ไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบ

การเริ่มต้นทีวีช่องนี้ ต้องยอมรับเลยว่า ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบจริง ๆ ตั้งแต่การออกแบบรายการในผังที่ต้องเน้นข่าวมากกว่าความบันเทิง ไหนจะเรื่องการออกอากาศที่ใช้สัญญาณแบบ UHF ซึ่งยิ่งใหม่สำหรับโทรทัศน์เมืองไทยอีก ทำให้ไอทีวีต้องใช้เวลาในการทำให้ผู้คนรู้จักทีวีเสรีแห่งนี้มากขึ้น

ยังไม่รวมถึงปัจจัยใหญ่อย่างวิกฤต ต้มยำกุ้ง หรือการขายโฆษณาที่รายการข่าว ไม่ได้ขายโฆษณาได้ดีเท่ากับทุกวันนี้ ทำให้ช่วงแรกของไอทีวี ประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก

ภาคหลัง ยุครัฐบาล “ชวน หลีกภัย” 2 มีการแก้สัมปทานไอทีวี ให้ผู้ถือหุ้นสามารถถือหุ้นเกิน 10% ได้

อย่างไรก็ดี ในช่วงแรก ๆ ของทีวีเสรีแห่งนี้ มีการลงทุนใหญ่ ๆ ทั้งการจ้างบริษัทกราฟิกระดับฮอลลีวูด ออกแบบโลโก้ และอัตลักษณ์บนหน้าจอใหม่หมดจด และติดตั้งสถานีส่งสัญญาณออกอากศที่อาคารใบหยก 2

ถึงเวลา “เปลี่ยนมือ” ผู้ถือหุ้น

แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดสัมปทานต่าง ๆ เพื่อเอื้อต่อการแก้ปัญหาการขาดทุนแล้ว แต่ปัญหาการขาดทุนก็ไม่ได้เบาลงแต่อย่างใด

ช่วงปี 2544 ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของไอทีวี ณ เวลานั้น ตัดสินใจขายหุ้นที่ถือในไอทีวีทั้งหมด กว่า 106 ล้านหุ้น ให้แก่ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น (บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ ในปัจจุบัน) และมอบสิทธิ์การบริหารสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ด้วย

ขณะเดียวกัน กลุ่มชินคอร์ป เสนอซื้อหุ้นสามัญจากผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ อีกด้วย ทำให้ในภายหลัง กลุ่มชินคอร์ป เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของไอทีวี

การเข้ามาถือหุ้นใหญ่ของกลุ่มชินคอร์ป เป็นช่วงเวลาใกล้กันกับการก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ของนายทักษิณ ชินวัตร ทำให้มีพนักงานฝ่ายข่าวบางส่วน ต่อต้านการแทรกแซงการบริหารของไอทีวี ซึ่งต่อมา พวกเขาเหล่านี้ถูกปลดออก และถูกแปะป้ายว่าพวกเขาคือ “กบฏไอทีวี” และตามมาด้วยการฟ้องร้องกันเรื่องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ก่อนจะจบลงว่า อดีตพนักงาน เป็นฝ่ายชนะในคดีนี้

“ไอทีวี” ในมือ “ชินคอร์ป”

การเปลี่ยนแปลงในไอทีวียังดำเนินต่อไป ตั้งแต่การเริ่มเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ การปรับโฉมหน้าตา อัตลักษณ์ต่าง ๆ สู่ “สีแดง” และ “เส้นวิ่ง”

หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่เกิดขึ้น คือ การที่กลุ่มชินคอร์ปยื่นเรื่องขอแก้ไขสัญญาสัมปทานไอทีวี

โดยอ้างเหตุผลว่า ค่าสัมปทานที่จ่ายให้รัฐสูงกว่าเอกชนรายอื่น ๆ ที่ได้รับสัมปทานจากรัฐเหมือนกัน รวมถึงการที่รัฐทำผิดสัญญาเสียเอง โดยให้ช่องของรัฐมีโฆษณาได้

ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการ มีคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2547 ให้แก้ไขสัญญาสัมปทาน ดังนี้

  1. ปรับลดค่าสัมปทานรายปี เดิมจ่ายปีละ 1,000 ล้านบาท (ตามสัญญาสัมปทานที่กำหนดให้ต้องจ่ายให้รัฐปีละ 1,000 ล้านบาท ในปีที่ 8-30 ของสัมปทาน) เหลือปีละ 230 ล้านบาท
  2. ปรับสัดส่วนผังจากเดิน 70 ต่อ 30 ให้เป็น 50 ต่อ 50 และตัดเรื่องการบังคับให้ช่วงไพรมไทม์ ต้องมีเฉพาะข่าว-สาระอย่างเดียวออกไป

จุดนี้เอง ทำให้ภาพความเป็นสถานีข่าวค่อย ๆ เบาลง แต่ในทางกลับกัน ทำให้ไอทีวี มีศักยภาพสู้คู่แข่งได้ และทะยานมาเป็นเบอร์ 3 ของโทรทัศน์เมืองไทย ทั้งในแง่เรตติ้งสถานีโทรทัศน์ และเม็ดเงินโฆษณา

จุดเริ่มต้น อวสาน “ไอทีวี”

คำชี้ขาดการแก้ไขสัญญาของไอทีวีในตอนนั้น เหมือนเป็นฝันที่ทำให้สถานีแห่งนี้ดีขึ้นและสามารถต่อสู้ช่องคู่แข่งที่เน้นความบันเทิงได้ แต่ฝันนั้นก็ไม่ได้อยู่ไปตลอด เพราะ สปน. ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เนื่องจากไม่เห็นด้วยในคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ

กระทั่งธันวาคม 2549 ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาให้ สปน. ชนะคดี และเพิกถอนคำชี้ขาดของ อนุญาโตตุลาการ โดยระบุว่า เป็นการแก้ไขที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ไอทีวีต้องกลับไปจ่ายค่าสัมปทานที่ 1,000 ล้านบาทต่อปีตามเดิม และปรับผังกลับไปที่สัดส่วนเดิม

ขณะเดียวกัน สปน. สั่งให้ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ต้องจ่ายค่าปรับการทำผิดสัมปทาน และค่าสัมปทานค้างจ่าย โดยมีรายละเอียดดังนี้

ค่าปรับกรณีการปรับผังรายการ ไม่เป็นไปตามข้อสัญญาฯ คิดค่าปรับในอัตราร้อยละ 10 ของผลตอบแทนที่รัฐจะได้รับ โดยคิดเป็นรายวัน วันละ 100 ล้านบาท และเริ่มคำนวณตั้งแต่วันที่ปรับผังรายการไม่เป็นไปตามที่กำหนดในสัญญาสัมปทาน

ข้อมูลพบว่า ไอทีวี มีการปรับผังรายการตั้งแต่ 1 เมษายน 2547 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากคณะอนุญาโตตุลาการ มีคำชี้ขาดเรื่องการแก้ไขสัญญาสัมปทาน

เมื่อนับย้อนไปตั้งแต่วันเริ่มปรับผังจนถึงวันมีคำตัดสินให้เพิกถอนคำชี้ขาดของศาลปกครองสูงสุด เท่ากับต้องจ่ายอย่างน้อยกว่า 9 หมื่นล้านบาท

บวกกับค่าสัมปทานที่ค้างจ่าย จำนวน 3 ก้อน คือ

  • ปีที่ 9 จํานวน 670 ล้านบาท
  • ปีที่ 10 และ 11 ปีละ 770 ล้านบาท
  • รวม 2,210 ล้านบาท

และบวกดอกเบี้ยในอัตรา 15% ต่อปี นับจากวันที่ชำระค่าสัมปทานล่าช่า เท่ากับว่า ไอทีวี ถูก สปน. เรียกค่าปรับรวมกว่า 1 แสนล้านบาท โดย สปน. ขีดเส้นตาย ให้จ่ายค่าสัมปทานภายใน 6 มีนาคม 2550

ถ้าย้อนกลับไปดูรายได้ของไอทีวี ช่วงก่อนถูกบอกเลิกสัญญา จะเห็นได้เลยว่า แต่ละปีมีรายได้รวมกันเพียงหลักพันล้านบาทเท่านั้น ย่อมไม่มีทางที่จะจ่ายค่าปรับระดับแสนล้านบาทได้ทัน

และในที่สุดตอนอวสานของไอทีวีก็เกิดขึ้น เมื่อคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2550 ให้ สปน. ยกเลิกสัญญากับ บมจ.ไอทีวี และยึดคลื่นและทรัพย์สินต่าง ๆ กลับมาอยู่ในการดูแลของรัฐ หลังวันที่ 7 มีนาคม 2550

พร้อมทั้งเปลี่ยนผ่านสู่ทีไอทีวี โดยให้กรมประชาสัมพันธ์เข้ามากำกับดูแล ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2550 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งศาลปกครอง ที่ให้สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ดำเนินการออกอากาศต่อเนื่องโดยไม่มีการจอดำเกิดขึ้น

กระทั่งตุลาคม 2550 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติให้ทีไอทีวี (TITV) แปรสภาพเป็นโทรทัศน์สาธารณะ ตาม พ.ร.บ.ทีวีสาธารณะ ที่ร่างขึ้นมา

และ “ทีวีเสรี” ถึงเวลาที่ต้องปิดตำนาน เมื่อค่ำวันที่ 14 มกราคม 2551 กรมประชาสัมพันธ์ มีคำสั่งให้ทีไอทีวี ยุติการออกอากาศตั้งแต่เที่ยงคืนของวันดังกล่าว และโอนถ่ายคลื่นไปสู่ทีวีสาธารณะ นับเป็นการปิดตำนานโทรทัศน์เสรีของประเทศไทยโดยปริยาย

และแม้ไอทีวี ทีไอทีวี และคำว่า “ทีวีเสรี” จะเหลือเพียงแค่ชื่อแล้ว แต่สิ่งสำคัญที่ได้ฝากไว้ให้กับสังคมไทย คือ คนข่าวที่มีคุณภาพ และยังคงได้รับการยอมรับมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ชมรายการ Prachachat BITE SIZE EP.9 ได้ที่ https://youtu.be/70srwlGznF4