กรมอุตุฯเตือน 12-14 ส.ค. มรสุมมีกำลังแรงขึ้น ระวังฝนตกหนักอีกรอบ

กรมอุตุฯเตือนภาคเหนือ อีสาน ตะวันออก และภาคใต้ จะมีฝนตกหนักช่วง 12-14 ส.ค. เหตุมรสุมมีกำลังแรงขึ้น กับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน เผยภาพถ่ายดาวเทียมชี้ให้เห็นกลุ่มเมฆปกคลุมชัดเจน โดยเฉพาะภาคเหนือ อีสาน ตะวันออก และภาคใต้ ยังต้องเฝ้าระวังฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย ขณะที่มีพายุดีเปรสชั่นอีกลูกในมหาสมุทรแปซิฟิก

วันที่ 8 สิงหาคม 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา เผยภาพถ่ายดาวเทียมและเรดาร์ แบบเคลื่อนไหว ช่วงสายวันนี้ (8/8/66) ชี้ให้เห็นกลุ่มเมฆฝนยังปกคลุมบริเวณภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน และด้านตะวันตกของภาคกลาง

ขณะที่การพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุก ๆ 24 ชม. : (นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 07.00 น.วันรุ่งขึ้น) 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 8-17 ส.ค. 2566 อัพเดตจากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) ระบุว่า

ในช่วง 8-11 ส.ค. 2566 มรสุมมีกำลังอ่อนลงเล็กน้อย ประกอบกับกระแสลมในระดับบน (700, 500hPa) เป็นลมตะวันตก ตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุม ทำให้ทั่วไทยยังมีเมฆมาก ฝนบางแห่ง เว้นแต่บริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคอีสานตอนบน ยังมีฝนตกต่อเนื่องและตกหนักบางแห่ง ได้อีก 1 วัน เนื่องจากอยู่ใกล้หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุม สปป.ลาว และเวียดนามตอนบน

กลุ่มเมฆฝนปกคลุมเหนือ อีสาน ด้านตะวันตกของภาคกลาง
กลุ่มเมฆฝนยังปกคลุมบริเวณภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน และด้านตะวันตกของภาคกลาง

ส่วนภาคกลางด้านตะวันตก ภาคตะวันออก (จันทบุรี ตราด) และภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ระนอง พังงา) ด้านรับมรสุมยังมีฝนเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง ช่วงบ่าย-ค่ำ เนื่องจากอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุม ยังต้องเฝ้าระวังฝนตกหนักและฝนตกสะสมบริเวณภาคเหนือตอนบนและด้านตะวันตก ภาคอีสานตอนบน ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้

Advertisment

ขณะที่คลื่นลมในทะเลทั้ง 2 ฝั่ง มีกำลังปานกลาง ชาวเรือ ชาวประมงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือในระยะนี้

และในช่วงวันที่ 12-17 ส.ค. 66 มรสุมเริ่มแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น ช่วง 12-14 ส.ค. 66 ประกอบกับความกดอากาศสูง (มวลอากาศเย็น) จากซีกโลกใต้แผ่ลิ่มขึ้นมาปกคลุมภาคใต้ตอนล่าง ทำให้บริเวณภาคใต้ ภาคตะวันออก ด้านรับมรสุม มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ต้องติดตามและเฝ้าระวัง

ปริมาณฝนรายวัน

สำหรับ พายุโซนร้อน “ขนุน (KHANUN)” มีศูนย์กลางบริเวณมหาสมุทรตะวันตก กำลังเคลื่อนตัวทางทิศเหนือ มีโอกาสเคลื่อนตัวเข้าสู่ทางตอนใต้ประเทศญี่ปุ่นและคาบสมุทรเกาหลี ในช่วง 8-10 ส.ค. 66 ไม่มีผลกระทบกับสภาพอากาศบ้านเรา แต่ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น และประเทศเกาหลีใต้ ตรวจสอบสภาพอากาศก่อนเดินทางในระยะนี้ (ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่ ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ)

Advertisment

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดกรมอุตุนิยมวิทยา เผยภาพถ่ายดาวเทียม นอกจากพายุขนุนแล้ว ยังมีพายุดีเปรสชั่นอีกลูกหนึ่งในมหาสมุทรแปซิฟิกด้วย (ภาพด้านล่าง-มุมขวา)

พายุขนุน

พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 8-11 ส.ค. 66 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและประเทศจีนตอนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ทั้งนี้ในช่วงวันที่ 12-14 ส.ค. 66 ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะเริ่มมีกำลังแรงขึ้น

ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่าง ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง

พยากรณ์ฝน 7 วันข้างหน้า 7-13 สิงหาคม 2566