มหาดไทย แจงวิธีจ่ายเงิน “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” รอกำหนดหลักเกณฑ์

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา (แฟ้มภาพ)

พลเอกอนุพงษ์ รมว.มหาดไทย แจมปมการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามระเบียบใหม่ 2566 ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติกำหนดหลักเกณฑ์ออกมาอีกที ในส่วนของ เป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ

วันที่ 14 สิงหาคม 2566 พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงกรณีมีการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับการแก้ไขหลักเกณฑ์จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในลักษณะที่ทำให้อาจเชื่อได้ว่า ทำให้กระทบกับสิทธิของประชาชน “ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด”

“ขอทำความเข้าใจพี่น้องประชาชนผ่านไปยังสื่อมวลชน เพื่อช่วยกันสร้างการรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องกับพี่น้องประชาชนว่า ซึ่งการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ให้กับผู้สูงอายุตามที่ระเบียบกำหนดว่า ‘ต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ’ นั้น”

พลเอกอนุพงษ์กล่าวต่อว่าตามระเบียบฯ กำหนดว่า ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งมีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นฝ่ายเลขานุการ เป็นผู้กำหนด กระทรวงมหาดไทย ต้องออกระเบียบเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจ่ายเงินให้กับผู้สูงอายุตามหลักเกณฑ์ระเบียบได้ แต่จะจ่ายได้ ต้องเป็นไปตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเป็นคนกำหนด

เมื่อกำหนดแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจ่ายได้ กระทรวงมหาดไทยต้องไปออกระเบียบให้ตรง ให้สอดคล้องกับที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติกำหนด ในขณะนี้ต้องออกระเบียบให้จ่ายได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องมีหลักเกณฑ์ต่าง ๆ จากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติกำหนด

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มว่า กรณีที่เป็นปัญหา สำหรับ ระเบียบการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับใหม่ พ.ศ. 2566 ที่กระทรวงมหาดไทยเพิ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา คือประเด็นคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในข้อ (4) ที่ระบุว่า “จะต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ” ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด และอาจทำให้เกิดปัญหาการตีความคุณสมบัติผู้ที่จะได้รับเบี้ยยังชีพที่จะตามมา “การมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ” จะกำหนดอย่างไร