ประชาธิปัตย์จี้ทบทวน เกณฑ์เบี้ยผู้สูงอายุฉบับลักหลับ เปิดช่องเลือกปฏิบัติ

ประชาธิปัตย์จี้ทบทวนเกณฑ์เบี้ยผู้สูงอายุ
ราเมศ รัตนะเชวง

“ราเมศ-ชัยชนะ” พรรคประชาธิปัตย์ ประสานเสียง จี้มหาดไทยทบทวนหลักเกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ 2566 ฉบับใหม่ ซัดลักหลับ หวั่นเลือกปฏิบัติ สร้างความสับสนให้กับประชาชน

วันที่ 14 สิงหาคม 2566 นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงกรณีที่ กระทรวงมหาดไทย ออกระเบียบ หลักเกณฑ์วิธีการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงไปจากฉบับเดิมว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ต้องทบทวนระเบียบดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

เนื่องจากการกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีการเพิ่มคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจะมีผลกระทบต่อประชาชนที่กำลังจะเข้าสู่การรับสิทธิเบี้ยยังชีพ ความหมายคือ ด้วยเงื่อนไขที่ได้กำหนดขึ้นใหม่ กำหนดว่า “เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด”

ต่อจากนี้จะต้องมีการพิสูจน์ว่าเป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอหรือไม่ ซึ่งประชาชนจะไม่ได้รับสวัสดิการนี้ถ้วนหน้าเช่นเดิม สังคมกำลังรอคำอธิบายจากกระทรวงมหาดไทย และจำต้องพิจารณาอย่างเร่งด่วน เพื่อปรับปรุงแก้ไขไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติและให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

นายราเมศกล่าวว่า แม้เงื่อนไขนี้จะไม่กระทบกับประชาชนที่เคยได้อยู่แล้ว เพราะมีบทเฉพาะกาลรองรับอยู่ที่เขียนไว้ว่า “ผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียนและได้รับเงินเบี้ยผู้สูงอายุอยู่ก่อนระเบียบนี้ก็ให้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไปได้” แต่ในเรื่องการกำหนดคุณสมบัติใหม่นั้นต้องทบทวน

นายราเมศกล่าวว่า เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุริเริ่มในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ซึ่งขณะนั้นพรรคการเมืองอื่น ๆ ไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องนี้ แต่พรรคประชาธิปัตย์เล็งเห็นถึงความสำคัญที่ประชาชนผู้สูงอายุจำต้องได้รับการดูแล ได้รับสิทธิสวัสดิการจากรัฐ

จนต่อมาในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้กำหนดให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แบบเบี้ยยังชีพถ้วนหน้า ยกเว้นผู้ที่ได้รับบำเหน็จบำนาญ จึงเป็นนโยบายที่พรรคให้ความสำคัญมาโดยตลอด และเป็นนโยบายที่พี่น้องประชาชนที่ได้เสียภาษีให้รัฐมาตลอดชีวิตได้ประโยชน์ อย่างน้อยมีเงินจากรัฐที่ได้จัดสรรให้มาใช้จ่ายในวิถีชีวิตบางส่วน

“เราจะเห็นว่าในการเลือกตั้งรอบที่ผ่านมา ก็จะมีพรรคการเมืองหลายพรรคมีการเสนอให้ในจำนวนเงินที่แข่งขันกัน ว่าพรรคตนให้มากกว่า แต่ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์นั้นเล็งเห็นและให้ความสำคัญต่อผู้สูงอายุมาก่อนพรรคการเมืองอื่น จนเป็นรากฐานที่สำคัญมั่นคงมาถึงปัจจุบัน สำหรับเรื่องนี้พรรคก็จะได้ติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป” นายราเมศกล่าว

ด้านนายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนเกณฑ์ดังกล่าว ถือเป็นการสร้างความสับสนให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะที่ผ่านมาเกณฑ์ที่ตั้งไว้แต่เดิมก็เป็นที่เข้าใจของประชาชนอยู่แล้ว แต่เมื่อมีการประกาศเกณฑ์ใหม่ กำหนดให้ กผส.เป็นผู้กำหนดนั้น ตนมองว่าอาจจะเป็นการตีเช็คเปล่าให้ กผส.กำหนดเกณฑ์ได้ตามใจชอบ โดยไม่ได้อ้างอิงกับความเป็นจริงของปัญหาในผู้สูงอายุแต่ละพื้นที่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ รวมทั้งการออกระเบียบดังกล่าวเป็นการออกประกาศแบบที่ประชาชนไม่รู้เนื้อรู้ตัวมาก่อน เปรียบเสมือนเป็นการลักหลับ

ชัยชนะ เดชเดโช
ชัยชนะ เดชเดโช

“ขอเรียกร้องให้ทางกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการปรับเปลี่ยนระเบียบ โดยกลับไปใช้เกณฑ์เดิมที่ประชาชนคุ้นเคยกันดี เกี่ยวกับการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และการออกระเบียบใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนั้น ผู้เกี่ยวข้องจะต้องชี้แจงให้ประชาชนทราบเป็นระยะ ๆ ไม่ใช่มาออกระเบียบแบบที่ไม่ให้ใครตั้งตัว จนเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ในขณะนี้” นายชัยชนะกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีที่เป็นปัญหาสำหรับ ระเบียบการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับใหม่ พ.ศ. 2566 ที่กระทรวงมหาดไทยเพิ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา นั่นคือคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในข้อ (4) ที่ระบุว่า จะต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด และอาจทำให้เกิดปัญหาการตีความคุณสมบัติผู้ที่จะได้รับเบี้ยยังชีพที่จะตามมา “การมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ” จะกำหนดอย่างไร

ดูประกาศฉบับเต็ม