กรมอุตุฯเตือน พายุโซนร้อน “โคอินุ” ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่นแล้ว

กรมอุตุฯเผยพายุโซนร้อน “โคอินุ (KOINU)” ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่นแล้ว คาดเคลื่อนตัวไปทางเกาะไต้หวัน คาดไม่มีผลกระทบต่อไทย ระบุฝนที่เกิดขึ้นในไทยช่วง 2-5 ต.ค.นี้ มาจากร่องมรสุมและหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้  ภาคตะวันออกและ กทม. ยังมีฝนตก 70% ของพื้นที่

วันที่ 2 ตุลาคม 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุก ๆ 24 ชม.(นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 07.00 น.วันรุ่งขึ้น) 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 2-11 ต.ค. 66 อัพเดต 2023100112 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) ว่า

ในช่วงช่วง 2-5 ต.ค. 66 ร่องมรสุมได้เลื่อนลงมาพาดผ่านภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณจีนใต้ (ใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนาม) ฝนยังเกิดขึ้นได้ตามแนวร่องมรสุม

ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมมีกำลังปานกลาง ฝนที่เกิดขึ้นเป็นฝนเล็กน้อยถึงปานกลางและมีตกหนักบางแห่ง ใกล้แนวร่องมรสุม และใกล้หย่อมความกดอากาศต่ำ ยังต้องระวังฝนตกสะสม โดยเฉพาะ กทม.และปริมณฑล พื้นที่เปราะบาง อาจเจอฝนตกหนักได้ในช่วง 1-3 วันนี้ คลื่นลมมีกำลังอ่อนถึงปานกลางโดยเฉพาะทะเลอันดามัน คลื่นสูง 1-2 ม.

ส่วนในช่วงวันที่ 6-11 ต.ค. 66 ร่องมรสุมจะสวิงขึ้นมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลางตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นบ้าง ระยะนี้เป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายฤดูกาล อากาศมีความแปรปรวนสูง ภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบนเริ่มมีมวลอากาศเย็นแผ่ซึมลงมาปกคลุม

แนวเส้นทาง พายุไต้ฝุ่น โคอินุ 2 ก.ย. 66
แนวเส้นทาง พายุไต้ฝุ่น โคอินุ 2 ก.ย. 66

สำหรับสถานการณ์พายุหมุนเขตร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิก พายุโซนร้อน “โคอินุ (KOINU)” (ความหมาย “ลูกสุนัข” ตั้งชื่อโดยประเทศญี่ปุ่น) ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่นแล้ว (ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 118 กม./ชม.ขึ้นไป) มีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือค่อนไปทางเหนือไปทางเกาะไต้หวัน หลังจากนั้นเคลื่อนตัวตามแนวขอบชายฝั่งของประเทศจีนมาทางเกาะฮ่องกง คาดว่าจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ คาดว่าพายุนี้จะไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย แต่ฝนที่เกิดขึ้นมาจากร่องมรสุมและหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้

(ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่ ภายใต้เงื่อนไขของปีที่เกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งทำให้สภาวะฝนและพายุเปลี่ยนแปลงไป ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ)

แนวพายุไต้ฝุ่น โคอินุ (KOINU)

พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า

ลักษณะอากาศทั่วไป บริเวณความกดอากาศสูงปกคลุมประเทศจีนตอนใต้ และร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง

ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง มีฝนตกหนักมากบางแห่งบริเวณภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองและหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรงไว้ด้วย

อธิบายภาพ : ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้
อธิบายภาพ : ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ และพายุไต้ฝุ่น โคอินุ บริเวณมหาสุทรแปซิฟิก

สำหรับทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย 12.00 น. วันนี้ ถึง 12.00 น. วันพรุ่งนี้

ภาคเหนือ

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย และตาก
อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส
ลมแปรปรวน ความเร็ว 5-15 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง
บริเวณจังหวัดมุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์
ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส
ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-25 กม./ชม.

ภาคกลาง

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง
บริเวณจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา
นครปฐม สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร
อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคตะวันออก

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด
อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดกระบี่ ตรัง และสตูล
อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส
ตั้งแต่จังหวัดพังงาขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร

กรุงเทพฯและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 34-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
(ออกประกาศ 02 ตุลาคม 2566)

พยากรณ์อากาศ กทม.7 วัน 2-8 ตุลาคม 66
พยากรณ์อากาศ กทม.7 วัน 2-8 ตุลาคม 66