ห้ามพลาด เช็กจุดชมฝนดาวตกเจมินิดส์ ทั่วประเทศ คืนนี้

ฝนดาวตก
ภาพจาก : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ฝนดาวตก “เจมินิดส์” กลุ่มดาวคนคู่ปีนี้คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดในช่วงหลังเที่ยงคืนวันที่ 14 ถึงรุ่งเช้า 15 ธันวาคม 2566 เช็กอากาศ และสถานที่ดูดาวตกทั่วประเทศ ที่นี่

NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชวนดูดาวตก เจมินิดส์ ตั้งแต่ เวลา 20.00 น. ของวันที่ 14 ธันวาคม – รุ่งเช้าวันที่ 15 ธันวาคม 2566 และอัตราการตกเฉลี่ยสูงสุดช่วงหลังเที่ยงคืน ประมาณ 120-150 ดวงต่อชั่วโมง

ความพิเศษของปีนี้คือ เป็นปีนี้ไร้แสงจันทร์รบกวน จึงเหมาะแก่การสังเกตการณ์ ไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมสถานที่ดูฝนดาวตกทั่วประเทศ วิธีการดูฝนดาวตกอย่างไรให้เห็นได้ชัดเจน และการถ่ายภาพฝนดาวตกว่ามีวิธีอย่างไรบ้าง

ดาวตกเจมินิดส์ (Geminids)

ฝนดาวตกเจมินิดส์ หรือ ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ จะเกิดในช่วงระหว่างวันที่ 4-20 ธันวาคม ของทุกปี มีศูนย์กลางการกระจายบริเวณกลุ่มดาวคนคู่ ปีนี้คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดในช่วงหลังเที่ยงคืนวันที่ 14 ถึงรุ่งเช้า 15 ธันวาคม 2566

ฝนดาวตกเจมินิดส์ เกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่เข้าตัดกับสายธารของเศษหิน และเศษฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ที่ดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน (3200 Phaethon) ทิ้งไว้ในขณะเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว แรงดึงดูดของโลกจะดึงฝุ่นและหินเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลกเกิดเป็นลำแสงวาบ หรือในบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟขนาดใหญ่เรียกว่า (Fireball)

โดยฝนดาวตกเจมินิดส์ก็จะมีลักษณะการตกกระจายทั่วท้องฟ้าจากจุด ๆ หนึ่งที่เรียกว่า จุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) และเมื่อจุดศูนย์กลางการกระจายตรงหรือใกล้เคียงกับกลุ่มดาวอะไร ก็จะเรียกชื่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวนั้น ๆ เช่น ฝนดาวตกเจมินิดส์ ซึ่งมีจุดศูนย์กลางการกระจายใกล้กลุ่มดาวคนคู่ (เจมีไน)

ปักหมุดสถานที่ดูฝนดาวตกเจมินิดส์ ทั้ง 30 แห่ง

สถานที่ดูดาว ทั้ง 30 แห่ง ทั่วประเทศ ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย นับเป็นสถานที่ที่มีความเหมาะสมในการสังเกตการณ์ฝนดาวตก เนื่องจากมีความพร้อมในการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว เช่น มีพื้นที่โล่งที่ไม่มีต้นไม้หรือวัตถุบดบังบริเวณขอบฟ้า มีการบริหารจัดการแสงสว่างที่ดี และมีสิ่งอำนวยความสะดวกเหมาะกับการท่องเที่ยวทุกรูปแบบ

ภาคเหนือ

อุทยานท้องฟ้ามืด

  •  อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง จ.เชียงใหม่
  •  อุทยานแห่งชาติศรีน่าน จ.น่าน

ชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด

  • บ้านออนใต้ สันกำแพง จ.เชียงใหม่

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด ในพื้นที่ส่วนบุคคล

  • วิลลา เดอ วิว บูทีค รีสอร์ท จ.เชียงใหม่
  • พูโตะ จ.เชียงใหม่
  • บ้านสวนป่าโป่งดอย จ.เชียงใหม่
  • ต้นข้าวหอมบ้านอ้อมดอย จ.เชียงใหม่
  • เดอะ ทีก รีสอร์ท จ.เชียงใหม่
  • เชียงดาวฟาร์มสเตย์ จ.เชียงใหม่

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง

  • ซัมมิท กรีน วัลเล่ย์ เชียงใหม่ คันทรี คลับ จ.เชียงใหม่

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก

อุทยานท้องฟ้ามืด

  • อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา
  • วนอุทยานน้ำตกผาหลวง จ.อุบลราชธานี
  • อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ.อุบลราชธานี
  • อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม จ.ชัยภูมิ
  • เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ
  • อุทยานแห่งชาติภูแลนคา จ.ชัยภูมิ
  • อุทยานแห่งชาติตาพระยา จ.สระแก้ว

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล

  • ไร่เขาน้อยสุวณา จ.นครราชสีมา
  • ไร่องุ่นไวน์กราน – มอนเต้ จ.นครราชสีมา
  • โรงแรมเรนทรี เรซิเดนซ์ เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา
  • ไร่องุ่นไวน์ อัลซิดินี่ จ.นครราชสีมา
  • โรงแรม เดอะเปียโน รีสอร์ท เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา
  • ฟาร์มแสงสุข จ.ระยอง

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง

  • สวนสัตว์ขอนแก่น จ.ขอนแก่น

ภาคกลางและภาคตะวันตก

อุทยานท้องฟ้ามืด

  • อุทยานแห่งชาติแม่วงศ์ จ.กำแพงเพชร

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล

  • มีลา การ์เดน รีทรีท คอทเทจ จ.สระบุรี
  • บ้านไร่ยายชะพลู จ.สระบุรี
  • สนามมวกเหล็กเอทีวี จ.สระบุรี
  • คีรีมาลา อีโค่ แคมป์ จ.ราชบุรี

ภาคใต้

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล

  • จุดชมวิว อ่าวโต๊ะหลี จ.พังงา

สอบถามเพิ่มเติมหรือค้นหาจุดสังเกตการณ์ชมฝนดาวตกเจมินิดส์ทั้ง 30 แห่ง ได้ที่ : www.darksky.narit.or.th, โทร 053-121-268 ต่อ 306 หรือการอัพเดตทุกกิจกรรมดูดาวจากพื้นที่ Dark Sky ทั่วประเทศไทย ได้ที่ Facebook Group : Amazing Dark Sky in Thailand

4 เทคนิคการดูฝนดาวตก

1. ดูในที่มืด เลือกสถานที่โล่ง มีแสงไฟรบกวนน้อย ห่างไกลจากแสงเมืองหรือแสงไฟตามถนน

2. ดูด้วยตาเปล่า ฝนดาวตกจะปรากฏกระจัดกระจายบนท้องฟ้า การมองดูด้วยตาเปล่าจะช่วยให้เห็นฟ้าในมุมกว้าง และเห็นฝนดาวตกได้เยอะที่สุด

3. รู้จักกลุ่มดาว ฝนดาวตกจะมีศูนย์กลางการกระจายเสมอ หากรู้ตำแหน่งกลุ่มดาว ที่เป็นศูนย์กลางการกระจาย ก็จะติดตามดูได้ตลอดทั้งคืน เช่น ฝนดาวตกเจมินิดส์ ศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ (Gemini)

4.การเตรียมตัวให้พร้อมด้วยอุปกรณ์เหล่านี้ 1) เก้าอี้สำหรับเอนนอนดูดาว 2) เสื่อสำหรับนอนหรือนั่งดูดาว 3) ผ้าห่มหรืออุปกรณ์สร้างความอบอุ่น

ช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับดูฝนดาวตก

ในการดูฝนดาวตกนั้นช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป เพราะเป็นช่วงที่ชีกโลกที่เราอยู่จะรับดาวตกที่พุ่งเข้ามาแบบตรง ๆ และนอกจากนั้นในช่วงหลังเที่ยงคืนไปจนถึงรุ่งเช้า ดาวตกจะวิ่งตามทิศทางการหมุนของโลก เราจึงเห็นดาวตกที่อยู่ในช่วงเวลาใกล้รุ่งนั้นวิ่งช้า ทำให้มีโอกาสได้เห็นดาวตกหางยาว ๆ หัวใหญ่ ๆ กันอีกด้วย

สำหรับฝนดาวตกเจมินิดส์ ช่วงประมาณเที่ยงคืนตำแหน่งกลุ่มดาวคนคู่จะอยู่กลางท้องฟ้าพอดีทำให้ถ่ายภาพดาวตกได้ง่าย จึงเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ที่อยากถ่ายภาพฝนดาวตก

อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการถ่ายภาพฝนดาวตก

1. กล้องดิจิทัล เลนส์มุมกว้าง และสายลั่นชัตเตอร์ : กล้องดิจิทัลที่สามารถใช้ความไวแสง (ISO) ได้สูง ๆ จะมีข้อได้เปรียบในการถ่ายภาพฝนดาวตก ซึ่งสามารถเก็บแสงฝนดาวตกได้ดี

2. เลนส์มุมกว้าง และไวแสง (F กว้าง) ได้เปรียบเก็บแสงได้ดีกว่า : ข้อได้เปรียบของเลนส์ไวแสงคือ ทำให้ถ่ายติดแสงวาบของฝนดาวตกได้ง่าย โดยไม่จำเป็นต้องดัน ISO สู งๆ และช่วงเลนส์มุมกว้างก็ยังทำให้เพิ่มโอกาสการได้ภาพฝนดาวตกที่ติดมาในภาพได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้เลนส์คิตธรรมดาก็ยังสามารถนำมาใช้ในการถ่ายภาพได้เช่นกัน

3. อุปกรณ์ตามดาวและขาตั้งกล้องที่มั่นคง : อุปกรณ์ตามดาวถือเป็นอุปกรณ์ที่นักดาราศาสตร์จำเป็นต้องมีไว้ เพื่อใช้ในการถ่ายภาพเพื่อติดตามวัตถุท้องฟ้า ซึ่งในการถ่ายภาพฝนดาวตกช่วยให้เราสามารถนำภาพฝนดาวตกที่มีศูนย์กลางการกระจายตัวเดียวกัน กลุ่มดาวเดียวกันมาใช้ในการ Stack ภาพในภายหลังได้นั่นเอง (ซึ่งหากเราไม่ถ่ายภาพแบบตามดาว ภาพฝนดาวที่ได้แต่ละภาพก็จะเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อย ๆ ตามการเคลื่อนที่ของทรงกลมท้องฟ้าทำให้ยากแก่การนำภาพมา Stack ในภายหลัง)

4. แถบความร้อนกันฝ้าหน้ากล้อง : เนื่องจากต้องถ่ายภาพตลอดทั้งคืน กล้องมีโอกาสสูงที่จะเกิดไอน้ำเกาะหน้าเลนส์ หรือกล้องขึ้นฝ้า ดังนั้น การติดแถบความร้อนไว้หน้าเลนส์จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายกับภาพฝนดาวตกที่ต้องถ่ายต่อเนื่องหลายชั่วโมง

5. ไฟฉายแสงสีแดง : ไฟฉายแบบคาดหัวสีแดง นอกจากจะสะดวกในการหยิบจับอุปกรณ์ต่างแล้ว แสงสีแดงยังเป็นแสงที่จะรบกวนสายตาเราน้อยที่สุด ทำให้เราสามารถปรับการมองเห็นได้เร็วกว่าเมื่อมองออกไปยังที่มืดบนท้องฟ้า สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านอุปกรณ์เดินป่า

เทคนิคการถ่ายฝนดาวตกฝนดาวตกเจมินิดส์

1. ใช้ค่าความไวแสง (ISO) ที่สูง ๆ เพื่อให้กล้องไวแสงมากที่สุดขณะเกิดดาวตก เช่น ISO 3200 หรือมากกว่าที่กล้องเราสามารถถ่ายภาพได้โดยที่ภาพยังคงมีคุณภาพที่ดี (ยิ่งกล้องมีความไวแสงมาก ก็จะมีโอกาสบันทึกภาพดาวตกได้ดี)

2. ถ่ายแบบต่อเนื่อง อย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง โดยตั้งโหมดการถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง (Continuous Mode) เพื่อให้กล้องถ่ายภาพต่อเนื่องตลอดช่วงการเกิดฝนดาวตก

3. เวลาเปิดหน้ากล้อง ควรใช้ค่าการเปิดหน้ากล้องประมาณ 30 วินาที ต่อ 1 ภาพ หรือใช้สูตร Rule of 400/600 ในการคำนวณเวลาการเปิดหน้ากล้อง

4. ใช้ค่ารูรับแสงกว้างๆ เช่น f/4 f/2.8 เพื่อให้กล้องมีความไวแสงในการเก็บแสงวาบหรือไฟล์บอลของฝนดาวตก

5. ปิดระบบ Long Exposure Noise Reduction เพื่อให้กล้องถ่ายภาพต่อเนื่องไม่เว้นช่วงในการถ่าย Dark Frame

6. ตั้งกล้องบนขาตามดาว และหันหน้ากล้องไปที่จุดศูนย์กลางการกระจายตัวของฝนดาวตก หรือจุดเรเดียน (Radiant) โดยให้จุดเรเดียนอยู่กลางภาพ

7. นำภาพฝนดาวตกมารวมกัน จากหลายร้อยภาพก็เลือกเฉพาะที่ติดดาวตกมารวมกันใน Photoshop หรือ Star Stack ก็จะทำให้เห็นการกระจายตัวของฝนดาวตกได้อย่างชัดเจน

พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย

พยากรณ์อากาศ วันที่ 14 ธันวาคม – 12:00 น.วันพรุ่งนี้ 15 ธันวาคม 2566

ภาคเหนือ                                                                                                                                  อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า
อุณหภูมิต่ำสุด 19-21 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 5-15 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า
อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออก ความเร็ว 10-25 กม./ชม.

ภาคกลาง
มีหมอกในตอนเช้า
อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออก ความเร็ว 10-15 กม./ชม.

ภาคตะวันออก
มีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง
บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-34 องศาเซลเซียส
ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชขึ้นมา ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม.

ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก)
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณจังหวัดภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.