ททท. จับมือ สดร. ชวนเที่ยวดูดาว เปิดตัวเขตอนุรักษ์ฟ้ามืดอีก 18 แห่งทั่วไทย

ทางช้างเผือกปรากฏบนท้องฟ้ายามค่ำคืน
ชุมชนออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ที่มา : ททท.

อีกไม่กี่เดือนก็หน้าหนาวแล้ว ททท.ชวนเที่ยวชมดาว เปิดตัวเขตอนุรักษ์ฟ้ามืดเพิ่มเติมอีก 18 แห่ง กระตุ้นเดินทาง พร้อมได้ความรู้ดาราศาสตร์

วันที่ 21 กรกฎาคม 2566 นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า โครงการ “AMAZING DARK SKY IN THAILAND #Season 2” เป็นโครงการส่งเสริมการตลาดต่อเนื่อง ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ททท. และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร.

ภายใต้โครงการนี้ ททท.จะชวนนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีความสนใจพิเศษ ผู้ที่สนใจดาราศาสตร์ ชื่นชอบการดูดาว และนักท่องเที่ยวทั่วไปเดินทางออกไปสัมผัสความสวยงามของท้องฟ้าประเทศไทย เรียนรู้ระบบสุริยจักรวาล ชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ครั้งสำคัญ เช่น สุริยุปราคา จันทรุปราคา ฝนดาวตก หรือชมความสวยงามของกลุ่มดาวจักรราศีและดวงดาวต่าง ๆ ที่ปรากฏในท้องฟ้าแต่ละเดือน

นักท่องเที่ยวตั้งกล้องถ่ายภาพท้องฟ้ากลางคืน ปรากฏหมู่ดาว พร้อมกับทางช้างเผือก
อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง ที่มาภาพ : ททท.

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า สดร. ร่วมกับ ททท. ดำเนินโครงการ Dark Sky in Thailand หรือเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2563 จนกระทั่งในปี 2565 ที่ผ่านมา ได้จัดพิธีมอบโล่และขึ้นทะเบียนเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยขึ้นเป็นปีแรก ภายใต้แคมเปญ “Amazing Dark Sky in Thailand”

โดยมีสถานที่ผ่านการรับรองและขึ้นทะเบียนจำนวน 12 แห่ง ระยะเวลาการขึ้นทะเบียนรวม 3 ปี ถือเป็นพื้นที่นำร่องที่ปลุกกระแสการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ ใช้เป็นจุดขายการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ และเป็นสถานที่ถ่ายภาพสำหรับกลุ่มนักดาราศาสตร์สมัครเล่นได้เป็นอย่างดี

Advertisment

ดร.ศรัณย์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้มีสถานที่จากทั่วประเทศสมัครขอรับการขึ้นทะเบียนเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ประจำปี 2566 จำนวน 26 แห่ง ผ่านการพิจารณาจำนวนทั้งสิ้น 18 แห่ง จึงขอแสดงความยินดีกับทุกแห่งที่ผ่านการคัดเลือก และได้รับการขึ้นทะเบียนในปีนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการนี้จะช่วยกระตุ้นให้พื้นที่ และชุมชนใกล้เคียง รวมถึงในอีกหลายแห่งทั่วประเทศไทยเกิดความตระหนักรู้ในการอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด และร่วมกันสงวนรักษาความมืดของท้องฟ้าเวลายามค่ำคืนให้เหมาะกับการเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์ และเชิงดาราศาสตร์

ทั้งนี้ สถานที่ที่ขึ้นทะเบียนแต่ละประเภทจะต้องมีความมืดของท้องฟ้าที่เหมาะสม มีการบริหารจัดการแสงสว่างอย่างมีประสิทธิภาพ ปราศจากแสงรบกวน มีพื้นที่เปิดโล่งสังเกตท้องฟ้าได้โดยรอบ มองเห็นดาวเหนือ และวัตถุท้องฟ้าเด่น ๆ ได้ด้วยตาเปล่า มีบุคลากรในพื้นที่ที่สามารถให้ความรู้ทางดาราศาสตร์เบื้องต้นแก่นักท่องเที่ยวได้ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ แก่ผู้มาใช้บริการ เช่น เส้นทางคมนาคม ห้องน้ำ ที่พัก ร้านอาหาร เป็นต้น

สำหรับเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ อุทยานท้องฟ้ามืด ชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล และเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง โดยผลการขึ้นทะเบียนเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ปี 2566 ภายใต้โครงการ AMAZING DARK SKY IN THAILAND #Season 2 มีจำนวนทั้งสิ้น 18 แห่ง ประกอบด้วย

อุทยานท้องฟ้ามืด (Dark Sky Park) จำนวน 5 แห่ง

Advertisment

ได้แก่ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ (ลานชมดาว) จ.กำแพงเพชร, อุทยานแห่งชาติตาพระยา (ลานกลางเต็นท์กลางดง) จ.สระแก้ว, อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา, อุทยานแห่งชาติศรีน่าน (ดอยเสมอดาว) จ.น่าน และวนอุทยานน้ำตกผาหลวง จ.อุบลราชธานี

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล (Dark Sky Properties) จำนวน 11 แห่ง

ได้แก่ มีลา การ์เดน รีทรีท คอทเทจรีสอร์ท จ.สระบุรี, คีรีมาลา อีโค่ แคมป์ จ.ราชบุรี, ฟาร์มแสงสุข จ.ระยอง, ไร่เขาน้อยสุวณา จ.นครราชสีมา, ต้นข้าวหอมบ้านอ้อมดอย จ.เชียงใหม่, วิลลา เดอ วิว บูทีค รีสอร์ท เชียงดาว จ.เชียงใหม่, เชียงดาวฟาร์มสเตย์ จ.เชียงใหม่, บ้านสวน ป่าโป่งดอย จ.เชียงใหม่, เดอะ ทีค รีสอร์ท จ.เชียงใหม่, พูโตะ จ.เชียงใหม่ และอ่าวโต๊ะหลี จ.พังงา

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง (Dark Sky Suburbs) จำนวน 2 แห่ง

ได้แก่ สวนสัตว์ขอนแก่น จ.ขอนแก่น และซัมมิท กรีนวัลเล่ย์ เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่

ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวที่สนใจ สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติม และสมัครเพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยได้ที่ https://darksky.narit.or.th/ หรือดาวน์โหลดหนังสือคู่มือการท่องเที่ยวดูดาว “ชวนเธอ ไปชมดาว” ในรูปแบบ e-book ได้ที่ https://citly.me/81xbd

นักท่องเที่ยวกำลังชมทองฟ้าที่มีทางช้างเผือกปรากฏในยามค่ำคืน
ผาชะนะได อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี ที่มาภาพ : ททท.