นักท่องเที่ยวต่ำเป้า-ททท.บูสต์ “ไทยเที่ยวไทย” ปั๊มรายได้ 3 ล้านล้าน

ท่องเที่ยว

ททท.เผยปี’67 สุดท้าทาย ปัจจัยลบยังเพียบ เดินหน้ากระตุ้นการท่องเที่ยวทุกมิติ ปั๊มเครื่องยนต์เศรษฐกิจ คาดนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมายังไม่ถึง 40 ล้านคน รายได้พลิกฟื้น 94% เร่งบูสต์ตลาด “ไทยเที่ยวไทย” ดันรายได้รวมแตะ 3 ล้านล้านบาทเท่าปี’62 ก่อนโควิด โฟกัส 10 ตลาดศักยภาพสูงควบคู่กับหาตลาดใหม่เสริม ก้าวสู่ High Value & Sustainable Tourism

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ปี 2567 ยังคงเป็นปีที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจโลก ภาวะเงินเฟ้อ ความไม่แน่นอนทางการเมือง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงสภาพอากาศที่แปรปวน ซึ่งล้วนส่งผลต่อความเชื่อมั่นด้านการเดินทางท่องเที่ยว แต่ ททท.ยังคงตั้งเป้าหมายมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมที่ 3 ล้านล้านบาท เท่ากับปี 2562 ก่อนวิกฤตโควิด-19 (best case scenario)

โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย 35 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 87.5% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2562 และสร้างรายได้ 1.92 ล้านล้านบาท ฟื้นตัว 94% เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 และมีชาวไทยออกเดินทางในประเทศ (ไทยเที่ยวไทย) จำนวน 200 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 1.08 ล้านล้านบาท

ส่วนกรณีฐาน (base case scenario) ประเทศไทยมีรายได้จากภาคการท่องเที่ยว 2.74 ล้านล้านบาท โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย 32 ล้านคน สร้างรายได้ 1.73 ล้านล้านบาท ชาวไทยออกเดินทางในประเทศ 185 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 1 ล้านล้านบาท

และกรณีเลวร้ายที่สุด หรือ worst case scenario ประเทศไทยมีรายได้จากภาคการท่องเที่ยว 2.4 ล้านล้านบาท เท่ากับเป้าหมายในปี 2566 โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย 28 ล้านคน สร้างรายได้ 1.54 ล้านล้านบาท และชาวไทยออกเดินทางในประเทศ 158 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 0.86 ล้านล้านบาท

“ปัจจุบันแม้เที่ยวบินระหว่างจีนและไทยจะมีจำนวนมากขึ้น แต่ก็ต้องจับตาดูว่าปัญหาด้านเศรษฐกิจของจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวจะส่งผลต่อตลาดนักท่องเที่ยวดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตาม เราต้องวางเป้าหมายสูงไว้ก่อน และต้องบริหารความเสี่ยง ซึ่งมองว่าในกรณีที่แย่ที่สุดจำนวนรายได้จะเท่ากับในปี 2566” นายยุทธศักดิ์กล่าว

บูสต์ “ไทยเที่ยวไทย”

นายยุทธศักดิ์กล่าวด้วยว่า ด้วยสถานการณ์ตลาดต่างประเทศปัจจุบันที่ยังมีข้อจำกัดเรื่องจำนวนเที่ยวบิน โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ประเมินว่าจำนวนเที่ยวบินจะเริ่มฟื้นตัวเต็มที่ในไตรมาส 4/2567 และจำนวนเที่ยวบินรวมตลอดทั้งปีจะกลับมาเท่ากับก่อนการระบาดของโควิด-19 ได้ในปี 2568

ประกอบกับเที่ยวบินที่เริ่มกลับมาให้บริการบางส่วน ราคาบัตรโดยสารที่ยังมีราคาแพง อันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้แม้ในกรณีที่ดีที่สุด ททท.จะตั้งเป้าหมายมีรายได้เทียบเท่ากับปี 2562 แต่ในรายละเอียดพบว่ารายได้จากต่างประเทศยังมีสัดส่วนเพียง 94% ของปี 2562

ดังนั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายรายได้ 3 ล้านล้านบาท ททท.จึงต้องเสริมด้วยรายได้จากนักท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือไทยเที่ยวไทยที่ต้องมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ต้องขับเคลื่อนในเรื่องการใช้จ่ายต่อคนต่อทริปของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เพิ่มมากขึ้นด้วย

“กุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จของภาคการท่องเที่ยวไทยคือ การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว หากสามารถกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายได้มากขึ้น เพราะแนวทางในอนาคตเราไม่ได้ต้องการนักท่องเที่ยวจำนวนมากเหมือนในอดีต แต่เน้นที่เป้าหมายรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น” นายยุทธศักดิ์กล่าว

ผนึกพันธมิตร 360 องศา

ด้านนางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. ผู้ที่จะมารับตำแหน่งผู้ว่าการ ททท. ในวันที่ 1 กันยายน 2566 กล่าวเสริมว่าในปี 2567 ททท.จะต้องเป็นผู้นำด้านการตลาด สร้างประสบการณ์ทรงคุณค่า และส่งมอบให้กับกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีความต้องการแตกต่างกัน โดยทำการตลาดลงลึกในด้านวัฒนธรรม (subculture)

พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับพันธมิตรแบบ 360 องศา ทั้งที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและนอกอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อร่วมกันผลักดันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยสู่เป้าหมายรายได้ 3 ล้านล้านบาท และเติบโตอย่างยั่งยื่น หรือมุ่งสู่การท่องเที่ยวแบบ high value and sustainable tourism ที่เน้นคุณค่าและความยั่งยืน

โฟกัส 10 ตลาดหลัก-หาตลาดใหม่

นางสาวฐาปนีย์กล่าวด้วยว่า ในส่วนของตลาดต่างประเทศที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 35 ล้านคน และสร้างรายได้ 1.92 ล้านล้านบาทนั้น ททท.จะโฟกัส 10 ตลาดศักยภาพที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด ประกอบด้วย ตลาดระยะใกล้ 7 ประเทศ อาทิ จีน มาเลเซีย เกาหลี อินเดีย สิงคโปร์ เวียดนาม เป็นต้น และตลาดระยะไกล 3 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

โดยวางแผนกระตุ้นตลาดด้วยการเสริมภาพลักษณ์แบรนด์ท่องเที่ยวไทยด้านความยั่งยืน และใช้เป็นจุดขายใหม่ของประเทศไทย มีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และชุมชน (travel with care) กระจายรายได้อย่างทั่วถึง (fair income) และเสนออัตลักษณ์ท้องถิ่นเป็นจุดขาย (encourage identity & biodiversity) โดยมีแนวคิดดำเนินโครงการ Kinnaree Brand Refresh หรือรางวัลกินรี เพื่อเป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว

พร้อมทั้งรุกเปิดตลาดใหม่ เช่น ยุโรปตะวันออก และตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นผู้มีรายได้สูง แสวงหาคู่ค้ารายใหม่ และขยายความร่วมมือกับคู่ค้ารายใหญ่ในเวทีโลก เพื่อดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพกำลังซื้อสูงเข้ามาเที่ยวตลอดทั้งปี (all year around) ไม่มีโลว์ซีซั่น

บูม 365 วันเที่ยวได้ตลอดปี

นางสาวฐาปนีย์กล่าวด้วยว่า สำหรับตลาดในประเทศนั้น จะให้น้ำหนักไปที่การกระตุ้นให้เดินทางท่องเที่ยวทันที เพิ่มความถี่ และการกระจายตัวท่องเที่ยวหลากหลายพื้นที่มากขึ้น ภายใต้คอนเซ็ปต์ 365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทยเที่ยวได้ทุกวัน ตลอดทั้งปี เพื่อสร้างรายได้ให้ทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียม ควบคู่กับการนำเสนอจุดแข็งสู่จุดขายของ soft power (5F) และนำเสนอสินค้าเชิงประสบการณ์ผ่านอัตลักษณ์ของ 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ

อาทิ ภาคเหนือ ชวนสัมผัส “เสน่ห์วันวานเมืองเหนือ” ผสานความร่วมสมัย ผ่าน Northern Thailand Soft Power ที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์ กระตุ้นค่าใช้จ่ายด้วย art & craft ขยายฤดูกาลท่องเที่ยว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดประสบการณ์อาหารถิ่น และ Michelin Guide ชวนคนไทยเที่ยวอีสานในคอนเซ็ปต์ “อีสาน…ไปไสกะแซ่บ มากกว่าอาหาร คือประสบการณ์” ผ่าน 20 เมนูแซ่บ จาก 20 จังหวัดภาคอีสาน เป็นต้น

“จีน” ตัวแปรตลาดระยะใกล้

ด้านนายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ ททท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ความท้าทายของตลาดการท่องเที่ยวระยะใกล้ในปี 2566 คือ นักท่องเที่ยวจากประเทศจีนอาจเดินทางเข้าประเทศไทยประมาณ 4 ล้านคน ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ ททท.ตั้งไว้เดิมที่ 5 ล้านคน โดยเป็นผลจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจของจีน

เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นยังเดินทางเข้ามาประเทศไทยน้อยกว่าเป้าหมาย ทั้งนี้ คาดว่าในกรณีที่ดีที่สุดอาจเดินทางเข้าประเทศไทยเพียง 8 แสนคน จากในปี 2562 ชาวญี่ปุ่นเดินทางเข้าประเทศไทยสูงถึง 1.7 ล้านคน

สำหรับปี 2567 นั้น ททท.วางเป้าหมายให้นักท่องเที่ยวจากตลาดระยะใกล้ (short-haul) เดินทางเข้าประเทศไทยจำนวน 25.8 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 74% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด สร้างรายได้ 1.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 63% ของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศทั่วโลก

“ปี 2566 ปัจจัยด้านเศรษฐกิจจีนมีความท้าทายกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนปี 2567 คาดว่าจีนจะเดินทางเข้าไทย 7-8 ล้านคน ขณะที่ตลาดญี่ปุ่นคาดว่าจะเดินทางเข้าไทย 1 ล้านคน ประกอบกับตลาดเกาหลีใต้ มาเลเซีย และอินเดียที่ฟื้นตัวมากขึ้น”

“รัสเซีย” ดาวรุ่งตลาดระยะไกล

ขณะที่นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา ททท. กล่าวว่า ในปี 2566 ททท.ประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากตลาดระยะไกลจำนวน 8 ล้านคน สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่จำนวน 7 ล้านคน โดยตลาดการท่องเที่ยวที่โดดเด่นในปีนี้คือรัสเซีย

โดย 6 เดือนแรกที่ผ่านมาตลาดรัสเซียมีนักท่องเที่ยวจำนวน 7.89 แสนคน ปัจจัยหนึ่งเกิดจากจำนวนเที่ยวบินประจำเริ่มฟื้นตัวมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มเที่ยวบินเช่าเหมาลำระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่ง ททท.มีเป้าหมายขยายจำนวนนักท่องเที่ยวตลาดรัสเซียให้สูงถึง 2 ล้านคน

สำหรับปี 2567 ททท.วางเป้าหมายนักท่องเที่ยวจากตลาดระยะไกลเดินทางเข้าประเทศไทยจำนวน 9.2 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 24% ของเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด สร้างรายได้ 7.21 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 37% เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากตลาดระยะไกลมีอัตราการเข้าพักที่นานขึ้น